คอลัมน์หน้า 3 : กระแส กดดัน พลานุภาพ การเมือง ในยุค สมัยใหม่

คอลัมน์หน้า 3 : กระแส กดดัน พลานุภาพ การเมือง ในยุค สมัยใหม่

กระแส กดดัน
พลานุภาพ การเมือง
ในยุค สมัยใหม่

ถามว่าทั้งๆ ที่กรรมาธิการฝ่ายของรัฐบาลมีจำนวนมากถึง 48 ขณะที่กรรมาธิการจากฝ่ายค้านมีเพียง 24 เหตุใดจึงต้องเลื่อนการลงมติในกรณี “เรือดำน้ำ” ออกไป

คำตอบคือ ปฏิกิริยาจาก # ไม่เอาเรือดำน้ำ

นี่มิได้เป็นเพราะพลังอันผนึกตัวรวมพลังอย่างเหนียวแน่นของ 24 กรรมาธิการจากพรรคฝ่ายค้าน ตรงกันข้าม เป็นปฏิกิริยาในทางสังคม

Advertisement

เป็นพลังจาก # ไม่เอาเรือดำน้ำ ที่ส่งผลสะเทือน

เฉพาะหน้าคือมติจากพรรคประชาธิปัตย์ที่มอบหมายให้ 6 กรรมาธิการแสดงความไม่เห็นด้วย ต่อไปคือความไม่แน่ใจว่า 7 เสียงจากพรรคภูมิใจไทยจะเอาอย่างไร

ทั้งหมดล้วนหวั่นเกรงต่อกระแส # ไม่เอาเรือดำน้ำ

Advertisement

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันให้เดินหน้า แม้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยืนยันให้เดินหน้าเพราะมีความจำเป็นในทางยุทธศาสตร์

แต่ก็จำเป็นต้อง “เลื่อน”

ต้องยอมรับว่า กระบวนการเลื่อน กระบวนการเตะถ่วงในลักษณะ “ซื้อเวลา” เป็นกลยุทธ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยิบฉวยมาใช้อย่างต่อเนื่อง

ใช้จนกลายเป็นความสันทัดจัดเจน

แม้ด้านหนึ่งเสียงเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงาม จะคืนกลับมา” จะกระหึ่มตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

แต่กว่าจะได้เลือกตั้งก็เมื่อเดือนมีนาคม 2562

ความสันทัดจัดเจนจากการเตะถ่วงในเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่เพียงแต่ทำให้ต้องเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องการเลือกตั้ง “ท้องถิ่น”

หากบทเรียนจาก “เรือดำน้ำ” ก็ทรงความหมาย

ทรงความหมายในฐานะอันเป็นสัญญาณเตือนให้เพิ่มความระมัดระวังต่อการใช้กลยุทธ์เมื่อประสบกับแรงกดดันในเรื่องของ “รัฐธรรมนูญ”

นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่ากระแส “กดดัน” จะเข้มแข็งเพียงใด

ปรากฏการณ์ “เยาวชนปลดแอก” อาจสามารถจุดประกายและสร้างความหวังให้กับกระแสกดดันในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติม “รัฐธรรมนูญ”

แต่อย่าลืมบทบาทและเป้าหมายของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เพียงแต่ 1 เป็นผลผลิตของกระบวนการรัฐประหาร หากที่สำคัญอีก 1 ผลผลิตนี้มีเป้าหมายเพื่อการสืบทอดอำนาจ

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”

จึงแทนที่จะฝากความหวังไว้กับความเมตตาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไว้กับสำนึกตื่นรู้ในทางการเมืองของ 250 ส.ว.

น่าจะฝากความหวังไว้กับ “เยาวชนปลดแอก” มากกว่า

คำถามก็คือ เมื่อเผชิญกับความพยายามในการสกัดและขัดขวางอย่างเต็มสูบจากรัฐบาลและจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระดับนี้

“เยาวชนปลดแอก” จะยืนหยัดและพัฒนาได้หรือไม่

บทเรียนอย่างสำคัญจากกรณีของ “เรือดำน้ำ” นอกจากจะเผยให้เห็นกลยุทธ์ของรัฐบาลว่าสันทัดจัดเจนในเรื่อง การเตะถ่วง ซื้อเวลา อย่างไรแล้ว

ยังจำเป็นต้องเข้าใจใน “พลัง” ที่จะกดดัน

ไม่ว่าพรรคการเมือง ไม่ว่านักการเมือง ซึ่งมีรากฐานอยู่กับประชาชน และได้รับมอบอาณัติมาจากการเลือกของประชาชนจำเป็นต้องเข้าใจ

เข้าใจในพลังอันแท้จริงว่าอยู่ที่ใดและจะได้มาอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image