คุณภาพคือความอยู่รอด : Disruption ด้วย QCC

คุณภาพคือความอยู่รอด : Disruption ด้วย QCC : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพคือความอยู่รอด : Disruption ด้วย QCC : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

พวกเราต่างเคย “disrupt ตัวเอง” อย่างไม่รู้ตัวมานานแล้ว เพราะเราต่าง “เรียนรู้” จากการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ (ทำให้วิธีทำงานแบบเก่าถูกแทนที่ด้วยวิธีทำงานแบบใหม่)

หลายท่านยังเคย disrupt ตัวเองจากการปรับปรุงนิสัยและพฤติกรรมตนเองด้วยซ้ำไป (เพราะนิสัยเดิมที่ไม่ดีถูกเลิกทิ้งไปโดยนิสัยใหม่ที่ดีกว่ามาแทนที่)

ว่าไปแล้ว กิจกรรม QCC จึงไม่เพียงแต่ปรับปรุงงานให้ดีขึ้น หรือแก้ปัญหาในองค์กรเท่านั้น แต่ยังทำให้คนในองค์กรได้พัฒนาตนเองดีขึ้นด้วย (ทำงานอย่างมีคุณภาพมากขึ้น เร็วขึ้น) ฯลฯ เพราะ “หลักการ” และ “วิธีการ” ในกิจกรรม QCC

Advertisement

อานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกิจกรรม QCC ก็คือ การพัฒนาบุคลากร การสร้างพวกเราทุกคนให้คิดเป็น ทำเป็น และทำให้เรากล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ กล้าฝันในสิ่งที่เราอยากปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือทำให้เกิดขึ้นด้วย

การทำกิจกรรม QCC ได้ฝึกฝนและพัฒนาพวกเราให้สามารถปรับปรุงงานและแก้ปัญหาในที่ทำงานได้โดยการร่วมด้วยช่วยกันของกลุ่ม (ทีม)

ทุกวันนี้ การปรับปรุง (งาน สินค้า บริการ) ที่สำคัญที่สุด ก็คือ การปรับปรุงโดยการเรียนรู้ ณ ที่ทำงาน (ถือว่าที่ทำงานเป็นแหล่งเรียนรู้)

การปรับปรุงให้ดีขึ้น อาจทำได้หลายวิธี อาทิ โดยการเรียนรู้จากผู้รู้จริง เรียนรู้จากอาจารย์ เรียนรู้จากหนังสือ เรียนรู้จากการลงมือทำ เรียนรู้จากเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น

กิจกรรม QCC มักจะเป็นการปรับปรุงทีละเล็กทีละน้อย จนทำให้เราสามารถปรับปรุงหรือแก้ปัญหาเรื่องใหญ่ๆ ต่อไปได้

ผมเชื่อว่า ในโลกนี้ไม่มี “นวัตกรรม” ใดๆ เลยที่ไม่ได้เกิดจากการปรับปรุงหรือเรียนรู้จากที่ทำงาน

พูดง่ายๆ ว่านวัตกรรมแทบทุกเรื่อง เกิดจากการปรับปรุง ปรับปรุง ปรับปรุงจนกว่าดีขึ้น ปรับปรุงแล้วเรียนรู้ไปเรื่อยๆ จนบรรลุเป้าหมายหรือได้คำตอบที่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้

เมื่อเราเรียนรู้ที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นๆ อย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งเราก็จะ “ปิ๊ง” คือ ปิ๊งกับการค้นพบคำตอบ หรือสิ่งใหม่ๆ บ่อยครั้งถึงกับต้องทุบโต๊ะร้องว่า “โง่มาตั้งนาน เพิ่งจะรู้ว่าไม่ต้องทำแบบนี้ก็ได้ หรือต้องทำแบบนี้นี่เอง” จึงคล้ายๆ ที่เราเรียกกันว่า Disrupt ในปัจจุบัน คือ การ Disrupt ตัวเอง เพราะค้นพบของใหม่ (วิธีทำใหม่) ทำให้ของเก่าหมดอายุ หมดความสำคัญไปโดยปริยาย และกลายเป็น “นวัตกรรมใหม่”

ส่วนกรณีที่ผู้คนพูดกันติดปากว่า “QCC เกิดที่อเมริกา โตที่ญี่ปุ่น แต่มาตายในเมืองไทย” นั้น ก็คงจะไม่จริง แต่ที่ตายมักจะเป็นการตายแบบผ่อนส่ง เพราะหลายองค์กรรับเอาเฉพาะ “วิธีการ” แต่ไม่ได้รับเอา “จิตวิญญาณ” ของการทำงานแบบคนญี่ปุ่น ที่มีความละเอียดรอบคอบ ทุ่มเท และมุ่งสู่ความเป็นเลิศอย่างจริงจังด้วยหลักการ “ไคเซ็น” (Kaizen) ที่มุ่งเน้นการปรับปรุงให้ดีขึ้น

ณ วันนี้ อย่าว่าแต่ QCC ที่ไม่มีกฎหมายรองรับเลย ขนาด ISO 9001 (QMS) หรือ 14001 (EMS) หรือแม้แต่ 45001 (H&SMS) หลายองค์กรก็มักทำเพียงเพื่อให้ได้ “ใบรับรอง” เท่านั้น โดยไม่ได้มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศแต่อย่างใด

ทุกวันนี้ จึงได้แต่เสียดายพวกที่เคยบินโฉบเข้ามาสู่วงจรของ QCC แบบฉาบฉวย แล้วก็รีบบินจากไปยัง “มุมสบาย” (Comfort Zone) แบบที่ถนัดและยกเป็นข้ออ้างเพื่อจะไม่ทำ QCC ครับผม !

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image