สถานีคิดเลขที่ 12 : ต้นทุนเวลา

สถานีคิดเลขที่ 12 : ต้นทุนเวลา นักการเมืองที่ผู้คนจำได้ดีเวลาพูดถึงประเด็น

สถานีคิดเลขที่ 12 : ต้นทุนเวลา

นักการเมืองที่ผู้คนจำได้ดีเวลาพูดถึงประเด็น “เวลาเป็นต้นทุนราคาแพง” คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ตอนนั้นปี 2556 ชัชชาติยังเป็นรัฐมนตรีคมนาคม พยายามให้ข้อมูลโน้มน้าวว่าทำไมประเทศไทยต้องยกระดับปรับโครงสร้างการคมนาคมขนส่งภายใต้ พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท

เงิน 2 ล้านล้านช่วงเวลานั้นฟังแล้วสูงมาก แต่ชัชชาติบอกว่า ต้นทุนที่แพงที่สุดไม่ใช่เงิน แต่คือเวลา

Advertisement

หลายๆ คนฟังแล้วก็พอนึกภาพออก โดยเฉพาะตอนนี้เมื่อนึกถึงโครงการรถไฟไฮสปีดที่ตั้งต้นตั้งแต่ตอนนั้น ถ้าเดินหน้าต่อได้ตามกำหนด ปี ค.ศ.2020 ก็จะเสร็จสักหนึ่งสายแล้ว

แต่นับจากการเป่านกหวีดปลายปี 2556 จนผ่านรัฐประหาร 2557 มาถึงวันนี้ นอกจากเสียต้นทุนเวลาไปมหาศาล หาอะไรมาคืนทุนไม่ได้แล้ว ก็อย่าได้คิดหากำไร

กรณีล่าสุดที่ราชการยังจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุและคนพิการไม่ตรงเวลา แต่มีข้าราชการบอกว่า ไม่อยากให้มองโลกในแง่ร้ายว่า รัฐบาลมีปัญหาเรื่องงบประมาณ เพราะจริงๆ เป็นการจ่ายที่ล่าช้าแค่อาทิตย์เดียว

Advertisement

ประเด็นนี้การมองแง่ร้ายก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ที่พูดว่าจ่ายล่าช้าแค่อาทิตย์เดียวเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงว่า ฝ่ายราชการไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องเวลาของประชาชนเท่าไรนัก

อาจเพราะนึกไม่ออกว่า การที่คนเราไม่มีเงินหนึ่งสัปดาห์หมายถึงอะไร เดือดร้อนลำบากเพียงใด โดยเฉพาะคนที่พึ่งพาเงินก้อนนี้ทุกเดือน และทุกวันที่ 10 ของเดือน

ถ้าจะให้เข้าใจเรื่องจังหวะเวลาว่ามีความสำคัญมากเพียงใด คนทุกอาชีพจะตอบเรื่องนี้ได้

เช่น เชฟที่ทำอาหารอร่อย ย่อมรู้ว่าการผัด ทอด นึ่ง จะเสียเวลาไปแม้แต่นาทีสองนาทีไม่ได้ เพราะรสชาติอาหารจะเปลี่ยนทันที

นักฟุตบอลที่มุ่งมั่นทำประตู พอมีจังหวะที่เพื่อนโยนบอลมาให้สับไกแล้ว ถ้าช้าแม้แต่เสี้ยววินาที จะถูกคู่แข่งเข้าสกัดแน่นอน

หรือแม้คนทำข่าวออนไลน์ ต่างรู้ว่าถ้านำเสนอข่าวด่วนช้าไปเพียงนาทีเดียว ก็มีสิทธิเสียโอกาสแชร์ข่าวให้เข้าถึงผู้อ่านจำนวนมหาศาล

หากขยับมาดูกรณีใหญ่ๆ ทางการเมือง จะเห็นได้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางการเมืองอย่างกว้างขวาง บางประเทศเลื่อนการเลือกตั้ง และบางประเทศไม่เลื่อน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลที่ต้องดูความได้เปรียบด้วย

อย่างเกาหลีใต้ไม่เลื่อนจัดเสร็จไปเรียบร้อย ฝ่ายรัฐบาลคว้าชัยได้ทันก่อนการระบาดรอบสอง ส่วนฮ่องกงขอเลื่อนเลือกตั้งท้องถิ่น อ้างว่าโควิดกลับมาระบาดรอบสองรอบสามอีก ท่ามกลางกระแสมวลชนไม่พอใจรัฐบาลขึ้นสูง

ด้านเมียนมาจะมีเลือกตั้งทั่วไปเดือนพฤศจิกายนนี้เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาเลือกประธานาธิบดี ทั้งสองประเทศยังไม่มีแนวโน้มว่าจะเลื่อน

สำหรับญี่ปุ่นไม่ต้องเลือกตั้งใหญ่ แต่ต้องเลือกผู้นำใหม่ กระบวนการต่างๆ เป็นไปตามกำหนดเหมือนทุกครั้ง ไม่ช้าไม่เร็วจนเกินไป

ปิดท้ายที่ไทยแลนด์ รัฐมนตรีคลังลาออกตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ผ่านมาครึ่งเดือนรัฐบาลยังหาคนมาแทนไม่ได้ ทั้งที่เศรษฐกิจมีเรื่องใหญ่ให้ตัดสินใจ และดำเนินการหลายเรื่อง

ยิ่งเมื่อมาเจอผู้ชุมนุมเยาวชนประกาศว่า “ให้มันจบที่รุ่นเรา” ยิ่งเห็นได้ว่าการให้ความสำคัญกับ “ต้นทุนเวลา” ยังต่างกันมาก

คงจะชินกับการแช่แข็งนั่นแล

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image