สถานีคิดเลขที่12 : ยังไม่จบ โดย ปราปต์ บุนปาน

ตลอดสัปดาห์ที่แล้ว ขั้วอำนาจสำคัญต่างๆ ในทางการเมืองไทย ล้วนต้องประสบและพยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะตัวของตนเองกันอย่างถ้วนหน้า

ฝ่ายรัฐบาลต้องปะทะกับคำถามชุดใหญ่ๆ เรื่องงบประมาณการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ตลอดจนงบประมาณการสู้คดีเหมืองทองอัครา

โดยไม่สามารถแจกแจงคำตอบที่กระจ่างชัดเจนต่อสังคมได้อย่างน่าพึงพอใจสักเท่าไหร่

หันมาที่ฝ่ายค้าน สองพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยและก้าวไกลก็มีความคิดเห็นไม่สอดคล้องต้องตรงกันในเรื่องแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพรรคหนึ่งเห็นว่าควรมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาก่อน ขณะที่อีกพรรคเสนอให้รีบ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ทันที ตามข้อเรียกร้องของประชาชนบนท้องถนน

Advertisement

กระทั่งเกิดเป็นภาพความขัดแย้ง-ปริร้าว

ทางด้านแนวร่วมหลายรายของ “คณะประชาชนปลดแอก” ก็ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันในเรื่องที่ “แอมมี่ เดอะบอตทอม บลูส์” ศิลปินเพลงซึ่งออกมาร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวกับกลุ่มเยาวชนอย่างแข็งขันกระตือรือร้น เพิ่ง “สาดสี” ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจหน้า สน.สำราญราษฎร์

ด้วยวิวาทะว่านั่นถือเป็นการแสดงออกอย่าง “สันติ” หรือไม่? เป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือเปล่า? และจะส่งผลดีหรือผลเสียต่อฝ่ายผู้ชุมนุมมากกว่ากัน?

Advertisement

เหล่านี้คือบทเรียนคือโจทย์ยากๆ ที่แต่ละฝ่ายต้องนำกลับไปทบทวน ทั้งเพื่อยืนยันว่าสิ่งที่พวกตนทำและตัดสินใจลงไปเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว หรือเพื่อแก้ไข-ปิดรอยโหว่ของข้อผิดพลาด-จุดบกพร่องที่เกิดขึ้น

อันจะนำไปสู่บทพิสูจน์ที่ว่าแต่ละขั้วอำนาจมีความชอบธรรมมากน้อยแค่ไหนในสายตาของสาธารณชนส่วนใหญ่

แม้ว่าสถานการณ์โดยรวมของสังคมการเมืองไทยยุคปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปมหาศาล และมีองค์ประกอบใหม่ๆ บังเกิดขึ้นแทบทุกวันหรือสัปดาห์

ทว่าก็ดูเหมือนยังไม่มีใครเชื่อว่าความขัดแย้งที่ปรากฏชัดเจนในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ภายหลังการรวมตัวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ จะนำไปสู่ “บทสรุปจบ” ในระยะเวลาอันสั้น

ตรงกันข้าม ดูคล้ายนี่จะเป็น “เกมยาว” ซึ่งประกอบด้วย “เหตุการณ์เฉพาะหน้า” ให้เซอร์ไพรส์-ปรับปรุง-ปรับเปลี่ยน-รับมือเป็นระยะๆ และการไตร่ตรองครุ่นคิด-ยื้อแย่งแข่งขันกันในเชิง “ยุทธศาสตร์-ภาพใหญ่”

ไปๆ มาๆ เรื่องราวทั้งหมดจึงอาจไม่ยุติลงง่ายๆ สอดคล้องกับแฮชแท็ก “#จะไม่ยอมให้จบที่รุ่นเรา” ที่ต่อท้ายข่าวประชาสัมพันธ์ของท่าน (ว่าที่อดีต) ผบ.ทบ. พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์

อย่างไรก็ดี สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับอนาคตการเมืองไทย คงไม่ใช่สถานการณ์ที่ใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือผู้ใดผู้หนึ่ง จะสามารถกำหนด-ควบคุมเกมได้อย่างง่ายดาย ว่าจะยอมให้เรื่องราวต่างๆ “จบ” หรือ “ไม่จบ”

แต่จะเกิดกระบวนการ-พัฒนาการ-การเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่ายในสังคม ว่าทำไมพวกเราจึงยังไม่ควร “จบ” เรื่องเหล่านี้ ณ ตอนนี้ หรือพวกเราควรจะไป “จบ” เรื่องเหล่านี้กันตรงจุดไหน?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image