การจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ (ตอนที่ 2) : โดย ปรีดี พิศภูมิวิถี

การจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ (ตอนที่ 2) : โดย ปรีดี พิศภูมิวิถี

การจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ (ตอนที่ 2) : โดย ปรีดี พิศภูมิวิถี

รูปแบบที่ 2 เป็นการจัดรายการนำเที่ยวที่เปลี่ยนที่พักทุกวัน ซึ่งต้องใช้ระยะทางในการเดินทางมากกว่าแบบแรก โดยเดินทางจากจุดหนึ่งแล้วต่อไปเรื่อยๆ เป็นวงรอบ แล้วกลับมายังจุดเดิมในครั้งแรก การเดินทางแบบนี้มีข้อดีคือ นักท่องเที่ยวจะได้ความแปลกใหม่ของแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ในแต่ละแหล่งท่องเที่ยว เพราะการเปลี่ยนสถานที่พักทุกวันและอยู่อาศัยไม่ซ้ำกันย่อมทำให้ได้แวะเยี่ยมชมหลายเมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ แต่ก็ต้องแลกด้วยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าโรงแรมที่พักและอาจมีอุปสรรคในเรื่องความเบื่อหน่ายในระหว่างการเดินทาง

รูปแบบที่ 3 เป็นการจัดรายการนำเที่ยวที่คล้ายคลึงกับแบบที่ 2 แต่สถานที่ที่จะออกเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แต่ละแห่งจะแตกต่างกัน เพราะไม่ใช้เส้นทางเดียวกัน โดยข้อดีของการเดินทางรูปแบบนี้ คือไม่ต้องเสียเวลาเดินทางกลับมาจุดเริ่มแรกเพื่อเดินทางกลับ ลักษณะการเดินทางแบบนี้มักเป็นการเดินทางที่ใช้ระยะทางไกล และเสียเวลานานและอาจมีราคาสูง เพราะเป็นการเดินทางไปกลับคนละเส้นทาง แต่การเดินทางแบบนี้เหมาะที่จะประยุกต์ใช้กับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่เน้นแหล่งท่องเที่ยวตามยุคสมัยหรือตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ดังที่กล่าวเอาไว้แล้ว การจัดรูปแบบการท่องเที่ยวตามแนวทางนี้อาจประยุกต์จากตัวอย่างโปรแกรมการท่องเที่ยวนี้

ความหมายของการท่องเที่ยว

Advertisement

ใน ค.ศ.1963 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี องค์การสมาชิกองค์การท่องเที่ยวโลก (UNWRO หรือ UN Word Tourism Organization) ได้จัดการประชุมว่าด้วยเรื่องการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศขึ้น และกำหนดความหมายของการท่องเที่ยวเอาไว้ว่า การเดินทางใดๆ ก็ตามที่เป็นการเดินทางตามเงื่อนไขสากล 3 ประการ ดังนี้ (บุญเลิศ จิตตั้งวัฒนา 2548 : 11)

1.จุดหมายปลายทาง (Destination) คือ การเดินทางจากที่อยู่อาศัยปกติไปยังที่อื่นเป็นการชั่วคราวหรือช่วงเวลาหนึ่งแล้วเดินทางกลับ เช่น นักท่องเที่ยวเดินทางไปชมพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำบึงฉวาก จังหวัดสุพรรณบุรี แล้วเดินทางกลับภูมิลำเนา

2.การเดินทาง (Travel) คือ การเดินทางด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ถูกบีบบังคับหรือเพื่อสินจ้าง โดยมีการวางแผนการเดินทางจากสถานที่หนึ่งไปยังสถานที่หนึ่ง เช่น นักท่องเที่ยวซื้อโปรแกรมท่องเที่ยวไหว้พระเก้าวัดในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อทำบุญไหว้พระขอพร เนื่องในวันขึ้นปีใหม่

3.ความมุ่งหมาย (Purpose) คือ การเดินทางที่มีจุดหมายและวัตถุประสงค์ ที่มิใช่เพื่อประกอบอาชีพหรือหารายได้ โดยไม่จำเป็นว่าคนแต่ละคนจะต้องมีจุดมุ่งหมายในการเดินทางเพียงอย่างเดียว อาจมีมากกว่าหนึ่งจุดมุ่งหมายก็ได้ เช่น นักท่องเที่ยวเดินทางไปจังหวัดกระบี่ เพื่อไปดำน้ำและชมความสวยงามของท้องทะเลอันดามัน

นอกจากองค์การสมาชิกการท่องเที่ยวโลกแล้ว สมาคมระหว่างประเทศแห่งความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว (International Association of Scientific Experts in Tourism: IASET) ได้ให้ความหมายของการท่องเที่ยวไว้เช่นกันว่า การท่องเที่ยว หมายถึง การเดินทางจากที่อยู่ถาวรไปอีกที่หนึ่งเป็นการชั่วคราวและไม่เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมที่เป็นการหาเงิน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การท่องเที่ยวนั้นมีลักษณะที่สำคัญ 5 ประการด้วยกันคือ (บุญเลิศ ตั้งจิตวัฒนา 2548 : 11)

1) ท่องเที่ยวเป็นการเดินทางของผู้คนจากที่ที่เคยอยู่ถาวรไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น การเดินทางจากภูมิลำเนาจังหวัดตราดไปท่องเที่ยวสวนนก จังหวัดชัยนาท

2) การท่องเที่ยวจะต้องมีส่วนสำคัญหลัก 2 อย่างคือ การเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางและการพักค้างคืน เช่น การเดินทางไปพักแรมที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา

3) การเดินทางและการพักค้างคืนจะต้องไม่ใช่สถานที่อยู่หรือที่ทำงานประจำและในการทำกิจกรรมระหว่างพักจะต้องแตกต่างไปจากผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น การไปทำกิจกรรมก่อกองไฟกับเพื่อนชาวต่างชาติที่จังหวัดชลบุรี

4) การเดินทางไปจุดหมายปลายทางต้องเป็นการชั่วคราวในช่วงระยะเวลาอันสั้น หรือภายใน 180 วัน

5) จุดหมายปลายทางที่เดินทางไปนั้นจะต้องเพื่อการท่องเที่ยวหรือเยี่ยมเยือนเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการอยู่อาศัยอย่างถาวรหรือการไปทำงาน เช่น ไปเยี่ยมญาติที่ต่างจังหวัด

ทั้งนี้ การเดินทางดังกล่าวจะไม่ใช่การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว หากการเดินทางนั้นตั้งอยู่ในเงื่อนไข 6 ประการดังต่อไปนี้

1) การเดินทางเพื่อไปประกอบอาชีพหรือประกอบธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งในประเทศที่เดินทางไป ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้แรงงานชาวไทยเดินทางไปยังประเทศตะวันออกกลางเพื่อทำงานใช้แรงงาน

2) การเดินทางที่ผู้เดินทางตั้งใจจะไปตั้งถิ่นฐานถาวรในประเทศที่เดินทางไป ตัวอย่างเช่น หญิงชาวไทยเดินทางไปแต่งงานและใช้ชีวิตร่วมกันกับสามีที่ต่างประเทศ

3) การเดินทางเข้าไปประเทศใดประเทศหนึ่ง เพื่อปฏิบัติงานด้านการทูตหรือองค์กรระหว่างประเทศหรือเอกชนอื่นๆ โดยได้รับค่าจ้างตอบแทน เช่น นายกรัฐมนตรีเดินทางไปประเทศจีน เพื่อสานสัมพันธ์ไมตรีการค้าระหว่างประเทศ

4) การเดินทางข้ามพรมแดนไปทำงานนอกประเทศทุกวันเป็นประจำ เช่น แรงงานไทยที่อาศัยอยู่บริเวณแถบชายแดนไทย-กัมพูชา มีความจำเป็นที่ต้องเดินทางข้ามพรมแดนไทย-กัมพูชาทุกวัน เพื่อเข้าไปทำงานเป็นพนักงานโรงแรมที่อยู่บริเวณชายแดนประเทศกัมพูชา

5) การเดินทางผ่านโดยไม่แวะลง แม้ว่าการเดินทางจะอยู่ในอาณาเขตของประเทศหนึ่งประเทศใดเป็นเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง เช่น การที่นักท่องเที่ยวต้องแวะเปลี่ยนเครื่องบิน (Transit) เพื่อที่จะบินต่อเครื่องไปยังจุดหมายปลายทาง

6) การเดินทางที่ถูกบังคับให้เดินทาง ตัวอย่างเช่น ลูกชายไม่ชอบเที่ยวทะเล แต่โดนพ่อบังคับให้ไปด้วยกัน การไปครั้งนี้ไม่ถือเป็นการไปเที่ยวตามกฎของ UNWTO เพราะลูกโดนพ่อบังคับให้ไป และไม่ได้ไปด้วยความสมัครใจและสบายใจ

ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ให้ความหมายของการท่องเที่ยวไว้ว่า การท่องเที่ยว หมายถึง การเดินทางเพื่อพักผ่อน คลายความเครียด แสวงหาประสบการณ์แปลกใหม่ โดยมีเงื่อนไขว่า การเดินทางนั้นเป็นการเดินทางเพียงชั่วคราว ผู้เดินทางจะต้องไม่ถูกบังคับให้เดินทาง (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 2544 : 15) เช่น นักท่องเที่ยวเดินทางไปชมความสวยงามของทะเลหมอกที่ภูกระดึง จังหวัดเลย แล้วเดินทางกลับภูมิลำเนา

ตามแนวคิดของ แม็ค อินทอชและโกลด์เนอร์ (McIntosh & Goeldner 1986 : 147) ได้สรุปว่า การท่องเที่ยว หมายถึง ผลรวมของการปรากฏการณ์ต่างๆ และความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักท่องเที่ยวกับธุรกิจและบริการต่างๆ รวมทั้งรัฐบาลประเทศเจ้าภาพและประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องอยู่ในกิจกรรมหรือกระบวนการในการดึงดูดด้วยการให้การต้อนรับที่อบอุ่นแก่นักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยือน เช่น สวนผึ้งจังหวัดราชบุรี มีทรัพยากรท่องเที่ยวที่สวยงาม อีกทั้งการเดินทางสะดวกสบาย คนในท้องถิ่นต้อนรับอย่างเป็นมิตร รวมทั้งได้รับการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากรัฐบาล จึงทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การท่องเที่ยวหมายถึงการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากจุดหนึ่งไปจุดหมายปลายทางอีกแห่งหนึ่ง โดยการเดินทางนั้นมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการประกอบอาชีพ หรือหารายได้ และมิได้อาศัยอยู่อย่างถาวร

ความสำคัญของการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งนี้ สามารถจำแนกความสำคัญของการท่องเที่ยวได้ดังนี้

1.ความสำคัญทางเศรษฐกิจ การที่นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ นั้น ทำให้เกิดรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และเงินตราต่างประเทศที่ได้มานั้นมีส่วนช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับดุลชำระเงิน เช่น รายได้จากการท่องเที่ยวปี 2553 จำนวน 585,961.80 ล้านบาท (ห้าแสนแปดหมื่นห้าพันเก้าร้อยหกสิบเอ็ดจุดแปดสิบล้านบาท) (www.tourism.go.th) ซึ่งรายได้ที่ได้จากการท่องเที่ยวก่อให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนการกระจายรายได้สู่ประชากรท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง ทำให้ลดการเข้าเมืองของประชากรต่างจังหวัด เพราะการท่องเที่ยวทำให้เกิดการสร้างงาน การจ้างงาน ประชากรมีรายได้มากขึ้น รวมไปถึงลดการว่างงานในสังคมอีกด้วย พร้อมทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการผลิต การกระจายรายได้ การใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น จังหวัดระยอง มีการปลูกต้นทุเรียนเป็นจำนวนมาก จึงมีการแปรรูปทางการเกษตร เช่น ทุเรียนทอดกรอบ ทุเรียนกวน ทอฟฟี่ทุเรียน ทุเรียนแช่อิ่ม เพื่อนำไปเป็นสินค้าขายให้กับนักท่องเที่ยวอีกอย่างหนึ่ง และเป็นการเพิ่มรายได้ของผู้คนในท้องถิ่นอีกด้วย

ดังนั้น การที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมเยียนสถานที่ท่องเที่ยวแหล่งต่างๆ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ผู้คนมีรายได้มากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

ปรีดี พิศภูมิวิถี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image