ไทยพบพม่า โดย ลลิตา หาญวงษ์ : สันติภาพที่มืดมนก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในพม่า

ในการเลือกตั้งทั่วไปในพม่ากำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ผู้เขียนพยายามหักห้ามใจไม่ให้ใช้คำว่า “การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์” เพราะการเลือกตั้งทั่วไปแทบทุกครั้งในพม่าล้วนเป็นประวัติศาสตร์ในตัวเอง ด้วยสถานการณ์และเงื่อนไขทางการเมืองที่แตกต่างออกไปในการเลือกตั้งทุกครั้ง ในการเลือกตั้งคราวก่อนๆ โดยเฉพาะในปลายปี 2015 เมื่อพรรค NLD ลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งครั้งแรก และได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย ประชาชนทุกภาคส่วนมีความตื่นตัวทางการเมือง มีผู้ไปเข้าคิวเพื่อลงคะแนนตั้งแต่เช้ามืดในบางพื้นที่ และมีอัตราผู้มาลงคะแนนเสียงถึงเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์

ในช่วง 5 ปีมานี้ ภูมิทัศน์ทางการเมืองพม่าเปลี่ยนไปอย่างน่าสนใจ แต่เดิม NLD เป็นตัวเลือกแรกของคนส่วนใหญ่ แม้แต่พรรคการเมืองตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น SNLD (Shan National League for Democracy) ที่มีบทบาทในรัฐฉานมาเนิ่นนาน ยังไม่สามารถเอาชนะพรรค NLD ได้ในการเลือกตั้งปี 2015 แต่สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ สภาพการณ์ไม่เหมือนเดิม พรรค NLD ไม่ได้เป็นพรรค “ของตาย” สำหรับผู้รักประชาธิปไตยพม่าอีกต่อไปแล้ว ในพื้นที่โซเชียลมีเดีย มีการรณรงค์ให้ประชาชน “โหวตโน” มีกลุ่มชุมชนโน-โหวตเมียนมา (No-Vote Community Myanmar Facebook) เกิดขึ้นมา แม้สมาชิกในกลุ่มจะมีเพียงเกือบ 400 คน แต่เป้าหมายของกลุ่มนี้ก็ชัดเจนว่าไม่ต้องการไปลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2008 ที่ร่างขึ้นโดยรัฐบาลทหาร และยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เคยไปลงคะแนนเสียงในปี 2015 แต่ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลภายใต้การนำของด่อ ออง ซาน ซูจี และพรรค NLD

คนในกลุ่มหลังส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่ต่างวิพากษ์วิจารณ์การใช้กำลังของกองทัพในรัฐยะไข่ แน่นอน ความเห็นคนกลุ่มที่สนับสนุน “โน-โหวต” ขัดแย้งกับคนกลุ่มใหญ่ในพม่าที่ยังสนับสนุนพรรค NLD และการบริหารงานของด่อ ออง ซาน ซูจี การโต้เถียงในประเด็น “โน-โหวต” หรือ “โก-โหวต” เริ่มจากคนกลุ่มเล็กๆ ในเวลาไม่นาน กลับเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง เพราะผู้บริหารพรรค NLD ตบเท้าออกมาประณามความเคลื่อนไหวของกลุ่มโน-โหวต แม้แต่ด่อ ออง ซาน ซูจี เองก็กล่าวถึงท่าทีของคนกลุ่มโน-โหวตว่าเป็นการกระทำที่ “ไร้ความรับผิดชอบ” ความคิดเห็นของเธอ ที่ออกมาในวันที่ 5 สิงหาคม ยิ่งโหมกระพือกระแสวิจารณ์ “ความเป็นประชาธิปไตย” ของเธอเองและพรรค NLD ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2010 สมาชิกพรรค NLD บางคนเคยรณรงค์ให้ประชาชนงดออกเสียง อู ทุน ยิน ซึ่งในขณะนั้นเป็นเลขาธิการพรรค NLD ในเมืองดาละ ใกล้ย่างกุ้ง ถูกจับกุมหลังเผยแพร่ใบปลิวรณรงค์ให้ประชาชนกาในช่อง “โน-โหวต” ในครั้งนั้น และก็เป็นออง ซาน ซูจี ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าประชาชนมีสิทธิจะเลือกโหวตโนได้

หลายปีมานี้ ผู้ที่สังเกตการณ์การเมืองพม่าจากภายนอกคงเห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับชื่อเสียงของ ออง ซาน ซูจี ที่ดำดิ่งลงเหวแบบกู้กลับคืนมายาก พม่าเปลี่ยนจากประเทศที่เต็มไปด้วยความฝัน ความหวัง และความทะเยอทะยาน กลับไปเป็นประหนึ่ง “ฤๅษีแห่งเอเชีย” อีกครั้ง เมื่อใดก็ตามที่มีปัญหาภายในประเทศ และนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์พม่าเป็นพิเศษ เราก็มักได้ยินชาวพม่าออกมาเดินขบวนประท้วงประชาคมโลก และยืนยันว่าชาวพม่าและรัฐบาลภายใต้การนำของ NLD สามารถแก้ปัญหาได้ และเรามักได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ปัญหาของพม่า ก็ต้องแก้โดยคนพม่า” คนพม่าจึงไม่จำเป็นต้องฟังคำวิจารณ์จาก “คนที่ไม่เข้าใจพม่าจริง”

Advertisement

มีสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมองว่าเป็นดัชนีชี้วัดพัฒนาการทางการเมืองของพม่า นั่นคือการเจรจาสันติภาพ และการหาทางลงจากปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ที่กร่อนเซาะทำลายเสถียรภาพของพม่ามานานนับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชในปี 1947 ทันทีที่รัฐบาล NLD เข้ามา พรรคและผู้นำพรรคก็พยายามผลักดันให้เกิดการเจรจาสันติภาพ หรือที่เรียกว่า “การประชุมปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21” ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสันติภาพและการปรองดองเป็นนโยบายอันดับต้นๆ ของรัฐบาล NLD แต่วิธีคิดของผู้มีอำนาจในรัฐบาลพม่ามีปัญหามาตั้งแต่การประชุมปางหลวงยังไม่เริ่มขึ้น การอ้างถึงข้อตกลงปางหลวงที่รัฐบาลพม่าในยุคนายพลออง ซาน ลงนามกับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์เพียง 3 กลุ่ม ได้แก่ ฉาน ฉิ่น และกะฉิ่น แต่ไม่ได้รวมกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ โดยเฉพาะกะเหรี่ยง และมอญไว้ในการเจรจาครั้งนั้น สนธิสัญญาปางหลวงจึงเปรียบเสมือนข้อตกลงที่รัฐพม่าทำกับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์เพียงบางกลุ่ม

การละเลยกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าตอนล่างนี้ยิ่งสร้างความขัดแย้งเมื่อพม่าได้รับเอกราชในอีก 1 ปีถัดมา สงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ปะทุขึ้นในทันที แม้รัฐบาลพม่าจะบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ได้บางส่วน แต่ด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน และอคติด้านชาติพันธุ์ที่ยังมีอยู่ ก็ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เป็นคู่ขัดแย้งของรัฐบาลพม่าต่อมา ประกอบกับในช่วงหลายปีมานี้ มีกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหม่ๆ ที่มีข้อเรียกร้องเรื่องการปกครองตนเองเพิ่มมากขึ้น ยิ่งทำให้เราเห็นว่าการเจรจาสันติภาพแบบของรัฐบาลพม่า เป็นเพียงการเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์เพียงบางกลุ่ม ในกรณีความขัดแย้งระหว่างกองทัพอาระกัน (Arakan Army หรือ AA) กับกองทัพพม่าที่มีมาตั้งแต่ปี 2009 แย่ลงตามลำดับในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลพม่าเรียกกองทัพอาระกันว่า “ผู้ก่อการร้าย” อย่างเป็นทางการ แทนที่จะยอมรับฟังข้อเสนอของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว อันถือเป็นเสมือนหัวใจของการเจรจาสันติภาพสากล

ในกลางเดือนสิงหาคม มีการประชุมปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21 ครั้งสุดท้ายก่อนพม่าจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง การประชุมดังกล่าวมีกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม ที่เคยลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศกับรัฐบาลพม่ามาก่อนเข้าร่วม แต่การเจรจาสันติภาพของพม่าก็ยังเต็มไปด้วยอุปสรรคเพราะทั้งสองฝ่ายไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มยังยืนยันสิทธิการแยกตัว (rights to secession) ที่เขียนไว้ในข้อตกลงปางหลวงตั้งแต่ปี 1947 แต่กองทัพพม่าก็ยืนยันในปรัชญากองทัพที่ต้องการให้พม่าเป็นสหภาพที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ต่อไป

นอกเหนือจากกองทัพอาระกัน ยังมีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มที่ยังโจมตีฝ่ายรัฐบาลอย่างต่อเนื่องในเขตชายแดนพม่า-จีน เช่น กองกำลังว้าแดง และกองกำลังโกก้าง และแน่นอนว่ากองกำลังทั้งสองกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในแผนการและการอภิปรายในการประชุมปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21 มาตั้งแต่ต้น ในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ พรรค NLD ก็อาจจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อไป และปัญหามากมายที่ถูกซุกอยู่ใต้พรมก็ยังจะเป็นปัญหาชวนปวดหัวสำหรับรัฐพม่าต่อไปอีกนาน ตราบใดก็ตามที่กลุ่มผู้นำยังเป็น “ลูจี” (ผู้อาวุโส) กลุ่มเดิมๆ ที่ไม่ได้ต้องการพัฒนาประเทศเพื่อมุ่งสู่ประชาธิปไตยแบบสากลอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image