สถานีคิดเลขที่ 12 : จบแบบไหน โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

สถานีคิดเลขที่ 12 : จบแบบไหน โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

เรือแป๊ะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางมา 6 ปี เจอมรสุมมาเป็นระยะ

ห้วงเวลานี้ มรสุมยกระดับไปอีกขั้น อย่างที่เห็นกันคือ แฟลชม็อบโดยนักเรียน นักศึกษา

แฟลชม็อบที่เกิดขึ้น เรียกร้องความเปลี่ยนแปลง 3 ข้อใหญ่ คือ 1.ยุติการคุกคามประชาชน 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ 3.ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ด้วยกติกาที่เป็นธรรม

โจทย์ยากของนายกฯ และรัฐบาล ก็คือ แฟลชม็อบที่เรียกร้อง 3 ข้อ พร้อมกับขับไล่รัฐบาล ประกอบด้วยนักเรียน นักศึกษา เป็นกำลังหลัก

Advertisement

เอาเข้าจริงๆ ก็คือ ลูกหลานวัยเรียนของเราท่าน ประชาชนทั้งหลายนั่นเอง

เป็นกลุ่มที่ละเอียดอ่อน การจัดการ ถ้ามองจากมุมของรัฐบาลจึงยากเย็นมาก

จะไปสุ่มสี่สุ่มห้า กล่าวหาว่า ถูกจูงจมูก ล้างสมอง เด็กๆ เหล่านี้ไอคิว อีคิวไม่ธรรมดา ข้อกล่าวหาจะย้อนกลับไปที่คนกล่าวหาเอง

Advertisement

บางคนพูดจารู้เรื่อง ตอบโต้เป็น ฟังดูมีตรรกะเป็นวิทยาศาสตร์กว่าผู้ใหญ่อีกหลายคน

หรือจะใช้มุขคลาสสิกอมตะ บอกว่าทักษิณซื้อไปแล้ว ไปซื้อกันตอนไหน พ่อแม่ผู้ปกครอง คงไม่ยอมให้กล่าวหาอีกเหมือนกัน

จะยัดเยียดข้อหาแบบที่เคยทำๆ กันมา ปฏิกิริยาจากสังคมจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

กลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่ว่านี้ มีจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมตัวง่าย เพราะมีระบบของสถาบันการศึกษารองรับ การติดต่อสื่อสาร ใช้อินเตอร์เน็ต ใช้โซเชียลมีเดีย

ปัญหายิ่งลุกลาม เมื่อโรงเรียนใช้ท่าทีที่ผิดพลาด เข้าไปใช้อารมณ์ดุด่าบังคับ ซึ่งเหมือนเติมน้ำมันเข้ากองไฟ

แทนที่จะใช้เมตตาธรรม พูดจาสอบถาม ให้เด็กได้แสดงออก ใช้ท่าทีรับฟังแลกเปลี่ยนความเห็น

แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ง่าย เพราะเด็กรุ่นนี้ศึกษานอกตำราเยอะมาก ทั้งจากแหล่งออนไลน์ที่อุดมสมบูรณ์ อ่านหนังสือเล่ม ติดตามข่าวสาร

ระบบออนไลน์ ไม่ได้มีแต่เกม เรื่องบันเทิงเท่านั้น แต่มีข่าวสารมากมาย เขาปฏิวัติรัฐประหารกันยังไง เพราะอะไร ทักษิณคือใคร เรือดำน้ำโอเคไหม แถมมีช่องให้คอมเมนต์ ซึ่งเป็นแบบฝึกหัด ให้เรียนรู้การวิพากษ์วิจารณ์บ้านเมืองไปในตัว

การจะคุยแลกเปลี่ยนกับเด็กรุ่นนี้ จึงต้องใช้ทั้งข้อมูล และมุมมองที่น่าเชื่อถือ ถ้ามั่วนิ่ม นำเอานิทานเลื่อนลอย หรือประวัติศาสตร์เมาธ์มอยที่ส่งทางไลน์ มาสอนเด็ก อาจโดนต้อนเสียผู้เสียคนได้ง่ายๆ

ทุกฝ่ายจึงต้องตั้งหลัก ตั้งรับให้ดี เริ่มจากระบบการศึกษาใน 5-6 ปีที่ผ่านมา ที่ไปแต่งตำรารับลูกการรัฐประหารมาเต็มๆ ต้องปรับปรุงใหม่

“ประชาธิปไตยในโรงเรียน” ต้องมี เช่นเดียวกับนอกโรงเรียน

สุดท้ายแล้ว การเปลี่ยนแปลงกติกา เปลี่ยนแปลงการเมือง เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่โอกาสที่จะเลือกว่าจะให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแบบไหน ยังไง ยังมีอยู่ในขณะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image