เหตุเกิดที่ ม.การกีฬาแห่งชาติž

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สังคมตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวันนี้หากพิจารณาในแง่ของจำนวนมหาวิทยาลัยที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันที่สังกัดภาครัฐและเอกชนมีจำนวนไม่น้อยกว่าสองร้อยแห่ง

ก่อนหน้านี้ในปี 2562 รัฐบาลในยุค คสช.ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในหลากหลายมิติ ซึ่งกีฬาเป็นหนึ่งในมิติที่รัฐบาลเห็นว่าทั่วโลกตลอดจนสังคมไทยตื่นตัวในการส่งเสริมและสนับสนุนมากขึ้นประกอบกับกีฬาสามารถขับเคลื่อนเป็นอุตสาหกรรมที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมได้ไม่น้อยกว่าอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ

มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจึงผ่านความเห็นชอบของ สนช.จนนำไปสู่การประกาศพระราชบัญญัติในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 สำหรับมหาวิทยาลัยดังกล่าวหากพิจารณาถึงภูมิหลังจะพบว่าได้มีการแปรสภาพมาจากสถาบันการพลศึกษาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากศึกษาในรายละเอียดของ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ.2562 ใช่ว่าจะมีสาระแตกต่างไปจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วไปที่จัดตั้งขึ้นก่อนหน้านี้ เพียงแต่สถาบันดังกล่าวจะให้ความสำคัญและมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและยกระดับการกีฬาของชาติภายใต้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ซึ่งเมื่อส่องไปดูในมาตรา 8 พ.ร.บ.ดังกล่าวได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงด้านการกีฬามีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพ ทำการสอน วิจัยและพัฒนา บริการทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคม ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ที่มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ด้านการกีฬา การพลศึกษา การสร้างเสริมสุขภาพ วิทยาศาสตร์การกีฬา การบริหารจัดการกีฬา การประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรมกีฬา และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นแหล่งสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านการกีฬาของประเทศ

Advertisement

สำหรับการดำเนินการหรือการบริหารจัดการนอกจากจะมีสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่ในการวางนโยบายและแนวทางการพัฒนาตลอดจนดำเนินการภารกิจต่างๆ ตามที่ พ.ร.บ.กำหนด แต่การที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะบริหารจัดการหรือขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุตามเป้าประสงค์ก็คงจะต้องมีกัปตันหรือผู้นำสูงสุดในตำแหน่งที่เรียกว่า อธิการบดีŽ

เมื่อกล่าวถึงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ จะพบว่าเป็นที่น่าแปลกใจยิ่งหลังจากมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2562 จวบจนปัจจุบันนี้กลับยังไม่มีอธิการบดีหรือขุนพลตัวจริงมีเพียงผู้รักษาการในตำแหน่งอธิการบดี ต่อกรณีนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ผู้ที่ติดตามข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะคนในวงการกีฬาและลูกพลบดีที่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศที่คงจะทราบประเด็นที่สภามหาวิทยาลัยกำหนดให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบข้อบังคับโดยผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี แต่การพิจารณามติดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้เมื่อมีกลุ่มคณะบุคคลจากวิทยาเขตต่างๆ เคลื่อนไหวด้วยการยื่นหนังสือผ่านผู้บริหารกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อให้พิจารณาบุคคลที่จะเข้าสู่ตำแหน่งอธิการบดีใหม่

สาระสำคัญของการออกมาเคลื่อนไหวและกดดันให้ทบทวนรายชื่อผู้เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งอธิการบดีเพราะรายชื่อของบุคคลที่กลุ่มตนเองสนับสนุนไม่อยู่ในโผที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย ด้วยเหตุนี้แทนที่มหาวิทยาลัยจะมีผู้นำตัวจริงสำหรับการผลักดันหรือเดินหน้าในการบริหารจัดการองค์กรกลับต้องชะงักและสูญเสียโอกาสโดยใช่เหตุ
จากกรณีดังกล่าวทำให้มหาวิทยาลัยน้องใหม่ของวงการอุดมศึกษาไทยที่ดูเหมือนว่าจะเป็นที่คาดหวังของสังคมโดยเฉพาะคนในแวดวงกีฬาที่ต้องการเห็นการกีฬาของชาติก้าวไกลและเปลี่ยนแปลงสู่การแข่งขันได้เท่าเทียมกับนานาประเทศที่เจริญแล้ว การยื่นเรื่องให้มีการทบทวนการสรรหาอธิการบดีในครั้งนั้นถือได้ว่ามหาวิทยาลัยต้องเสียโอกาสสำหรับการบริหารจัดการเป็นอย่างมาก

Advertisement

เหนือสิ่งอื่นใดปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นสำหรับคนในวงการกีฬาและการพลศึกษาที่สังคมมองว่าคนกลุ่มนี้น่าจะมีสปิริตและเปี่ยมล้นไปด้วยการมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ และรู้อภัย ดังเนื้อหาสาระที่ปรากฏในเพลงกราวกีฬาซึ่งครูเทพ หรือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้ประพันธ์ไว้ และชาวพลศึกษาทั่วประเทศต่างยึดเป็นแนวปฏิบัติมาอย่างยาวนาน

จากกรณีการที่มีกลุ่มบุคคลออกมาเคลื่อนไหวให้มีการทบทวนรายชื่อผู้เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาตินั้น ใช่ว่าจะจบลงที่สภามหาวิทยาลัยในการที่จะเดินหน้าเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับเท่านั้นไม่ ทั้งนี้ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยได้เดินทางไปยื่นคำร้องต่อ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงต่อ 35 ผู้บริหารทั้งส่วนกลาง วิทยาเขต และโรงเรียนกีฬาสังกัดมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ที่ได้รวมกลุ่มกันเดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา

สาระสำคัญของการดำเนินการของนายศรีสุวรรณ จรรยา เหตุเกิดจากที่บุคคลกลุ่มดังกล่าวไปยื่นหนังสือคัดค้านรายชื่อบุคคลที่ผ่านการสรรหาตามกฎหมายที่จะต้องเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ในประเด็นนี้เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยชี้ให้เห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าสงสัยว่าคณะกรรมการสรรหายังไม่ได้มีการแจ้งรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีต่อสาธารณะ ฉะนั้น รายชื่อที่กลุ่ม 35 ผู้บริหารดังกล่าวออกมาคัดค้านและเผยแพร่ตามสื่อนั้น คณะที่มายื่นหนังสือจะล่วงรู้ได้อย่างไรว่าคณะกรรมการสรรหาจะพิจารณาให้ใครดำรงตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งรายชื่อยังอยู่ในชั้นความลับ การนำรายชื่อบุคคลต่างๆ มาเปิดย่อมเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ประกอบตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 ได้

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น นายศรีสุวรรณระบุว่าในวันดังกล่าวมีบุคคลหลายคนได้ทำเรื่องขออนุมัติเดินทางไปร่วมพิธีเปิดอาคารโรงฝึกกีฬาอเนกประสงค์ของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตยะลา แต่เหตุใดจึงปรากฏรวมกลุ่มกันเดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในวันเดียวกับการขอไปราชการที่จังหวัดยะลาได้

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงยื่นร้องเรียนต่อ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเอาผิด 35 ผู้บริหารที่ได้รวมกลุ่มกันเดินทางมายื่นหนังสือที่กระทรวง เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 รวมทั้งขอให้สั่งการให้ปลัดกระทรวงในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเร่งเสนอรายชื่อผู้ที่ผ่านการสรรหาอธิการบดีให้สภามหาวิทยาลัยมีมติเลือกและรับรองต่อไป เพื่อให้งานมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ (มติชนออนไลน์ 14 กันยายน 2563)

วั นนี้หากมองไปที่พัฒนาการหรือความเคลื่อนไหวของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาตินับตั้งแต่ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งมาปีเศษๆ จากการติดตามข่าวสารผ่านสื่อสาธารณะจะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังไม่ได้แสดงศักยภาพให้สังคมได้เห็นในเชิงประจักษ์ว่ามหาวิทยาลัยมีความพร้อมและเป็นความหวังของสังคมในการที่นำไปสู่มิติของการเปลี่ยนแปลงสำหรับการกีฬาของชาติได้อย่างแท้จริงโดยเฉพาะการบริหารจัดการแนวใหม่ภายใต้เทคโนโลยีและนวัตกรรมตามที่ พ.ร.บ.กำหนดมากนัก

ยิ่งการเปลี่ยนสถานะจากสถาบันมาเป็นมหาวิทยาลัยด้วยแล้วจำเป็นอยู่เองที่ทุกภาคส่วนซึ่งเกี่ยวข้องจะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าการเปลี่ยนสถานะไม่ใช่เป็นเพียงการได้มาซึ่งเกียรติและตำแหน่งหน้าที่รวมทั้งผลประโยชน์ของกลุ่มผู้บริหารเท่านั้น และคำว่า เหล้าเก่าในขวดใหม่Ž ดังที่สภากาแฟตั้งข้อสังเกต จึงไม่ควรที่จะเกิดและเป็นดังที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด

ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น วันนี้หากมองในแง่ของการบริหารจัดการการอุดมศึกษาตลอดจนภัยที่สถาบันแห่งนี้จะต้องเผชิญทั้งวันนี้และอนาคต ซึ่งไม่ต่างไปจากมหาวิทยาลัยทั่วไปนั่นก็คือการแข่งขันในการได้มาซึ่งตัวป้อนหรือผู้เรียน ปรากฏการณ์อันเนื่องมาจากการลดของประชากรและการแข่งขันของโลกในศตวรรษที่ 21 ผู้เรียนซึ่งมีจำนวนจำกัดย่อมที่จะมีทางเลือกมากขึ้น ดังนั้น ถึงแม้ว่ากัปตันตัวจริงหรือนายใหญ่ยังไม่สามารถเข้าไปนั่งในเก้าอี้ได้ก็ตาม เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นที่ศรัทธาและยอมรับของสังคมตลอดจนสามารถก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลผู้นำหรือผู้บริหารที่รักษาการในตำแหน่งต่างๆ
ในวันนี้ต้องแสดงให้สังคมได้เห็นในศักยภาพของการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาการกีฬาของชาติได้อย่างแท้จริง

พร้อมกันนั้นใครผู้ใดที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในการเข้ารับการสรรหาและผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสรรหาถือได้ว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมกับการที่จะนั่งเก้าอี้เพื่อเป็นขุนพลในการนำพาองค์กรให้มีความเจริญรุดหน้าเป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพชั้นนำได้อย่างยั่งยืนสืบไป สภามหาวิทยาลัยในฐานะบอร์ดที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการบริหารจัดการจะต้องมีจุดยืนและมีความกล้าหาญในการที่จะชี้ขาดว่าใครเหมาะสมในการที่จะเป็นผู้นำตัวจริง และที่สำคัญกรรมการสภาจะต้องพิสูจน์ให้สังคมหรือลูกพลบดีทั่วประเทศเห็นว่าทุกท่านเป็นผู้ทรงเกียรติและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีจุดยืนและอุดมการณ์ของตนเองไม่เป็นผู้ที่ถูกชี้นำโดยบุคคลอื่น

เหนือสิ่งอื่นใด สภาจะต้องไม่ให้สังคมกล่าวหาว่าเป็น สภาเกาหลังŽ เหมือนดังบางมหาวิทยาลัยที่เคยปรากฏเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้และในฐานะที่ผู้เขียนเป็นหนึ่งในลูกพลบดีก็อยากจะฝากให้ชาวพลศึกษาหรือผู้แทนวิทยาเขตในฐานะผู้บริหารองค์กรที่ออกมาเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ควรที่จะตระหนักและยอมรับในมติของสภาไม่ควรที่จะยึดติดในตัวบุคคลหรือพวกพ้องจนทำให้ต้องตกอยู่ในวังวนหรือหลุมดำที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งและความแตกแยกขององค์กร

และที่สำคัญคำว่า สปิริตŽ หรือ รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัยŽ ถือได้ว่าเป็นหัวใจของคนกีฬาที่ควรจะตระหนักและนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่ลูกศิษย์หรือนักศึกษาสืบไป

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image