อยากแก้ไขมาตราไหนบอกมาอย่าทำอ้ำอึ้ง : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ประเด็นสำคัญทางการเมืองขณะนี้ ต่างทราบดีว่ามีประเด็นเดียว คือการแก้ไขยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ซึ่งมีผลทำให้การพิจารณาเรื่องความต้องการประชาธิปไตยของทุกคนทุกฝ่าย คือเรื่องการมีสภาเดียวหรือสองสภา หมายถึงสภาที่สองคือวุฒิสภาที่เป็นปัญหามาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาแล้ว

หากจะให้มี 2 สภา คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับสมาชิกวุฒิสภา ทั้งสองสภาต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด และสภาทั้งสองมีหน้าที่แตกต่างกัน

อาทิ สภาผู้แทนราษฎรเป็นสภานิติบัญญัติ ซึ่งมีหน้าที่หลักคือยกร่างกฎหมายมาบังคับใช้กับราษฎร และแก้ไขกฎหมายให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ส่วนสมาชิกวุฒิสภา มีหน้าที่หลักคือขัดเกลาพิจารณาร่างกฎหมายที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยกร่างให้เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับโดยไม่ขัดกับหลักการของความเป็นประชาธิปไตย และใช้กับประชาชนอย่างเสมอภาค

Advertisement

ขณะเดียวกัน คุณสมบัติของสมาชิกทั้งสองควรแตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องของวุฒิและอายุ เช่นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่กำหนดวุฒิการศึกษา และมีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ส่วนสมาชิกวุฒิสภา มีกำหนดวุฒิการศึกษาขั้นต่ำต้องปริญญาตรี และอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี ดังที่ผ่านมาเคยกำหนดเช่นนี้

ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาทั้งสองที่สำคัญคือการพิจารณาร่างกฎหมายทุกฉบับ ที่แตกต่างกันคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาจเสนอแก้ไขกฎหมายได้ทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับประชาชน และปัญหาของประเทศชาติ เช่นการต่างประเทศ การเศรษฐกิจ การเมือง

ภาระหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาต้องพิจารณาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประชาชน รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ การเศรษฐกิจ และการเมืองที่จะเป็นประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริง

ดังที่เคยกำหนดภาระหน้าที่ของวุฒิสมาชิกไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

ปัญหาสำคัญคือการได้มาซึ่งสมาชิกทั้งสองประเภท แน่นอนว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาจากผู้สมัครรับเลือกตั้งของประชาชนทุกคนที่อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี เนื่องจากเพื่อให้มีวุฒิภาวะพอสมควร ส่วนอายุของสมาชิกวุฒิสภาคือ 35 ปีบริบูรณ์ และจบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่าเป็นขั้นต่ำ ที่สำคัญคือต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งสองประเภท ประเด็นนี้ไม่น่าจะหลีกเลี่ยงได้ เพราะการเลือกตั้งเป็นสิทธิและหน้าที่โดยตรงของประชาชน แม้จะไม่ทุกคน ด้วยต้องกำหนดอายุขั้นต่ำไว้ที่ 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง

วันนี้ แม้วุฒิสมาชิกจะมาจากการแต่งตั้งและยังมีกรณีพิเศษมาจากตำแหน่งอีก 6 คน ในเมื่อวันนี้มีสมาชิกวุฒิสมาชิกอยู่แล้ว ควรจะแสดงออกซึ่งความเป็นประชาธิปไตย อย่างน้อยคือการแสดงความคิดเห็นที่เป็นเสรี โดยเฉพาะในประเด็นการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งวุฒิสมาชิกจำนวนไม่น้อยเห็นว่าควรมีการแก้ไข

ปัญหาของสมาชิกทั้งสองสภา คือการแก้ไขยกร่างทั้งฉบับ หรือการแก้ไขเป็นรายมาตราที่สำคัญ

ทั้งสองประเด็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรน่าจะเห็นว่าควรมีการยกร่างทั้งฉบับด้วยการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเช่นเคยปรากฏมาแล้ว แต่จะมาด้วยวิธีใด ควรพิจารณาให้ถ่องแท้ ถึงประโยชน์ ผลได้ผลเสียให้ถี่ถ้วน ทั้งเรื่องของประโยชน์ที่จะได้รับ งบประมาณ และห้วงเวลา กับความเท่าเทียมของเสียงประชาชนทั้งหมดที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ผสานกับความคิดเห็นโดยองค์รวม

ส่วนที่สมาชิกวุฒิสมาชิกบางคนเห็นว่าควรแก้ไขเป็นรายมาตรา สมควรนำเสนอไม่ว่าจะผ่านสื่อมวลชน ผ่านวุฒิสภา ว่าจะแก้ไขในมาตราใดบ้าง มิใช่เหมารวมเป็นความคิดเห็นว่าเป็นรายมาตรา แต่ไม่ระบุว่ามาตราใดบ้าง เช่นบทเฉพาะกาลควรจะแก้ไขมาตราใด ดังเช่นมีวุฒิสมาชิกบางคนเห็นว่า ยกมาตราแต่งตั้งวุฒิสมาชิกออกไป เป็นต้น

หรือบอกมาว่าสมาชิกวุฒิสภาควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่กำหนดวุฒิให้ชัดเจน เช่นจบการศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท ก็ว่ากันไป หรือในมาตราอื่น แจ้งมาให้ชัดเจนดีไหม อย่ามัวทำอ้ำอึ้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image