ดุลยภาพ ดุลยพินิจ โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด : ม็อบมุ้งมิ้งกับชุดจริยธรรมสำหรับสังคมไทย

ใครจะคิดว่าเด็กมัธยมจะทำให้รัฐบาล (ทหาร) กลืนไม่เข้าคายไม่ออกได้!!! สำหรับผู้ที่เคยปรามาสเด็กๆ ว่าเก่งแค่ใน
ทวิตเตอร์ วันนี้และในอนาคตอันใกล้คงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ กิจกรรมของเยาวชนรวมทั้งเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยบนถนน เป็นม็อบที่ไม่มีแกนนำตายตัว เป็น กลุ่มเล็กๆ กระจายอยู่ไม่เป็นที่ แกนนำสามารถหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ามาทำกิจกรรมโดยอาศัยแค่ลำโพงเล็กๆ มีไมโครโฟนหนึ่งตัวแล้วถ่ายทอดสดให้ผู้ที่สนใจสามารถฟังจากโทรศัพท์มือถือของตัวเองได้ ม็อบมุ้งมิ้งเป็นปรากฏใหม่ของการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทย ซึ่งกำลังเข้าสู่ยุคของการเมืองยุคดิจิทัล

การศึกษาเบื้องต้นของอาจารย์ชัยพงษ์ สำเนียง ซึ่งสนับสนุนโดยแผนงานคนไทย 4.0 ต้องการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของการเมืองไทยโดยเปรียบเทียบภูมิทัศน์การเมืองสมัยทักษิณ สมัยอภิสิทธิ์ จนถึงสมัยบิ๊กตู่ ชี้ให้เห็นถึงการเมืองภาคประชาชนที่ค่อยๆ ก่อรูปร่างในโลกออนไลน์ผ่านการระดมความคิดเห็นในประเด็นใดประเด็นหนึ่งในโลกอินเตอร์เน็ต ใช้ hashtag#ต่างๆ เป็นตัวเชื่อมให้ผู้คนที่มีความเห็นพ้องต้องกันสามารถเชื่อมประสานกันได้ จนกระทั่งสามารถระดมพลมาปฏิบัติการทางการเมืองบนท้องถนนร่วมกันได้ ที่น่าสนใจคือ เป็นกระบวนการที่ไม่เป็นองค์กรชัดเจน ไม่มีหัวหน้า ไม่มีสมาชิก ใครๆ ก็เข้าร่วมได้ ไม่เหมือนใน Facebook หรือ LINE ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รู้จักกัน แต่สามารถแสดงผลลัพธ์เป็นกระแสสังคมว่ามีจำนวนผู้เห็นพ้องต้องกันอยู่มากเท่าใด ซึ่งหากดูจาก จำนวนแฮชแท็กแล้วในหลายประเด็นก็อาจมีผู้เห็นด้วยเป็นล้านคนทีเดียว ที่สำคัญก็คือ การเลือกตั้งในปีที่ผ่านมานั้นมีเสียงของคนรุ่นใหม่ 6-7 ล้านเสียงที่ไม่เคยเลือกตั้งมาก่อน ซึ่งคนเหล่านี้เป็นประชาชนยุคดิจิทัลซึ่งโตมากับสื่อออนไลน์เช่น Facebook, Twitter, Instagram และแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้พรรคการเมืองหน้าใหม่สามารถใช้สื่อเหล่านี้อธิบายตัวเองโดยมีต้นทุนต่ำ สื่อสารได้อย่างกว้างขวาง และแพร่หลาย อาจารย์ชัยพงษ์เห็นว่าอิทธิพลของการเมืองออนไลน์ไม่ใช่อยู่ที่ถนน แต่เป็นการยกประเด็นที่ประชาชนต้องการคำอธิบาย ทำให้องค์กรหลักๆ ที่อยู่ได้ด้วยอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ขาดธรรมาภิบาลในการดำเนินการต้องสั่นสะเทือน

สิ่งที่ม็อบมุ้งมิ้งและม็อบออนไลน์ต้องการไม่ใช่แค่เพียงประชาธิปไตย แต่ยังต้องการความยุติธรรมในสังคม และความมีธรรมาภิบาลของผู้นำในสถาบันทางสังคมที่สำคัญๆ ซึ่งสถานการณ์อันน่าอนาถในสังคมไทย ทำให้คนรุ่นใหม่คิดว่าชีวิตในอนาคตขาดความมั่นคงและหลักประกันด้านความเป็นธรรม และต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่ออนาคตของตนเอง เราคงต้องยอมรับว่าในปัจจุบันมีคำถามต่างๆ ที่ไม่มีคำตอบทั้งๆ ที่เงื่อนงำที่แฝงอยู่ค่อนข้างที่จะชัดเจนอยู่ในความคิดของคนไทย เช่น การหายตัวไปของนักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์ กรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีอุบัติเหตุรถยนต์ชนตำรวจ ความพยายามที่จะลงทุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ ทั้งๆ ที่เราต้องการงบประมาณมหาศาลนี้มาต่อสู้กับโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

ปรากฏการณ์ของม็อบมุ้งมิ้งทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงพฤติกรรมของเด็กรุ่นใหม่ที่ก้าวร้าว ไม่มีความกตัญญูกตเวทีหรือมีข้อเรียกร้องที่เกินกว่าความเป็นไปได้ เช่น ต้องการจบมาแล้วมีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือน ต้องการให้รัฐอุดหนุนค่าดาวน์รถยนต์ เป็นต้น และได้รับการโต้ตอบที่ “ก้าวร้าว” ในสังคมโซเชียลพอกัน

Advertisement

งานวิจัยของแผนงานคนไทย 4.0 ที่ศึกษาอัตลักษณ์และตัวตนของคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนยุคดิจิทัลพบว่า คนรุ่นใหม่ที่เป็นชาวดิจิทัล มีแนวโน้มอยู่ในโลกเสมือนหรือโลกออนไลน์มากขึ้นซึ่งทำให้สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดทางเพศ สัญชาติ วัฒนธรรม ศาสนาหรือรูปร่างหน้าตาจนกล่าวได้ว่าเป็นโลกที่ไร้พรมแดนไร้ขอบเขต ต่างจากโลกออฟไลน์หรือโลกที่แท้จริงซึ่งยังมีขอบเขตผูกติดอยู่กับเพศ ศาสนา ขนบธรรมเนียมที่พึงประสงค์ ชาวดิจิทัลในโลกเสมือนสามารถเข้าไปสร้างตัวตนใหม่ในโลกเสมือน แล้วเลือกที่จะแสดงตัวตนเป็นตัวอวตาร (Avartar) ที่แตกต่างไปจากตัวตนในโลกที่เป็นจริง อัตลักษณ์และตัวตนของชาวดิจิทัลจึงมีลักษณะที่ค่อนข้างซับซ้อนและไม่ได้มีรูปแบบเดียว สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ที่ลื่นไหลและไร้ขอบเขต แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนทั้งในเชิงวิธีคิดและพฤติกรรม คนรุ่นใหม่นี้มีการแสดงออกรวมทั้งการใช้สัญลักษณ์ที่ผิดแผกไปจากขนบธรรมเนียมประเพณีที่เคยมีมา ภาพของคนรุ่นใหม่ที่กำลังแสดงตัวตนอยู่นั้นมีความหลากหลายและแตกต่าง สะท้อนภาพประชาชนของไทยทั้งมวล เพียงแต่เป็น กลุ่มที่มีอายุน้อยกว่าเช่น ประกอบไปด้วยกลุ่มที่มีเหตุผล กลุ่มที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย กลุ่มที่อยากเปลี่ยนประเทศและไม่อยากเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีกลุ่มที่เรียกร้องแต่สิ่งที่ตัวเองอยากได้แบบเด็กๆ หรือกลุ่มที่มาเพราะพวกมากลากไป สิ่งที่คนรุ่นก่อนต้องทำก็คือ เปิดใจให้กว้างไว้ คิดว่าคนโลกใหม่ทุกคนเปรียบเสมือนลูกเสมือนหลาน ลองย้อนพินิจคิดถึงตัวเราเองว่าจะมีส่วนช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ดีร่วมกันได้อย่างไร เริ่มต้นที่บ้านก่อนแล้วถึงต่อเนื่องไปถึงสถานที่ทำงานและพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ซึ่งเป็นที่ที่ คนหลายรุ่นจะต้องมีประสบการณ์ร่วมกัน

สำหรับประเด็นความกตัญญูกตเวทีนี้ งานวิจัยของแผนงานคนไทย 4.0 ยังพบว่าคุณธรรมที่เด็กดิจิทัลให้ความสนใจมากที่สุดก็คือความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการี ในขณะนี้รัฐบาลส่งเสริมคุณธรรมอยู่ห้าประการด้วยกันได้แก่ ซื่อสัตย์ มีวินัย พอเพียง รับผิดชอบ และจิตสาธารณะ ซึ่งไม่ตรงกับความสนใจของคนรุ่นเยาว์นัก ทั้งนี้เป็นเพราะจริยธรรมของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไปตามวัย อาชีพ ความจำเป็น และสภาพแวดล้อมที่ตนกำลังดำรงอยู่ในขณะนั้น ในช่วงวัยเด็กที่ยังอยู่ในความคุ้มครองของพ่อแม่ เด็กจะสนใจคุณธรรมที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตร่วมกับบิดามารดา แต่เมื่อชีวิตเข้าสู่มหาวิทยาลัยคนรุ่นใหม่มักเปิดรับกับกระแสโลกาภิวัตน์มากขึ้น และเปิดรับหลักคุณธรรมสากล เช่น ความโปร่งใส เมื่อออกไปทำงาน หากไปมีอาชีพเป็นทหาร ตำรวจก็อาจจะสมาทานคุณธรรมเช่น ความมีวินัย ความกล้าหาญ ความจงรักภักดี ถ้าไปเป็นแพทย์ พยาบาล ก็จะไปเน้นความเสียสละ

การที่เด็กสนใจอะไรไม่ตรงกับผู้สูงวัยก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่คนของรัฐควรเข้าใจว่า ชุดจริยธรรมที่กำหนดไว้อย่างแข็งและตายตัวอาจเป็นชุดจริยธรรมที่ไม่สามารถรองรับอนาคตของคนไทยที่มีความหลากหลายทางความคิดมากขึ้นได้ ถ้าเราอยากให้คนยุคใหม่เป็นคนที่คิดเป็น มีความคิดใหม่ๆ รู้จักสร้างสรรค์ เราก็ต้องเน้นการยอมรับความแตกต่างในสังคม ในช่วงนี้จึงเป็นเวลาที่คนรุ่น “ก่อน” ควรที่จะพยายามเข้าใจคนรุ่นใหม่และไม่มองคนรุ่นใหม่เป็น “ฝ่ายตรงข้าม” ไม่ควรใช้กรอบความคิดชุดเดียวไปตัดสินพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ แต่ให้หันหน้าเข้าร่วมมือกันสร้างอนาคตของชาติไทยเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image