จิตวิวัฒน์ : ความหวัง แช่แข็ง

จิตวิวัฒน์ : ความหวัง แช่แข็ง : โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

จิตวิวัฒน์ : ความหวัง แช่แข็ง : โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

ผมได้มีโอกาสชมสารคดี Hope Frozen ของคุณไพลิน วีเดลเรื่องเกี่ยวกับคุณพ่อที่แช่แข็งลูกสาวเอาไว้ด้วยกระบวนการแช่แข็งไครโอเจนิกส์ เนื่องจากลูกสาวอายุเพียง 2 ขวบป่วยเป็นโรคมะเร็งสมองชนิดที่ร้ายแรงที่สุดในโลก สารคดีเรื่องนี้ได้ตั้งคำถามในแง่จริยธรรม ปรัชญา และสารัตถะของการใช้ชีวิตอย่างน่าสนใจ และเป็นแง่มุมที่ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยครั้งนักในสารคดีของไทย ล่าสุดได้ทราบว่าสารคดีนี้ได้รับรางวัลระดับโลกจากประเทศแคนาดาอีกด้วย

คำถามที่ผมว่าน่าสนใจในมุมมองของปรัชญาและจริยธรรมทั่วๆ ไปก็คือ ใครควรจะมีสิทธิในการตัดสินว่าผู้ป่วยควรจะจากโลกนี้ไปอย่างไร และถ้าผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นผู้เยาว์ พ่อแม่หรือผู้ปกครองตามกฎหมายมีสิทธิตัดสินใจแทนเขาหรือไม่? และจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากว่าการจากไปครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการเสียชีวิตธรรมดา แต่เป็นการแช่แข็งเอาไว้ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถเก็บรักษาเนื้อเยื่อในร่างกายไม่ให้เสื่อมสลายไป และรอเวลาที่เทคโนโลยีทางการแพทย์จะก้าวหน้าจนสามารถรักษาโรคดังกล่าวได้

หรือในทางเทคนิคกล่าวได้ว่าเขาไม่ได้จากเราไปไหนเลย!

Advertisement

สมควรหรือไม่ ที่เราจะหยุดเวลาของใครสักคนเอาไว้? และเรามีสิทธิมากน้อยแค่ไหนที่จะทำอย่างนั้น??

แต่ในเชิงจิตวิวัฒน์ เราอาจจะต้องพาการสนทนาไปไกลกว่านั้น เป็นต้นว่า ในกระบวนการเก็บรักษาร่างกายไว้ให้คงสภาพอย่างดีที่สุดเท่าที่เทคโนโลยีปัจจุบันจะทำได้ มันสามารถที่จะเก็บรักษาในส่วนที่เป็น “จิต” เอาไว้ได้หรือไม่? พูดง่ายๆ ก็คือในแง่ของเมตาฟิสิกส์ไม่ว่าจะเป็นจิตสำนึก หรือความทรงจำจะถูกเก็บเอาไว้ได้หรือไม่

ในปี 2019 นักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน Allen Institute ที่ศึกษาวิจัยเรื่องสมองในซีแอตเทิล สามารถทำแผนที่การเชื่อมต่อนิวรอน หรือคอนเนคตัม ในสมองหนูในขนาด 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร ได้สำเร็จ ซึ่งข้อมูลที่ต้องเก็บนั้นมีมากมายมหาศาลในระดับ 2 เพทราไบต์ (PB) หรือ 2 ล้านกิกาไบต์ (GB) ซึ่งข้อมูลในระดับนี้ยังมากกว่าข้อมูลที่ส่งมาจากดาวเทียม Landsat ของนาซาในเวลา 30 ปี ซึ่งมีปริมาณเพียง 1.3 เพทราไบต์เท่านั้น และต่อมาในปี 2020 นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันโฮวาร์ด ฮิวจ์ ก็สามารถทำแผนที่นิวรอนของส่วนเฮมิเบรน ซึ่งมีขนาด 1/3 ของสมองทั้งหมดของแมลงวันได้สำเร็จ ซึ่งได้เคยมีการประเมินว่าถ้าหากใช้คน 250 คน ทำงานนี้ด้วยมือต้องใช้เวลาถึง 20 ปี เพื่อที่จะทำแผนที่นิวรอนของสมองแมลงวันตัวกระจิดริด

Advertisement

คอนเนคตัมนี้เองเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า มันเป็นโครงสร้างส่วนที่เก็บรักษาความทรงจำของเราไว้ มนุษย์เราจะเป็นใครถ้าหากปราศจากความทรงจำ? ถ้าปราศจากบุคลิกภาพ ตัวตน นิสัย และหลายสิ่งหลายอย่างที่บอกว่าเราเป็นเรา เราจะพูดได้อย่างเราว่าเราคือตัวเราที่เราเป็น และถ้าหากวันหนึ่งเราสามารถทำแผนที่คอนเนคตัมของสมองมนุษย์แต่ละคนได้ เราจะสามารถจำลองจิตสำนึกของเราขึ้นมาโดยปราศจากร่างกายได้หรือไม่?

คำถามสำคัญก็คือ กระบวนการเก็บรักษาร่างกายโดยวิธีการแช่แข็งโครโอเจนิกส์จะสามารถเก็บรักษาคอนเนคตัมของสมองเอาไว้ให้เป็นโครงสร้างเดิมอยู่ได้หรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ได้ การนำร่างกายกลับมาในอนาคตบุคคลคนนั้นจะเป็นใคร จะยังเป็นคนที่ถูกรักและห่วงใยเหมือนเดิมหรือไม่ และที่สำคัญถ้าเขากลับมาในอนาคตในวันที่ไม่เหลือใครที่รักและห่วงใยเขาเลย ความทรงจำที่มีแทนที่จะเป็นคุณกลับกลายเป็นโทษต่อเขาหรือไม่?

อีกประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องก็คือเรื่องของการรับรู้ นักปรัชญาคนสำคัญของโลกอย่างเดการ์ตเชื่อว่าสิ่งที่เป็นจริงเพียงอย่างเดียวก็คือความคิด ส่วนการรับรู้ผ่านทางผัสสะต่างๆ นั้นคือมายา แนวความคิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มนักปรัชญาการรับรู้ที่เชื่อในเรื่องภาพแทนความจริง ซึ่งมองว่าเราไม่สามารถมีประสบการณ์ “ตรง” กับโลกได้ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องผ่านเข้ามาในสมอง และเราจะรับรู้เพียงภาพจำลองของโลกนี้ที่สมองสร้างขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่าสิ่งต่างๆ ที่เรามองเห็นเราไม่มีทางจะรู้เลยว่าความเป็นจริงแล้วมันเป็นอย่างไร เพราะเราเห็นเพียงภาพแทนของสิ่งต่างๆ เท่านั้น พูดง่ายๆ ก็คือทั้งหมดเป็นกระบวนการของสมองที่ทำงานสร้างภาพต่างๆ ขึ้นมาในหัวเราเท่านั้น

ส่วนนักปรัชญาการรับรู้อีกกลุ่มหนึ่งก็ไม่ได้เชื่อตามนี้แต่เชื่อว่าเราสามารถสัมผัสความเป็นจริงได้ผ่านผัสสะต่างๆ ของเรา นั่นหมายถึงสมองไม่ต้องสร้างภาพอะไรขึ้นมาแต่เพียงทำหน้าที่รับรู้สัมผัสต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะ ผู้ที่สนับสนุนแนวความคิดนี้ซึ่งเป็นที่มาของความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ที่ต้องอิงกับฐานร่างกาย คือ ฮัมเบอร์โต มาตูรานา และฟรานซิสโก วาเรลลา ให้ความสำคัญกับการปฏิสัมพันธ์ของผู้รับรู้กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมองว่าวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตกำเนิดขึ้นได้โดยอาศัยกระบวนการที่เรียกว่าการจับคู่เชิงโครงสร้าง (Structural Coupling) โดยมีคุณสมบัติที่สำคัญก็คือความสามารถในการจัดการตนเอง (Autopoiesis) ซึ่งทำให้เซลล์ของสิ่งมีชีวิตสามารถกำหนดขอบเขตที่ตนเองสามารถควบคุมสารเคมีที่ไหลเข้าและออกจากตนเองโดยมีกลไกการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมภายนอกอย่างใกล้ชิด

เรื่องราวเหล่านี้ไม่น่าจะได้รับความสนใจนอกศาสตร์ของตนเอง ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะผู้บุกเบิกทั้งหลายได้พยายามเล่นซน หรือไม่ก็เผชิญเข้ากับปัญหาบางอย่างที่ไม่สามารถหาทางออกได้ด้วยวิธีการปกติธรรมดา ยกตัวอย่างเช่น ในยุคแรกของการพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ นักคิดให้ความสำคัญกับเรื่องของการคิดคำนวณทุกอย่างในระดับของสัญลักษณ์ หรือการผลักให้ทุกอย่างเข้าสู่มณฑลของความคิดเชิงนามธรรม (abstraction) ซึ่งในช่วงแรกมันได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ เช่น ระบบ AI ที่ใช้คำนวณเรื่องการเล่นเกมหมากกระดานต่างๆ แต่ต่อมาในยุค 70 และ 80 นักวิทยาศาสตร์ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคครั้งใหญ่เพื่อพบว่าแบบจำลองความคิดเช่นนี้ไม่สามารถทำให้หุ่นยนต์สามารถทำงานง่ายๆ ที่เด็กทารกสามารถทำได้ การพัฒนาด้าน AI จึงต้องหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง จนกระทั่งกลางปี 1980 นักวิจัยจาก MIT จึงได้มีการค้นพบว่า ถ้าหากได้มีการผสมผสานเรื่องการรับรู้โดยผ่านทางผัสสะเทียมของหุ่นยนต์ที่เรียกว่า Nouvelle AI เราจะสามารถสร้างหุ่นยนต์ที่มีสติปัญญาในการเคลื่อนไหวเท่ากับแมลง (หุ่นยนต์ทำความสะอาดตามบ้านที่เมื่อชนเข้ากับสิ่งของและหลบหลีกได้ ได้ประโยชน์จากการพัฒนาตรงนี้) และในที่สุดต่อมาในยุค 90 ก็ได้มีการค้นพบว่าการลองผิดลองถูกผ่านแบบจำลองทางสถิติและอัลกอริทึ่ม สามารถแก้ไขปัญหาด้านปัญญาประดิษฐ์ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบการคำนวณทางสัญลักษณ์ที่ซับซ้อน แต่ใช้การพึ่งพาระบบของวงจรป้อนข้อมูลกลับและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คล้ายกับการที่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในเรียนรู้ในชีวิตจริง

เราคงต้องรอความหวังในอนาคตกว่าเราจะมีความเข้าใจในเรื่องง่ายๆ ที่เราทำทุกวันเช่นการลุกขึ้นจากที่นอน การชงกาแฟทานสักถ้วยหนึ่ง และต้องตระหนักว่าวิวัฒนาการที่ได้ผ่านมาเป็นพันๆ ปี ที่ซุกซ่อนอยู่ในปัญญาฐานกายที่เราทำโดยแทบไม่ต้องใช้ความคิดนั้นมีความยิ่งใหญ่เพียงไร เราอาจจะไม่ได้มีชีวิตอยู่นานพอที่จะเห็นคำตอบเรื่องความซับซ้อนของสมอง ความทรงจำ และการรับรู้ เช่นเดียวกับที่เราอาจจะไม่ได้อยู่นานเพียงพอที่จะเห็นว่าน้องไอนส์ ที่ถูกแช่แข็งจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้หรือไม่ และเธอจะกลับมาในแบบใด แต่ทั้งคุณพ่อของน้องไอนส์และนักวิทยาศาสตร์ที่ทุ่มเทเวลาศึกษาเรื่องปัญญาประดิษฐ์ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เด็กสองขวบสามารถทำได้โดยง่าย

เป็นประจักษ์พยานให้เราเห็นว่าแท้จริงแล้วชีวิตนั้นมีคุณค่ามากเพียงใด และพวกเราควรเฉลิมฉลองให้กับชีวิตที่เหลืออยู่ของเรา และทำให้การร่ายรำของเราบนกาย่า (Gaia) นี้เป็นคุณประโยชน์กับผู้อื่นและโลกกำลังความสามารถ

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image