ไทยพบพม่า : การเลือกตั้งเมื่อคราวห่าลง : ทิศทางการเมืองพม่าในปี 2021 โดย ลลิตา หาญวงษ์

ประชาชนเข้าคิวเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกตั้งยาวเหยียดในการเลือกตั้งปี 2015 (ภาพจาก International Foundation for Electoral Systems)

การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในพม่าเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในสัปดาห์นี้ ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสอง หลังพบผู้ติดเชื้อใหม่ 100 คนในวันที่ 6 กันยายน จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแตะสถิติที่ 120 คนในอีกไม่กี่วันต่อมา ทำให้ในปัจจุบันมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรวม 1,464 ราย และมีผู้เสียชีวิตรวม 8 ราย แม้ตัวเลขจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่การระบาดครั้งใหม่นี้ก็สร้างความปั่นป่วนให้การเมืองภายในประเทศมิใช่น้อย เพราะพม่ากำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในต้นเดือนพฤศจิกายนที่กำลังจะถึงนี้ ท่ามกลางการโหมกระพือข่าวว่าอาจมีการเลือกตั้งออกไปในบางพื้นที่ที่มีการระบาด แต่โอกาสที่รัฐบาลพม่าจะประกาศให้เลื่อนเลือกตั้งคงเป็นไปได้น้อย ในสัปดาห์นี้ ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และหัวหน้าพรรค NLD ยกเลิกการแถลงข่าวเพื่อเริ่มการรณรงค์หาเสียงของ NLD และยกเลิกการไปปรากฏตัวในเขตของเธอที่กอมุ (Kawhmu) ชานเมืองย่างกุ้งด้วย

ท่ามกลางความไม่แน่นอนในสถานการณ์ที่โรคโควิด-19 ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่แน่นอนและคาดเดาได้ไม่ยากคือการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 2 นี้จะมีผลกระทบกับสภาพการณ์และผลของการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงอย่างแน่นอน กรรมการการเลือกตั้งของพม่าเพิ่งออกข้อกำหนดการหาเสียงระหว่างการระบาดของโควิด-19 สำหรับพรรคการเมือง ซึ่งผลักให้ทุกพรรคต้องเน้นการหาเสียงออนไลน์เป็นหลัก และประชาชนที่ไปลงคะแนนเสียงก็ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดการรักษาระยะห่างทางสังคมและต้องสวมหน้ากากอนามัยด้วย

การกำหนดมาตรฐานการหาเสียงให้กับพรรคการเมืองเป็นประโยชน์กับพรรคใหญ่ โดยเฉพาะพรรค NLD ซึ่งเป็นพรรคหลักของรัฐบาล และพรรค USDP อันเป็นพรรคที่โปรกองทัพพม่า ที่มีทุนเพียงพอจะโฆษณาในสื่อยักษ์ใหญ่และสื่อออนไลน์ และยังมีสำนักงานทั่วประเทศ ความแน่นอนอีกอย่างหนึ่งคือพรรค NLD จะยังคงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อไป จริงอยู่ว่าในช่วงหลายปีมานี้ ภาพลักษณ์ของออง ซาน ซูจี ไม่ใคร่ดีนักในสายตาของชาวโลก แต่สำหรับชาวพม่า ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในประเทศ เธอยังเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้และการปลดแอกจากระบอบเผด็จการทหารที่ปกครองพม่ามาหลายสิบปี

อย่างไรก็ดี สำหรับคนบางกลุ่ม ออง ซาน ซูจี ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก หากไม่นับเรื่องการรับมือกับวิกฤตการณ์โรฮีนจา ที่ทำให้พม่าเป็นผู้ร้ายในสายตาชาวโลก พรรค NLD ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการบริหารและการแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆ เช่นกัน นอกจากประเด็นเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ยังมีเรื่องความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่กลับทวีความรุนแรงขึ้นในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2015 พรรค NLD ชนะแบบถล่มทลาย ทิ้งคู่แข่งจากพรรค USDP และพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ห่าง แต่ในการเลือกตั้งคราวนี้ NLD อาจไม่ได้ “ชนะขาด” เหมือนเดิม และคงจะสูญเสียคะแนนความนิยมจากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่น้อย พรรคตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น พรรค SNLD ของฉาน พรรค ANP ของอาระกัน TNP ของตะอาง และพรรค ZCD ของชาวโซมิจากรัฐฉิ่น น่าจะมีตัวแทนของตนเข้าไปนั่งในรัฐสภาเพิ่มขึ้น แต่เดิมกลุ่มชาติพันธุ์พร้อมใจกันลงคะแนนให้ NLD อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่ความผิดหวังในการบริหารงานของ NLD ในช่วงหลายปีมานี้จะยิ่งเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้ และการเลือกตั้งในอนาคต

Advertisement

ปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้นในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ก่อนการเลือกตั้งจะมาถึงเพียง 2 เดือนเหมือนจงใจ การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกนี้ก็เริ่มจากรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นสมรภูมิการสู้รบระหว่างกองกำลังฝ่ายรัฐบาลพม่า และกองทัพอาระกัน (Arakan Army หรือ AA) รัฐบาลมีมาตรการโต้ตอบกองทัพอาระกัน โดยการจำกัดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในรัฐยะไข่และรัฐฉิ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติการหลักกองทัพอาระกัน การระบาดของโควิด-19 ในรัฐยะไข่ ทำให้รัฐบาลออกคำสั่งให้ผู้ที่เดินทางมาจากภายนอกรัฐยะไข่ต้องกักตัว 14 วันในพื้นที่ที่รัฐจัดให้ แต่ก็เกิดปัญหาขึ้น เมื่อกองกำลังฝ่ายรัฐบาลบุกเข้าไปในหมู่บ้านหนึ่งในเมืองเจ้าก์ต่อ (Kyauktaw) ทางตะวันออกของรัฐยะไข่ ที่มีผู้กำลังกักตัวอยู่ 18 คน เพื่อถามหาทหารพม่านายหนึ่งที่เพิ่งจะหายตัวไป กองทัพพม่าออกมาแก้ข่าวว่าไม่ได้มีเจตนาจะรบกวนการกักตัวของประชาชน แต่อ้างว่ากองทัพอาระกันจับตัวทหารพม่ารายนั้นไป

ความรุนแรงยังรัฐยะไข่ยังคงเกิดขึ้น ฝ่ายกองทัพอาระกันก็กล่าวหาว่ากองทัพพม่าสังหารประชาชนชาวยะไข่อย่างต่อเนื่อง และการสู้รบที่ยังมีอยู่ทำให้ประชาชนต้องลี้ภัยไปอยู่ในที่ปลอดภัย ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองทัพอาระกันนี้ยิ่งทำให้การควบคุมโรคโควิด-19 เกิดขึ้นได้ยาก ประชาชนบางส่วนหลบนีออกจากรัฐยะไข่เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย และอาจทำให้โรคโควิด-19 แพร่กระจายได้เร็วขึ้นในอนาคตอันใกล้ ในปลายเดือนสิงหาคม ในช่วงเวลาเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 200 ราย และส่วนใหญ่อยู่ในเมืองซิตต่วย โดยไม่มีใครสามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดการระบายในรัฐยะไข่จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ประชาชนในรัฐยะไข่มองว่าพวกตนไม่ได้รับข่าวสารแจ้งเตือนเรื่องการระบาดที่ทันท่วงที เนื่องจากยังมีการจำกัดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2019 รัฐบาลสั่งให้บริษัทโทรคมนาคมทุกบริษัทปิดสัญญาณอินเตอร์เน็ตใน 8 เมืองในรัฐยะไข่ตอนเหนือ และรัฐฉิ่นตอนใต้ เพื่อสกัดกั้นความเคลื่อนไหวของกองทัพอาระกัน แต่ผลกระทบจากการปิดอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ที่อ่อนไหวแห่งนี้กลับสร้างปัญหาใหญ่ระดับชาติ และอาจเป็นปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้เกิดเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรวดเร็ว โดยเริ่มจากรัฐยะไข่ก่อนเป็นที่แรก

Advertisement

แม้บริษัทโทรคมนาคมจะอ้างว่าได้กลับมาเปิดสัญญาณอินเตอร์เน็ตตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแล้ว แต่สัญญาณอินเตอร์เน็ตกลับมีคุณภาพต่ำ และทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างที่ควรจะเป็น หากสถานการณ์ในรัฐยะไข่ยังเป็นเช่นนี้อยู่ ไม่ว่ารัฐบาลใหม่ที่ขึ้นมาจะเป็นรัฐบาล NLD ไม่ว่าออง ซาน ซูจีจะกลับมาเป็นผู้นำหรือไม่ ชะตากรรมของพม่าก็จะยังคงเป็นเหมือนเดิมที่เคยเป็นมา และการทำให้เป็นประชาธิปไตยที่เนิบช้านี้จะยิ่งกัดกร่อนความน่าเชื่อถือของพม่า และทำให้การพัฒนาในด้านอื่นๆ เป็นไปได้ยากขึ้นอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image