เดินหน้าชน : วิกฤตน.ศ.ตกงาน : โดย นายด่าน

เดินหน้าชน : วิกฤตน.ศ.ตกงาน : โดย นายด่าน

เดินหน้าชน : วิกฤตน.ศ.ตกงาน : โดย นายด่าน

ข่าวการปิดตัวของโรงงาน สถานประกอบการที่เผยแพร่ลงในสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อออฟไลน์ กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19

ยังนึกภาพไม่ออกว่ารัฐบาลจะตั้งรับอย่างไร หากคนต้องตกงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในสภาวะที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19

เพราะเงินหลายแสนล้านที่รัฐบาลอัดฉีด พยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดไปกว่านี้ จะยื้อไปได้อีกนานแค่ไหน

Advertisement

ตัวเลขคนว่างงานไตรมาส 2 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงล่าสุดมีอยู่ราว 7.5 แสนราย ลดลง 1.95% จากที่มีแรงงานทั้งระบบ 37.1 ล้านคน

โดยกลุ่มแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างมีการปลดคนงานมากที่สุดในสัดส่วน 6.3% กลุ่มสาขาโรงแรม 4.4% และภัตตาคาร 2.8%

แต่ทางสภาพัฒน์ชี้ว่าตัวเลขผู้ว่างงานดังกล่าวเป็นเพียงตัวเลขโดยรวมที่ยังไม่เฉพาะเจาะจง เมื่อพิจารณาจากผู้ขอใช้สิทธิรับประโยชน์กรณีว่างงานตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 33 มี 4.2 แสนราย

Advertisement

ขณะที่แรงงานในระบบที่ตกอยู่ในความเสี่ยงการว่างงานในอนาคตมีทั้งสิ้น 1.7 ล้านคน

เนื่องจากคนกลุ่มนี้คือผู้ที่ปัจจุบันยังมีสถานะเป็นผู้มีงานทำแต่สถานประกอบการประสบเหตุสุดวิสัยไม่สามารถเปิดดำเนินการได้

ฉะนั้นภาพรวมผู้ตกงานจึงน่าจะอยู่ 2.18 ล้านราย

ตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมนักศึกษาจบใหม่ในปีนี้อีก 4-5 แสนคน

และอีก 4 แสนกว่าคนในปี 2564 ตามตัวเลขของกรมการจัดหางาน

ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะตกงานเพราะตลาดแรงงานอาจรองรับไม่เพียงพอ

เฉพาะนักศึกษาที่จบใหม่ในปีนี้ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ประเมินสถานการณ์ว่ากลุ่มนี้อาจกลายเป็นผู้ว่างงานถาวรจากผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้นายจ้างไม่มีนโยบายรับคนเพิ่ม

แม้รัฐจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินกิจการปกติแต่ภาพรวมธุรกิจไม่ได้กลับมาปกติ

นายธนิตห่วงว่า เด็กจบใหม่ปีนี้ 5 แสนคน หากปล่อยว่างงาน 1-2 ปี อาจตกงานถาวรประมาณ 4 แสนคน เพราะจะถูกดึงตัวไปทำงานอย่างมากประมาณ 20% หรือ 1 แสนคน

ที่เป็นเช่นนี้เพราะส่วนหนึ่งจบระดับอุดมศึกษาที่ไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง

สิ่งเหล่านี้รัฐบาลน่าจะทราบดี แม้พยายามตั้งรับเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่ก็ทำได้แต่บางส่วนเท่านั้น

หลายโครงการที่ออกมาเพื่อจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ก็ยังจำกัด

ยกตัวอย่าง โครงการยุวชนสร้างชาติ ที่ดึงบัณฑิตตกงานกว่า 5 หมื่นคนมาเข้าโครงการ 1 ปี จ่ายค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท

ในขณะที่ล่าสุด ที่ประชุม ครม.สัญจรที่ระยอง กระทรวงแรงงานเสนอการจัดทำ Expo การจ้างงานทั่วประเทศ

มีแนวโน้มจัดทำเป็นแพคเกจ ร่วมกับสถานประกอบการเพื่อให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องจัดทำรายละเอียดเสนอ ครม.เห็นชอบ

โดยรัฐบาลอาจใช้วิธีเข้าไปอุดหนุนการจ้างงานของภาคเอกชนส่วนหนึ่ง เพื่อจ้างงานแรงงานในกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ 4 แสนกว่าคน

แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาระบุก่อนการประชุม ครม.สัญจรที่ระยองว่า

ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 เห็นชอบที่จะให้มีมาตรการจูงใจเอกชนให้มาร่วมมือกับรัฐบาลในรูปแบบ “ร่วมจ่าย” หรือ co-payment เพื่อดูแลคนตกงาน

มาตรการเหล่านี้จะได้ผลมากน้อยแค่ไหนนั้นยังต้องรอดูแนวทางที่จะออกมา

เชื่อว่าหากรัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องการว่างงาน เรื่องปากท้องได้ น่าจะช่วยลดกระแสการออกมาชุมนุมขับไล่ ต่อต้านรัฐบาล

นายด่าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image