นักเรียนเลวสุดทน วังวนการศึกษาไทย โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ท่ามกลางข่าวร้อนทางการเมือง วันเสาร์ที่ 5 กันยายนนี้ กลุ่มนักเรียนเลวและนักเรียนจาก 24 โรงเรียนนัดรวมตัวที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการอีกครั้ง หลังการชุมนุมครั้งที่แล้วกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

นอกจากเพื่อยืนยันสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนและประชาชนปลดแอก ที่เรียกร้องให้ผู้คุมอำนาจรัฐหยุดคุกคามผู้มีความเห็นต่าง ร่างรัฐธรรมนูญและยุบสภาแล้ว

ทางด้านการศึกษาเรียกร้องให้เลิกพฤติกรรมผรุสวาท ใช้อำนาจบาดใหญ่ ปิดกั้น ริดรอนสิทธิเสรีภาพนักเรียน แต่ทำให้โรงเรียนเป็นที่ปลอดภัยจากความรุนแรงและปฏิรูประบบการศึกษาอย่างจริงจัง

กลับปรากฏข่าวว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้คัดร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติออกจากสารบบ เนื่องจากเป็นร่างที่ไม่มีการเสนอความเห็นเข้ามาตามเวลาที่กำหนด และส่งกลับให้กระทรวงศึกษาธิการเพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาใหม่อีกครั้ง

Advertisement

พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นกฎหมายหลัก กฎหมายแม่ เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในประเด้นสำคัญๆ ฉบับปัจจุบันบังคับใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2542

เมื่อตอนยกร่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามคิดค้นนวัตกรรมใหม่ทางการศึกษาให้เกิดความเปลี่ยนแปลงระดับปฏิรูปใหญ่ แต่เมื่อบังคับใช้ยังพบปัญหาอุปสรรคหลายประการ จนมีเสียงเรียกร้องให้แก้ไขปรับปรุงจนถึงขั้นยกเครื่องใหม่

จนภายหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เข้าสู่ยุคปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญใหม่ 2560 เกิดคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กปศ) ได้หยิบยกประเด็นปัญหาต่างๆ ขึ้นมาพิจารณาและยกร่างใหม่เสร็จเสนอรัฐบาลตั้งแต่ก่อนสิ้นสุดวาระครบ 2 ปี เดือนพฤษภาคม 2562

คณะรัฐมนตรีรับหลักการและส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา เวลาผ่านไปกว่าหนึ่งปี ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับยกเครื่องใหม่ถูกส่งกลับมาด้วยเหตุผลข้างต้น ไม่มีการเสนอความเห็นเข้ามาตามกำหนดเวลา ต้องกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ หรือผิดปกติก็แล้วแต่ ย่อมส่งผลถึงความคืบหน้าของการปฏิรูปการศึกษาโดยตรง

เป็นความผิดพลาด บกพร่อง ละเลย หลงลืมของฝ่ายใด ใครต้องรับผิดชอบ ยังไม่มีคำตอบใดๆ จากใครทั้งสิ้น

กรณีนี้จึงสะท้อนว่ากระบวนการทางการเมืองและการบริหารภายใต้วัฒนธรรมอำนาจที่สืบทอดต่อกันมายาวนาน ไม่สามารถทำให้ปฏิรูปการศึกษาเป็นจริงและบรรลุเป้าหมายที่ควรจะเป็นได้

ไม่ว่าจะมีข้อโต้แย้งจากฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับใหม่ เรื่องใดก็ตาม ในฐานะฝ่ายบริหาร ผู้กำหนดและขับเคลื่อนนโยบาย ต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดบทสรุป ข้อยุตินำเสนอไปยังรัฐสภาเพื่อตัดสินความเห็นต่างของแต่ละฝ่ายในขั้นตอนสุดท้าย

แต่การณ์กลับไม่เป็นไปเช่นนั้น ความเป็นจริงที่ปรากฎก็คือ เรื่องกลับสู่ที่เดิม เป็นวังวน ยังหาจุดจบไม่ได้ว่า จะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ วันไหน

เหตุจากความอืดอาด ล่าช้า ในการจัดการปัญหาความเห็นต่าง ไร้จุดเน้นตามลำดับที่ชัดเจนของฝ่ายบริหาร แต่มุ่งแก้สถานการณ์เฉพาะหน้า ทำให้เรื่องใหญ่ที่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต้องเสียโอกาสต่อไปอีก

จึงเป็นเงื่อนไขให้เกิดการรวมตัวชุมนุมเรียกร้องของนักเรียนและครู ซึ่งทนไม่ไหวกับสภาพที่ดำรงอยู่ของระบบบริหารการศึกษาภายใต้วัฒนธรรมอำนาจนิยม สิ่งที่เกิดขึ้นมาถึงวันนี้ ล้วนผลงานของผู้ใหญ่ทั้งสิ้น

กรณีกฎหมายการศึกษาเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของระบบใหญทั้งหมด เมื่อสภาพความจริงเป็นเช่นนี้ ทำให้เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ทนอึดอัด ขัดข้องต่อผลงานของผู้ใหญ่ และอำนาจที่กดทับต่อไปอีกไม่ไหว

เมื่อไร้ความหวัง มองไม่เห็นอนาคตว่าชีวิตของพวกเขาจะเป็นเช่นไร จึงพากันออกมาสะท้อนความเห็นและเรียกร้องสิ่งที่ดีกว่า

วันที่ 5 กันยานี้อาจจะเห็นอะไรใหม่จากน้อง นักเรียน นิสิต นักศึกษา ข้อเสนอด้านการศึกษาที่เป็นรูปธรรม นำไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับยุคสมัย และตอบโจทย์ชีวิตที่ดี มีหลักประกันของ
พวกเขา

การตั้งรับด้วยการเปิดรับฟังอย่างเดียวจึงไม่พอ ต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมด้วย ดังกรณีกฎหมายการศึกษาฉบับใหม่ เป็นต้น

เมื่อเกิดภัยพิบัติใหม่ด้านสาธารณสุข ไวรัสโควิด-19 โจทย์ใหญ่วันนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่ การบริหารและการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ ปฏิรูปการศึกษาต้องคิดใหม่ ปรับใหม่ อีกรอบเช่นกัน

คำถามมีว่า ถ้าไม่เชื่อ ไม่ไว้วางใจ ไม่ยอมรับ และไม่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน สรุปบทเรียน ประสบการณ์ ถูกเป็นครู ผิดเป็นครู

แต่ยังเชื่อความคิด หลงผิดของผู้ใหญ่ยุคเก่า ว่าเด็กตกเป็นเหยื่อ ไปตามกระแสโซเชียล ไม่มีความสามารถ วุฒิภาวะ เข้าถึงและแยกแยะ ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ความจริง ความคิดได้ด้วยตัวเขาเอง การเมือง การศึกษาก็จะร้อนแรงต่อไป หาจุดสงบจนเกิดเสียรภาพได้ยาก อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image