การเมืองในอุดมคติ การเมืองที่ไร้ปฏิวัติ โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

“ระบบการเมือง” ในอุดมคติ ซึ่งรวมถึง “ระบบสังคม” ในอุดมคติเป็นสิ่งที่นัก “ปรัชญาทางการเมือง” พยายามค้นหาและเสนอเป็น “ความคิด” มาเป็นพันๆ ปี นักคิดในอดีต อาทิ ขงจื๊อ เล่าจื๊อ เม่งจื๊อ เพลโต อริสโตเติล ล็อกค รุสโซ ฯลฯ ต่างเสนอความคิดเห็นของตนเกี่ยวกับระบบการเมืองในอุดมคติ คาร์ล มาร์กซ์ ปรมาจารย์ทางลัทธิมาร์กซิสม์ ได้ทำนายถึงวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ในลักษณะเส้นตรง เริ่มต้นจากสังคมคอมมิวนิสต์ปฐมภูมิซึ่งวิวัฒนาการไปสู่สังคมทาส ฟิวดัล ทุนนิยม และในที่สุดก็จะกลายไป “สังคมนิยม” ซึ่งจะเป็นขั้นสุดท้ายของวิวัฒนาการ

คำทำนายของมาร์กซ์ถูกท้าทายโดยนักวิชาการสมัยใหม่ คือ ฟรานซิส ฟูกูยาม่า ซึ่งกล่าวว่า ประวัติศาสตร์มาถึงที่สุดแล้ว (The End of History) ซึ่งหมายความว่า “ประชาธิปไตยและระบบทุนนิยม” น่าจะเป็นระบบสุดท้ายของมนุษยชาติ นี่คือ ความเข้าใจของคนทั่วไปเกี่ยวกับของการถกเถียงของฟูกูยาม่า

เมื่อพูดถึงระบบการเมืองในอุดมคติ ซึ่งจะนำไปสู่ “สังคมในอุดมคติ” ด้วยนั้น ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นถึงการสร้างระบบซึ่งจะนำมาซึ่งความเสมอภาคระหว่างมวลสมาชิกโดยมวลสมาชิกจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุดจะต้องมีการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในฐานะประชาชน ความพยายามที่จะค้นหา “ระบบ” ดังกล่าวนี้ยังดำเนินมาถึงปัจจุบัน และแม้ประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย ก็ยังต้องพยายามปรับปรุงระบบของตนเองด้วยการ “ปฏิรูป” เพราะไม่มีระบบใดที่มีลักษณะสมบูรณ์แบบ และเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งมีการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ยังมีการละเมิดกฎหมาย มีการ
กระทำที่ขัดต่อหลักนิติธรรม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุง “กฎหมาย” และ “ระบบราชการ” โดยเฉพาะการปฏิบัติงานเป็นครั้งคราว ในส่วนที่เกี่ยวกับระบบการเมืองในอุดมคติซึ่งจะนำไปสู่สังคมในอุดมคตินั้น ในเบื้องต้นจะต้องเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับความเป็นจริง มิฉะนั้นจะกลายเป็นฝันลมๆ แล้งๆ ตัวอย่างเช่น การพูดถึงความเสมอภาคอย่างสมบูรณ์แบบในระบบคอมมิวนิสต์นั้น ก็คือ การที่ดึงให้ทุกคนมีความยากจนเท่าเทียมกันหมด และในขณะเดียวกันผู้กุมอำนาจรัฐก็ไม่ได้เสมอภาคกับผู้ใช้แรงงานและชาวนา ดังนั้น

สังคมที่มีความเสมอภาค จะต้องเป็นสังคมที่พูดถึงความ “เสมอภาคภายใต้กฎหมาย” และ “ความเสมอภาคทางการเมือง” มิใช่ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจหรือฐานะทางสังคม ซึ่งต่างกันด้วยการวัดตามความสามารถและความขยันขันแข็ง ถ้านาย ก ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง และ นาย ข ทำงานวันละ 2 ชั่วโมง ในลักษณะงานเดียวกันจะให้มี ความเสมอภาคในแง่รายได้ ย่อมเป็นความไม่ยุติธรรม หรือ นาย ก มีสติปัญญาดีกว่า ศึกษาจนจบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต จะให้มีฐานะทางสังคม ตำแหน่งงานและรายได้เท่ากับ นาย ข ซึ่งจบเพียง ป.6 คงเป็นเรื่องผิดมาก ดังนั้น ระบบการเมืองและสังคมในอุดมคติจะต้องคำนึงถึง “ความเป็นจริง” และความรู้สึกของมนุษย์ในเรื่อง “ความยุติธรรม” นอกเหนือจากนั้นจะต้องคำนึงถึงสิ่งชั่วช้า 2 ประการ ที่อยู่ในสังคมที่ไม่ดี ให้แก่ “ความเขลา” และ “ความจน”

Advertisement

“ความเขลา” ไม่ใช่ “ความโง่” แต่เกิดจากการขาดข้อมูลและความรู้ และ “ความจน” เพราะมี “รายได้น้อย” ทั้ง 2 นี้ “ความชั่วแฝด” ซึ่งจะต้องขจัดให้สิ้นไปจากสังคมอุดมคติ คนที่ไร้การศึกษาก็ย่อมจะมีความเขลา รายได้ย่อมไม่ดีก็จะนำไปสู่ความยากจนทำให้โอกาสการศึกษาเล่าเรียนมีน้อย ซึ่งก็จะนำไปสู่ ความเขลา และผลสุดท้ายชีวิตก็จะวนเวียนอยู่วงจรอุบาทว์ของ “ความเขลา” และ “ความจน” แต่อย่างไรก็ตาม “ความเจ็บไข้ได้ป่วย” ก็ยังอยู่ในวงจรอุบาทว์ คือ “เจ็บ จน โง่” ต้องระลึกเสมอว่าอาจเกิดขึ้นได้เสมอว่า ไม่ว่าจะเป็นโรคไม่ติดต่อ หรือโรคติดต่อ ที่ประเทศไทยเราแม้ว่าจะมีการดำเนินสาธารณสุขมูลฐาน ครอบคลุมมีคุณภาพดีแล้วก็ตามอย่างเห็นได้ชัดๆ กรณีโรคอุบัติใหม่ ที่เกิดทางระบบหายใจที่เรียกว่า โรคไวรัสโควิด-19 ยังคร่าชีวิต ระบาดไปทั่วโลกมากกว่า 200 ประเทศ โรคระบาดผู้ป่วยรายใหม่เกือบ 25 ล้านคน เสียชีวิตเกือบ 1 ล้านคนแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยของเรา ซึ่งว่างเว้นจากการระบาดครั้งแรกของประเทศเรา คือ กลางเดือนมกราคม 2563 ถึงกันยายน 2563 รวม 9 เดือน ระบาดรุนแรงช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน ว่างเว้นมา 100 วันเศษก็พบเคสใหม่ ประมาณปลายสิงหาคม-ต่อกันยายน 2563 เป็นชาวไทย อายุ 37 ปี เป็นดีเจ ข้อดีคือ การทำงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยทีมระบาดวิทยา ได้มีการเฝ้าระวังติดตามสอบสวนโรคอย่างรีบด่วน ซึ่งผู้เขียนเองขอให้กำลังใจทีมงานของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานเร่งรีบดำเนินการน่าจะควบคุมได้อย่างแน่นอน แต่ก็ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการทุกแขนง ตลอดประชาชนของให้ปฏิบัติตนใส่ใจตระหนักอนามัย “ส่วนบุคคล” ด้วยมาตรการที่รณรงค์มาตลอดไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง กินร้อนช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาด และการมีอาการทางระบบหายใจ เช่น ไอ จาม มีไข้ต่ำๆ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและให้การป้องกันรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ที่ผู้เขียนร่ายยาวมาหน่อยก็เพื่อจะถึงจุดที่ว่าแม้ประเทศไทยเรามีประชากรเพียง 66 ล้านคน ปัญหาจากภาวะ “เจ็บ” ด้วย “โรคโควิด-19” ด้วยมาตรการ “Shut down” บ้านเมืองจากระดับประเทศสู่จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ตลอดจนแหล่งประกอบการต่างๆ ได้ครอบคลุมประชากร 66 ล้านคน ซึ่งเมื่อโรคระบาดแล้วทุกคนก็เป็นกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสต่อการติดเชื้อโรคได้ และผลกระทบที่เป็นมหากาพย์ คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย คนตกงานไม่มีงานทำ ทุกคนต้องอยู่บ้าน การคมนาคม การติดต่อระหว่างประเทศ ระหว่างเมืองในประเทศหยุดตามมาตรการเคอร์ฟิว ประเทศไทยต้องกู้เงินมาดูแลช่วยเหลือทุกอาชีพทุกกลุ่มวัย ยากดีมีจน รัฐบาลดูแลหมด จนเกิดภาวะ “วิกฤตเศรษฐกิจ” และที่สำคัญความเชื่อมโยงปัญหาวิกฤตต่างๆ ที่หนีไม่พ้นตามมาที่เห็นในปัจจุบัน คือ “วิกฤตการเมือง” อย่างไรก็ตาม แต่วงจรอุบาทว์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนยุค “ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม” หรือยุคก่อนที่ประเทศเราจะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ คือ “โง่ จน เจ็บ” ถึงศตวรรษที่ 21 วงจรอุบาทว์นั้นก็ยังเห็นและพบอยู่ถึงปัจจุบัน และภาวะโรคโควิด-19 ยังจะอยู่กับเราไม่ต่ำกว่า 2-5 ปี แล้วประเทศไทยเราจะเป็นอย่างไร? ต่อไป

“สังคมในอุดมคติ” ที่น่าจะเสนอ ก็คือ สังคมที่ดีมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

Advertisement

ประการแรก สังคมนั้นจะต้องเป็นสังคมซึ่ง “คน” มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำที่สุด สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ กล่าวคือ คนคนนั้น ต้องสามารถที่จะยืนตัวตรงไม่ต้องก้มหัวให้ใคร มีความภูมิใจในชาติกำเนิด ในวัฒนธรรมและมรดกของประวัติศาสตร์ของเรา ขณะเดียวกันก็พอใจกับสภาวะที่เป็นอยู่ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง แต่ที่สำคัญที่สุด ก็คือ คนผู้นั้นแม้จะมีเศรษฐกิจต่ำสุดต้องมีปัจจัยที่อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตเพื่อยังชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี อันได้แก่ ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค

ประการที่สอง “สิทธิเสรีภาพ” เสมอภาค ภราดรภาพของบุคคลนั้นจะต้องมีการประกันโดย “รัฐธรรมนูญและการบังคับกฎหมาย” กล่าวคือ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีชาติกำเนิด เพศ ศาสนา และอาชีพใด แม้ผู้พิการต้องได้รับการคุ้มครอง โดย “รัฐธรรมนูญ” อย่างเท่าเทียมกัน เป็นธรรม และยุติธรรมอย่างแท้จริง โดยผู้นำหรือ “คนใช้กฎหมาย” ด้วยจิตใจที่มีคุณธรรมจริยธรรมที่ดีงามให้ความเป็น “ธรรม” กับ “ประชาชน”

ประการที่สาม บุคคลผู้นั้นและลูกหลานของบุคคลผู้นั้นต้องมีโอกาสขยับชั้นทางสังคม เปลี่ยนฐานะจากต่ำไปสู่สูงโดยมีโอกาสเท่าเทียมกันกับคนอื่นในการเข้าถึงการศึกษา การสาธารณสุขการมีงานทำซึ่งต้องจัดให้มีขึ้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในกรณีนี้ “รัฐธรรมนูญ” ฉบับที่ผ่านๆ มา ได้ระบุไว้ว่า บุคคลมีสิทธิรับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ประเด็นสำคัญก็คือ โอกาสที่เท่าเทียมกันที่จะได้รับการศึกษาและการว่าจ้างแรงงาน และจากการศึกษาก็จะนำไปสู่การทำลาย “ความเขลา ความเจ็บ” มีสุขภาพดี ซึ่งจะเปิดโอกาสให้มีการประกอบอาชีพที่ดีกว่าเดิม มีรายได้ต่อหัว มีรายได้ต่อครัวเรือน มีรายได้ของประเทศชาติดีขึ้น นั้นคือ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ก็จะมีส่วนบรรเทาความจนลงได้ในที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีโครงการต่างของรัฐบาลอื่นๆ ที่ผ่านมา นอกจากโครงการ “ประชารัฐ” ยังมี โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นความพยายามยกฐานะของประชาชนให้ดีขึ้นโดยเฉพาะการยกเศรษฐกิจของระดับหมู่บ้านให้ดีขึ้น ฯลฯ ความหลากหลายโครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือของ “ประชาชน บ้าน วัด โรงเรียน” และภาครัฐและท้องถิ่นเป็นความพยายามในการสร้างหรือจุดประกายเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ “สังคมในอุดมคติ”

“การเมืองในอุดมคติ” นอกจากจะมีขึ้นในระดับชาติ เช่นการมี ส.ส. ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง ที่ดีมีคุณภาพหรือไม่จะเป็น “ต้นแบบ” เป็นพ่อไก่ แม่ไก่ ให้ “ลูกไก่” ซึ่งนั่นก็คือ ในการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ และโดยเฉพาะการเลือกตั้งนายก อบจ. นายก อบต. นายกเทศมนตรี และเทศบาล โดยตรงตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ฉบับล่าสุด หรือก่อนหน้านี้ทำให้เกิดการไหลเข้าสู่กระบวนการปกครองส่วนของท้องถิ่นด้วยการเลือกตั้ง โดยตรงอย่างเป็นพลวัต ซึ่งได้แก่ 7,000 กว่า อบต. กว่า 1,000 เทศบาล และ 75 อบจ. 1 กทม. พัทยา ทั้งหลายทั้งปวง ดังกล่าวนี้ทำให้เกิดข้อคิดว่า…

หน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นน่าจะรวมตัวกันถกคิดการวางแผนพัฒนาของ “จังหวัด” เป็นภาพส่วนรวมทั้งจังหวัดด้วยประสานบูรณาการเพื่อให้สามารถผลิตวัสดุที่จะสอดคล้องกับปัจจัยสี่ที่กล่าวถึงอันได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และโรงพยาบาลจังหวัด

ในส่วนการศึกษานั้น ในขณะที่ฝ่ายรัฐมีภารกิจในการจัดการศึกษาให้กับประชาชนศึกษาเล่าเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 12 ปี องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถต่อยอดนโยบายดังกล่าวได้โดยการจัดให้มีวิทยาลัยชุมชน 2 ปี โดยผู้จบการศึกษาจนจะได้ระดับ “อนุปริญญา” จะเป็นด้านวิชาชีพ และสามารถต่อได้ถึงจบระดับปริญญาตรี โดยส่วนราชการจัด “ทุนการศึกษา” ให้หมายความว่าลูกหลานเรามีโอกาสทางการศึกษาได้ถึง 14-16 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดังนั้น ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีก็น่าจะมีโอกาสเล่าเรียนเพื่อประกอบอาชีพเพิ่มรายได้ ยกฐานะส่วนตัว ครอบครัว ชุมชน และสังคมให้สูงขึ้น

ระบบการเมืองในอุดมคติและสังคมในอุดมคติมีคุณลักษณะ 3 ข้อใหญ่ๆ ที่กล่าวมาแล้ว จะมีส่วนทำให้วงจรอุบาทว์ 3 ประการ อันได้แก่ “ความเขลา ความจน ความเจ็บ” หายไปจากสังคมและจะนำไปสู่การพัฒนาระบบการเมืองและสังคมซึ่งจะสอดคล้องกับระบบการเมืองในอุดมคติ และสังคมในอุดมคติ ไงเล่าครับ

อนึ่ง “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ แถลงต่อรัฐสภา เริ่มจากแต่งตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาปัญหาและหลักเกณฑ์แก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 49 คน แบ่งเป็นโควต้า ครม. และพรรคร่วมรัฐบาล 31 คน โควต้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน 18 คน โดยมี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ใช้เวลาศึกษานานถึง 6 เดือน ได้พบ “ความจริง” ว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ฉบับนี้มีปัญหาจริงๆ เห็นควรยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ใช้แทนรัฐธรรมนูญ “ฉบับหน้าปกประชาธิปไตยไส้ในเผด็จการ” และล่าสุดที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเอกฉันท์เห็นชอบผลการศึกษาและข้อเสนอ 8 ข้อ ของคณะกรรมาธิการทั้ง 8 ประเด็น คือ 1.เห็นชอบให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญแทนฉบับปัจจุบัน 2.เห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ “เกือบ” ทั้งฉบับ ยกเว้น หมวดที่ 1 บททั่วไป หมวดที่ 2 เกี่ยวข้องกับสถาบันชั้นสูงสุด ยังคงไว้ตามเดิม 3.ให้ยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน 4.ยกเลิกเงื่อนไขให้ ส.ว. 250 คน ร่วมโหวตแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี 5.ให้ยกเลิกหมวดการปฏิรูปประเทศและแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี 6.ให้โละทิ้งระบบเลือกตั้ง ส.ส. แบบพิสดารกลับไปใช้ระบบเดิม บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ให้มี ส.ส. 500 คน เป็น ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน 7.ให้โละทิ้งสูตรพิสดารคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 8.เพิ่มหลักเกณฑ์ให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ “องค์กรอิสระ” และ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เพื่อเป็นหลักประกันป้องกันให้เกิดความเป็นกลางแก่คู่กรณี…

ทั้งหมดต้องชมคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ที่กล้าแสดงความจริง กล้าพูดและยอมรับความจริง เมื่อ “รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาเป็นนโยบายเร่งด่วน” และความจริงปรากฏ 8 ประเด็น เพื่อรักษา “สัจจะ” ทางสังคมและการเมือง ควรต้องดำเนินการปรับแก้เพื่อให้เกิด “ระบบการเมืองในอุดมคติ” ประชาชนคนไทย 66 ล้านคน จะขอบพระคุณล่วงหน้า “อย่าปฏิวัติเลย” ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image