เดินหน้าชน : สภาเดี่ยว-ยุบส.ว. โดย โกนจา

เสียงเรียกร้องกดดันจากนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วประเทศที่ต้องการให้ปิดสวิตช์ ส.ว.

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ให้คำตอบที่ชัดเจนที่สุดว่า ส.ว.ชุดนี้คือกล่องดวงใจในการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร

การเขียนรัฐธรรมนูญการดำรงไว้ซึ่งสภาสูงด้วยการแต่งตั้งจาก คสช. และให้อำนาจ 250 ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ถึงวันนี้ภารกิจได้เสร็จสิ้นลงแล้ว สามารถเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีจนสำเร็จ

หลังจากนั้นเราได้เห็นบทบาทหน้าที่ของ ส.ว.ชุดนี้ว่าการทำหน้าที่ในสภามีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง

Advertisement

ประเด็นสำคัญ วันนี้ต้องตั้งคำถามว่าประเทศไทยยังจำเป็นต้องมี ส.ว.อยู่อีกหรือไม่

ถามว่าบทบาทในการทำหน้าที่ของ ส.ว.ในวันนี้คุ้มค่ากับเงินภาษีหรือไม่

อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เคยเสนอความเห็นไว้น่าสนใจว่า วันนี้ ส.ว. 250 คนได้ทลายเหตุผลการมีอยู่ของ ส.ว.เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา ขนาดที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลรวบรวมเสียงเกิน 250 ได้แล้ว เคยคิดว่าอาจมี ส.ว.แบ่งเสียงมาแสดงจุดยืนของตัวเองด้วยการงดออกเสียง แต่กลายเป็นว่า มาครบทั้ง 249 คนตรงเป๊ะ มีเพียงประธานวุฒิคนเดียวที่ทำหน้าที่รองประธานรัฐสภาซึ่งงดออกเสียง รวมถึงการที่บอกว่า ส.ว. มีอยู่เพื่อการตรวจสอบรัฐบาล ปรากฏว่าไม่มี ทุกคนลงมติไปทางเดียวกันหมด บางคนพูดอวยเชียร์รัฐบาลทุกวัน ดังนั้น เหตุผลของการมี ส.ว. ได้ถูกทำลายโดย ส.ว. ชุดนี้เป็นที่เรียบร้อย

นี่ยิ่งกว่าสภาผัวเมีย และที่สำคัญกว่านั้นดำรงตำแหน่ง 5 ปี ตกรายจ่ายภาษีประชาชนกว่าหมื่นล้านบาท

ส.ว.เป็นสถาบันการเมืองที่เดิมพันอำนาจบางอย่าง และนำมาซึ่งวิกฤตการณ์ทางการเมืองมากมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ออกแบบให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง แล้วก็มีปัญหาเรื่องการแทรกแซง มีข้ออ้างเรื่องที่ว่าเป็นสภาผัวเมีย จนนำมาสู่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ออกแบบให้ ส.ว.แต่งตั้งครึ่งหนึ่งและเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ยังมีปัญหาเดิมและนำมาสู่การที่ให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งแบบในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งยิ่งกว่าสภาผัวเมีย เพราะเป็นสภาแห่งการสืบทอดอำนาจ

แม้แต่ พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ถือเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ หัวก้าวหน้า ยังมองว่า วุฒิสภาซึ่งไม่มีอะไรเป็นสัญลักษณ์ของหลักการหนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียงเท่าเทียมกัน เพราะ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งโดยคนไม่กี่คน มีอำนาจมาขัดกับ ส.ส.ที่มาจากคนหลายสิบล้านคนได้

ถ้าอยากเคารพหลักหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงไม่จำเป็นว่า ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ประเด็นสำคัญคืออำนาจที่ ส.ว.มี ต้องสอดคล้องกับความยึดโยงกับประชาชน ถ้าอยากจะให้ ส.ว.มีอำนาจสูงมาก เหมือนกับประเทศสหรัฐอเมริกาที่ ส.ว.สามารถถอดถอนประธานาธิบดีได้ ก็จำเป็นอย่างมากที่ต้องมีที่มาจากประชาชน สหรัฐอเมริกาจึงให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. แต่ถ้าบอกว่า ส.ว.จะมาจากการแต่งตั้งเหมือนกับประเทศอังกฤษ ก็ต้องลดอำนาจ ส.ว.ให้ลงมาต่ำ ดังนั้น ส.ว.ของอังกฤษจึงไม่มีอำนาจอะไร สูงสุดที่ทำได้ คือ ขอระงับกฎหมายไว้หนึ่งปี

ปัญหาของประเทศไทย คือ อำนาจของ ส.ว. สูงมาก ถึงขั้นมาเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่ที่มากลับมาจากคนไม่กี่คนและมีผลประโยชน์ทับซ้อน

คำถามคือประเทศไทยจำเป็นต้องมี ส.ว.หรือไม่ เพราะกระแสโลกมีหลายประเทศมากขึ้นที่เปลี่ยนจากการใช้ระบบ “สภาคู่” ที่มีทั้ง ส.ส. และ ส.ว. มาเป็นระบบสภาเดี่ยว

วันนี้นักเรียน นักศึกษา และประชาชน คงได้คำตอบแล้วว่า 250 ส.ว.ชุดนี้กับเงินภาษีหมื่นล้านที่ต้องจ่ายเป็นเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เบี้ยประชุม และอื่นๆ อีกจิปาถะ ในวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี นั่นคุ้มค่าหรือไม่

ถือเป็นหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะร่างว่าควรผลักดันให้ประเทศไทยควรมีสภาเดี่ยวแล้วหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image