ภาพเก่าเล่าตำนาน : โคก หนอง นา …ช่วยนำพาชีวิตได้ โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ชาวเอสกิโม ที่ต้องใช้ชีวิตกับความหนาวเย็นสุดขั้ว ต้องหาวิธีเก็บและถนอมอาหารเพื่อเอาไว้กินในหน้าหนาว มนุษย์ที่มีชีวิตในหิมะอันเย็นเฉียบเหล่านี้ มีเมนูเด็ด ชื่อว่า Kiviak

ชาวเอสกิโมอาศัยอยู่บนเกาะกรีนแลนด์ ใกล้ขั้วโลกเหนือมีเคล็ดลับการถนอมอาหารโดยนำซากของแมวน้ำ (Seal) มาชำแหละ ผ่าท้องแล้วนำนกตัวเล็กชนิดหนึ่ง จำนวนหลายสิบตัวเข้าไปเก็บไว้ในท้องแมวน้ำ

รีดอากาศให้ออกจากท้องแมวน้ำให้มากที่สุด แล้วผนึก โดยใส่เครื่องปรุงชนิดหนึ่งเพื่อป้องกันการเน่าเสียของเนื้อ ขั้นตอนสุดท้ายคือการนำไปฝังในน้ำแข็ง แล้วทับด้วยหินก้อนใหญ่ไว้นานนับเดือน

ระหว่างหน้าหนาว อากาศเย็นจัด ไม่มีเนื้อสัตว์ให้กินเป็นอาหาร ไม่มีแสงแดดนานนับเดือน ลมพัดแรง จะนำนกในท้องแมวน้ำออกมากิน

Advertisement

มนุษย์ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์บนโลกนี้ ต่างก็มีวิถีชีวิต มีวิธีการ ที่จะอยู่รอด พระพุทธเจ้าทรงสอนว่ามนุษย์ต้องการอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ขึ้นอยู่กับว่า ใครอยู่ส่วนไหนของโลก

ใครจะคิดหาวิธีการที่ “เหมาะสม” ตามภูมิสังคมได้… คนนั้นก็รอด

จะอยู่ในทะเลทราย อยู่บนภูเขาสูง อยู่ในป่าดงดิบ เจาะภูเขาอยู่ อยู่ใกล้น้ำ ก็จะมีวิธีการดำรงชีวิตแตกต่างกัน พันปีหมื่นปีที่ผ่านมา มนุษย์เรียนรู้ พัฒนา แลกเปลี่ยนความรู้ ต่อยอด เพื่อให้แนวทางการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น สุขสบาย มีกิน มีใช้

Advertisement

พื้นที่ประเทศไทยพื้นที่กว่า 5 แสนตารางกิโลเมตร ที่ผ่านมานับร้อยปี มีอาหารเหลือกิน เหลือใช้ ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ไม่เคยวิกฤตขนาดต้องอดตายแบบบางประเทศ ชีวิตชาวสยามโดดเด่นที่สุด คือ การเกษตร

ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ต่างบันทึกว่า ชาวสยามดำรงชีวิต ตั้งหลักแหล่ง ตามแนวแม่น้ำ แหล่งน้ำ …มีชาวสยามไม่น้อยที่ใช้ชีวิตบนแพ สยามอุดมสมบูรณ์ ฝนตก น้ำท่วม เดินทางไปไหนมาไหนด้วยเรือ บางพื้นที่น้ำแล้งสุดสุด

การปลูกพืช ทำไร่ ไถนา ต้องอาศัยฝนเป็นหลัก

คนที่ไม่เคยเดือดร้อนเรื่อง น้ำมาก น้ำน้อย คือ คนที่ใช้ชีวิตอยู่บนแพ

ตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน เรารับรู้ ยอมรับว่า เรามีปัญหา 2 อย่าง คือ น้ำท่วม-น้ำแล้ง

เกษตรกรไทยประสบพบเจอเป็นประจำเกือบทุกปี เมื่อการเพาะปลูกมีปัญหา ก็ต้องกู้หนี้ยืมสิน ต้องไปซื้ออาหารกิน แม้ว่าจะมีที่ดินเพาะปลูกเป็นของตนเองก็ตาม

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างชาวอิสราเอลนับล้านคน ที่ต้องต่อสู้กับความแห้งแล้ง …อิสราเอลค้นพบ โมเดล เป็นของตัวเอง…

ดินแดนอิสราเอล มีสภาพภูมิศาสตร์ที่ต่างกันสุดขั้ว ด้านหนึ่งติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอากาศร้อนชื้น ทางตอนเหนือเป็นที่ราบสูง พื้นที่เกือบครึ่งประเทศเป็นทะเลทรายที่มีอากาศร้อนและแสงแดดตลอดปี

ปริมาณฝนอันน้อยนิด มีแหล่งน้ำจืดจำกัด ตรงที่เป็นดิน คือ หินทรายและบางส่วนก็เป็นกรวดปนทราย พื้นที่ที่พอจะเพาะปลูกได้คิดเป็นร้อยละ 11 ของประเทศ

ชาวยิว ต้องหาทางอยู่ให้รอด มีกิน มีใช้… ยิว ออกแบบพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชนและพื้นที่การเกษตรอย่างเป็นระบบ ด้วยการบริหารจัดการแบบรวมกลุ่มที่เรียกว่า คิบบุตซ์ (Kibbutz) และ โมชาฟ (Moshav)

เคยมีข้าราชการไทยไปดูงานมาแล้วนับไม่ถ้วน…

คิบบุตซ์ เป็นรูปแบบของการนิคมสำหรับเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง และรายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตรจะถูกนำมารวมกันเพื่อแบ่งปันกำไรเท่าๆ กัน

โมชาฟ คือ ชุมชนจัดตั้งที่มีการรวมกลุ่มกันของเกษตรกร เพื่อช่วยกันทำมาหากินแบบพึ่งพาอาศัยกันอย่างมีกติกาในรูปแบบคล้ายสหกรณ์ แต่ละแห่งมีสมาชิกประมาณ 60-200 ครอบครัว

แต่ละครอบครัวสามารถมีที่ดิน บ้าน และเครื่องมือทำการเกษตรเป็นของตนเอง โดยโมชาฟจะรับผิดชอบด้านการตลาด การจัดซื้อเครื่องมือเครื่องใช้ให้สมาชิกในราคาถูก รวมทั้งจัดการให้สมาชิกทุกคนได้ “ใช้น้ำและที่ดิน” อย่างเท่าเทียมกัน

น้ำ คือ สิ่งที่ทุกคนโหยหา

ชาวยิว ที่ต้องอยู่ในทะเลทราย ทุ่มเทอย่างหนักเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทำการเกษตร จัดการน้ำ และ พืชผลการเกษตร

ชาวยิว ต้องพึ่งตนเอง ไม่มีใครที่ไหนจะมาเนรมิตรความสุขสมบูรณ์ให้

ดินแดนแห่งทะเลทราย เน้น “การจัดสรรน้ำสำหรับการเพาะปลูก” แหล่งน้ำเดียวของประเทศคือทะเลสาบกาลิลี

ยิว ดิ้นรน ขวนขวายหาน้ำมาทำการเกษตร และในที่สุด ก็สามารถนำน้ำจากทะเลมาผ่านกระบวนการทำให้เป็นน้ำจืดก่อนที่ถูกส่งต่อไปยังพื้นที่แต่ละแห่งและแปลงของเกษตรกรแต่ละรายอย่างน่าทึ่ง

ยิว คิดหาวิธีบริหารจัดการน้ำได้ยอดเยี่ยมเป็นลำดับต้นๆ ของโลก

กลับมาที่แผ่นดินไทย ที่เราก็พบ “วิธีการ” ของเราเอง…

ผู้เขียนขอ ย่อความ เรียบเรียงจาก Workpoint News เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2561 ซึ่งเข้าใจง่ายๆ ดังนี้…

พระวิสิฐคณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดมงคล เล่าว่า เมื่อปี พ.ศ.2531 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชกระแสให้กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา พิจารณาจัดซื้อที่ดินที่ติดกับวัด เพื่อจัดสร้างศูนย์สาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่แห่งแรกของประเทศไทย และพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้วัดว่า “วัดมงคลชัยพัฒนา”

พ.ศ.2555 ทางวัดได้ดำเนินการเพื่อสืบสานศาสตร์พระราชา โดยซื้อที่ดิน 10 ไร่ และเจ้าของที่ดินได้ถวายเพิ่มอีก 2 ไร่ รวมเป็น 12 ไร่ มี ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อาจารย์ยักษ์ เป็นรับผิดชอบดูแลการจัดทำแผนผังของโครงการ

หลังจากนั้น พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ได้ส่งทหารพัฒนาจาก จ.ฉะเชิงเทรา มาขุดหนองน้ำขนาดใหญ่ให้

หลวงพ่อกล่าวต่อไปว่า นอกการจัดทำศูนย์สาธิตแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญก็คือ แนะนำชาวบ้าน เพื่อให้พวกเขานำแนวทางนี้ไปปฏิบัติในพื้นที่ของตน

สิ่งที่วัดดำเนินการ เพื่อจะบอกว่า ศาสนสถานแห่งนี้ไม่เพียงเป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจ แต่ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร เป็นแหล่งพึ่งพาทางการประกอบอาชีพให้กับชาวบ้าน เพื่อให้พวกเขาสามารถพึ่งตัวเองได้ในที่สุด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างยั่งยืน

หลวงพ่อได้กล่าวว่า “ทุกโครงการของในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นไปตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ก็สอดคล้องกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา…”

ตามหลักทฤษฎีใหม่ พระองค์ทรงพระราชทานสูตรให้ว่า 30 30 30 และ 10 (ที่ดินเพาะปลูก แหล่งน้ำ นา และที่อยู่อาศัย) ซึ่งในการทำการเกษตรตามแนวทาง โคก หนอง นา โมเดล จะเริ่มต้นจากการขุดหนองน้ำก่อน ตามหลักให้สูตรไว้ว่า 30% ของพื้นที่ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ลุ่ม ก็ลดขนาดลงมาได้ หรือถ้าเป็นพื้นที่ดอน ก็สามารถเพิ่มขนาดได้เช่นกัน โดยให้พิจารณาจากสภาพภูมิประเทศเป็นหลัก

ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงให้คำแนะนำว่า เราควรขุดสระน้ำ ให้มีความลึกประมาณ 4 เมตรเพื่อให้มีน้ำพอเพียงสำหรับการทำการเกษตรตลอดทั้งปีและชดเชยอัตราการระเหยของน้ำ

เมื่อขุดหนองน้ำ จะนำดินไปสร้างเป็น “โคก” เพื่อเป็นพื้นที่ในส่วนที่อยู่อาศัย และการเพาะปลูก ตลอดจนเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ทั้ง วัว ควาย หมู เป็ด และไก่ ฯลฯ

คันนา…ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ จะใหญ่กว่าคันนาทั่วไป เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการปลูกพืชต่างๆ ด้วย

หลวงพ่อเล่าต่อไปว่า….ในการปลูกพืช ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงให้หลักการ “ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง”

ไม้ 3 อย่าง คือ 1. ไม้ใช้สอย ไม้โตเร็ว สำหรับใช้ในครัวเรือน เช่น สะเดา ไผ่ 2.ไม้กินได้ เช่น มะม่วง ผักกินใบต่างๆ และ 3.ไม้เศรษฐกิจ ได้แก่ ไม้ที่ปลูกเพื่อจำหน่าย เช่น ไม้สัก

ส่วนประโยชน์ 4 อย่าง คือ 1.ไม้ใช้สอย นำมาสร้างบ้าน ทำเล้าเป็ด เล้าไก่ ทำฟืน 2.ไม้กินได้ นำมาเป็นอาหารและยาสมุนไพร 3.ไม้เศรษฐกิจ นำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ และ 4.ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งการปลูกพืชที่หลากหลาย จะสร้างระบบนิเวศที่สมดุลให้กับพื้นที่

น้ำ คือ ชีวิต…..

การขุดหนองน้ำนั้น พระอาจารย์เล่าว่า….จะขุดเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ 1 แห่ง หรือหลายแห่งก็ได้ โดยมี คลองไส้ไก่ เป็นเส้นทางน้ำขนาดเล็ก เชื่อมต่อแหล่งน้ำทั้งหมดในพื้นที่เข้าด้วยกัน

มีการเปรียบเปรยหนองน้ำที่ขุดขึ้น ประดุจดัง “หลุมขนมครก” ซึ่งถ้าในท้องถิ่นนั้นๆ มีการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ 100 ครัวเรือน ก็จะมีหนองน้ำ หรือหลุมขนมครกอย่างน้อย 100 หลุม ที่นอกจากเป็นแหล่งกักเก็บน้ำแล้ว ยังช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้

ส่วนในเรื่องการทำนา และการปลูกพืชในพื้นที่ เพื่อบริโภคและนำผลผลิตไปขายสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรนั้น พระอาจารย์ได้กล่าวว่า …

…พื้นที่ทำนา 30% ที่ใช้ในการปลูกข้าว หลังจากเก็บเกี่ยว เราควรพักดินเพื่อให้เกิดการสะสมแร่ธาตุ ด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่ว หรือปลูกพืชหมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนกันไป

ในการเริ่มต้นทำการเกษตรตามหลัก โคก หนอง นา โมเดล พระอาจารย์กล่าวว่า สิ่งแรกที่เกษตรกรจะต้องปรับ ก็คือ “แนวคิด” จากที่เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นการเกษตรแบบผสมผสาน และไม่พึ่งพาสารเคมี

…ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม จะไม่สามารถทำหลักสูตรศาสตร์พระราชาได้เลย…

การทำเกษตรตามหลักทฤษฎีใหม่ จึงเป็นการกระจายความเสี่ยง เมื่อเกิดภัยน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตเสียหาย ที่ผ่านมาปรากฏว่าเกษตรกรที่ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ รอดได้ เพราะว่าเมื่อนาโดยน้ำท่วม ข้าวตาย แต่ไม้ผลยังอยู่ พืชที่อยู่บนโคกก็ยังพอมีอยู่

ส่วนในอนาคต มีความเป็นได้มากน้อยเพียงใด ที่เกษตรกรไทยจะนำแนวพระราชดำริ เกษตรทฤษฎีใหม่ ไปใช้กันอย่างแพร่หลายนั้น พระอาจารย์ได้แสดงความคิดเห็นดังนี้

การที่จะให้ทฤษฎีใหม่เเพร่หลายไปสู่เกษตรกรทั่วประเทศนั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวคิดที่เรียกว่า “บ-ว-ร” หมายถึง บ้าน วัด และราชการ หรือที่เรียกว่าระบบ 3 ประสาน ที่ต้องช่วยกัน

ผู้เขียน เคยได้ยินคำว่า “โคก หนอง นา” มาเป็นเวลานาน เมื่อได้อ่าน ได้ทำความเข้าใจ โดยการอธิบายแบบง่ายๆ ที่เป็นรูปธรรมจากพระอาจารย์และข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ก็ประจักษ์ชัดว่า คนไทยก็มิได้งอมือ งอเท้า ช่วยกันคิดหาวิธีการสำหรับการใช้ชีวิตของเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้

ส่วนการทำการเกษตรขนาดใหญ่ เพื่อการพาณิชย์ เป็นพัน เป็นหมื่นไร่ ก็มีวิธีการที่แตกต่างออกไป หรือ คนไทยที่อาศัยอยู่ในภูมิสังคมที่แตกต่างกัน ก็คงต้องประยุกต์วิธีการเอาเองนะครับ

โคก-หนอง-นา โมเดล เป็นการที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมี มนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบ เป็นแนวทางทำเกษตรอินทรีย์และการสร้างชีวิตที่ยั่งยืน

หลายปีที่ผ่านมา…เกิดภาวะที่เรียกว่า digital disruption แถมมีโรคระบาด มีการจ้างงานน้อยลง ทำเอาคนหนุ่มสาว หนุ่มใหญ่ สาวใหญ่ ตกงาน ชีวิตในเมืองอัตคัด แออัด ยัดเยียด ไม่น่าอภิรมย์

คนไทยจำนวนหนึ่งที่มีที่ดินของตนเอง ของบรรพบุรุษ ที่ดินถูกทิ้งให้รกร้าง …คนเหล่านี้ขอเปลี่ยนแนวทางชีวิต หวนคืนสู่บ้านเกิดเพื่อใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ทำการเกษตรหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวเป็นทางเลือก

เกษตรกรที่เคยใช้แนวทางเดิมๆ ในการทำการเกษตร เริ่มปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรตามแนวทาง “โคก หนอง นา โมเดล” มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ ประสบความสำเร็จมากบ้าง น้อยบ้าง แบบค่อยเป็นค่อยไป

ปัจจุบัน…มีหน่วยงานของรัฐ เอกชน มูลนิธิ ผู้อุทิศตน เป็นวิทยากรด้วยกายใจ จัดการอบรมให้ความรู้ต่อ ชุมชน สังคมไทยทั่วประเทศ เพื่อปลูกฝัง ความเข้าใจ ปรับเปลี่ยน ให้หันมามองลองใช้ โคก หนอง นา โมเดล

โดยสรุป การทำโคก หนอง นา คือการจัดแบ่งสัดส่วนพื้นที่ สำหรับทำเกษตรกรรมให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเอง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ที่มีอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเกษตรกรหลายคนที่ประสบความสำเร็จในการนำความรู้ไปลงมือปฏิบัติจริงมาแล้ว ทำให้พวกเขาสามารถดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาตนเองได้

โมเดล โคก หนอง นา ยังสามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งบนพื้นที่ของตัวเองได้จริงอีกด้วย

ไม่ว่าจะมีต้นทุนมากน้อยแค่ไหนก็ตาม การแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างหลากหลายกันออกไป

การแบ่งปันความรู้ต่างๆ และการเข้าร่วมเครือข่ายที่มากขึ้น จะทำให้ชุมชนเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีต้นแบบที่สำเร็จเพิ่มมากขึ้น ก็จะช่วยโน้มน้าวให้คนรุ่นใหม่หันมานำแนวทางนี้ไปใช้ปฏิบัติกันมากขึ้น

ผู้เขียนเห็นว่า โมเดลการใช้ชีวิต การทำมาหากินในแนวนี้ คือ ความเป็นจริงของชีวิต ที่เยาวชน สถาบันการศึกษาในทุกระดับ ต้องปลูกฝังให้คนไทย ..เป็นคัมภีร์ในการดำรงชีวิต….

เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงงาน ริเริ่ม ค้นพบ… โคก หนอง นา โมเดล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับปวงชนชาวไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image