ภาพเก่าเล่าตำนาน : ปืนใหญ่ยิงอัดใส่… บามิยัน โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

บันทึกเสี้ยวหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่แสนสะเทือนใจ สงครามหฤโหดในอัฟกานิสถาน ที่กินเวลายืดเยื้อยาวนาน มีตัวละครหน้าฉาก มีอีแอบชักใยให้สตางค์ ส่งอาวุธเพื่อให้ “ตัวแทน” ทำสงครามทำลายล้าง

ความเป็นศัตรูในสนามรบ ที่มุ่งห้ำหั่น ต้องบดขยี้กันให้สิ้นซาก เมื่อนำลัทธิความเชื่อทางศาสนาเข้ามาผสมปนเป โบราณสถาน โบราณวัตถุอายุนับพันปี ที่เป็นของฝ่ายตรงข้ามก็ยังต้องถูกทำลายทิ้ง

ภาพเก่า..เล่าตำนาน ในตอนนี้ ขอย้อนอดีตไปในปี พ.ศ.2544 ในเหตุการณ์กองกำลังติดอาวุทาลิบัน (Taliban) ยิงถล่ม ทำลายประติมากรรม หินแกะสลักทรงพระพุทธรูปบามิยัน ในอัฟกานิสถาน

ราว 2 พันปีที่แล้ว ศาสนาพุทธ ในดินแดนภารตะรุ่งโรจน์ เปล่งประกาย เบ่งบานไปทุกสารทิศ มีชนเผ่าจากแดนไกลเสี่ยงชีวิตเดินทางรอนแรมนับปี เพื่อไปศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

Advertisement

เมื่อคนเหล่านี้ได้เรียนรู้ มีศรัทธา นับถือพุทธศาสนา การแสดงออกเพื่อการกราบไหว้บูชา คือ ต้องมีสัญลักษณ์ มีภาพวาด มีวัตถุ ที่แสดงถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

การก่อสร้าง การขึ้นรูป การแกะสลัก หน้าตา วิถีชีวิตของพระพุทธเจ้าจึงอุบัติขึ้นในหลายพื้นที่ แพร่กระจายไปถึงแผ่นดินจีน เอเชียกลาง

ดินแดนที่ได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง คือ อัฟกานิสถาน

Advertisement

ศรัทธาอันยิ่งใหญ่ต่อพระพุทธเจ้า ชาวพุทธต้องก่อสร้าง แสดงออกด้วยวัตถุที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่า

ในช่วงศตวรรษที่ 6 มีคนกลุ่มหนึ่ง ในดินแดนอัฟกานิสถาน ขออุทิศชีวิต แกะสลัก สร้าง พระพุทธรูป ชื่อบามิยัน (Bamiyan) ที่สูงที่สุด ทุ่มเทชีวิต พลังงานศรัทธาการแกะสลักหน้าผาหิน มีเจตนารมณ์ให้บามิยัน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา

แคว้นบามิยันอยู่ห่างจากกรุงคาบูล (เมืองหลวงอัฟกานิสถาน) ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 130 กม. เป็นพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลราว 2,500 เมตร

คนที่บันทึกเรื่องราวที่แสนมีคุณค่าตรงนี้ เป็นนักบวชชาวจีน ชื่อ ซวนซาง (Hsuan-Tsang) ที่เข้าไปศึกษาพุทธศาสนาในแดนชมพูทวีป

พระซวน ซาง เดินทางไปถึงแคว้นบามิยัน ในราวปี พ.ศ.643 และบันทึกการเดินทางของเขาไว้ใน The Great Tang Records of the Western Regions (Da Tang Xiyu Ji) ที่เป็นข้อความแรกสุดที่กล่าวถึงพระพุทธรูปตรงนี้ว่า….

….เป็นประติมากรรมและชุมชนที่มีชีวิตชีวา บามิยัน เป็นศูนย์กลางที่คึกคักและมีพระสงฆ์นับพันรูป มีรูปแกะสลักที่โดดเด่นที่สุดสองรูปคือสูง 55 ม. และ 37 ม.

พระพุทธรูปขนาดใหญ่ ในหุบเขาบามิยันและได้รับอิทธิพลจากศิลปะและวัฒนธรรมของอินเดียเอเชียกลาง และวัฒนธรรมกรีกโบราณ

รูปแกะสลักพระพุทธเจ้า สวมเสื้อคลุมไหล่ ผมหยักศก ทรงผมและผ้าห่มกายที่พลิ้วไหวนี้ เป็นองค์ประกอบที่มีรากฐานมาจากภาพพุทธศาสนาแบบคานธารันในยุคแรก ที่ผสมผสานประเพณีการเป็นตัวแทนของกรีกเข้ากับเนื้อหาของอินเดีย

ผ่านมานับพันปี งานศิลปกรรมชิ้นเอกของโลกตรงนี้ ถือเป็นงานชิ้นสำคัญของชาวโลก เป็นประติมากรรมที่สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งที่เป็นชาวพุทธและที่ไม่ใช่ชาวพุทธ

มีบันทึกที่สอดคล้องกัน…. ระบุว่าพระจีนที่บันทึกเรื่องพระพุทธรูปที่บามิยัน คือ คณะของพระถังซำจั๋ง ซึ่งเดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาในดินแดนชมพูทวีปเมื่อราว 1,400 ปีก่อน ท่านได้เดินทางผ่านแคว้นบามิยันพร้อมกับได้บันทึกสิ่งที่ท่านได้พบ

ไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นผู้มอบหมายให้สร้างพระพุทธรูป หรือใครกันที่เป็นช่างแกะสลักที่ฝีมือล้ำเลิศ ใช้เครื่องมืออะไร ใครออกแบบ ใช้เวลานานแค่ไหน

ผู้คนเมื่อหลายพันปีที่แล้ว เดินทางไปมาหาสู่กัน การแพร่ขยายตัวของพระพุทธศาสนา ใช้ “เส้นทางสายไหม” (Silk Road)

บามิยันตั้งอยู่ระหว่างอนุทวีปอินเดีย เป็นปมคมนาคมแห่งหนึ่งของเส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่เชื่อมต่อระหว่างตะวันออกกับตะวันตกและมีทั้งความมั่งคั่งและความคิดทางวัตถุ

บริเวณนั้น เป็นพื้นที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับพ่อค้าและมิชชันนารีที่จะแวะพักระหว่างการเดินทาง

พ่อค้าที่ผ่านไป-มาในพื้นที่นี้ ปฏิบัติตามศรัทธาของชาวพุทธ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่สำคัญในภูมิภาคนี้มาก่อน

เมื่อพ่อค้ามาแวะพักบริเวณนี้ พวกเขาจะบูชาเทพเพื่ออธิษฐานขอพรให้เดินทางปลอดภัย มีอารามหลายสิบแห่งที่มีพระสงฆ์หลายพันรูป

นักบวชส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำ ช่องเจาะตามหน้าผา (ในภาพ)

การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ส่งผลให้เกิด “สถาปัตยกรรมถ้ำ” แบบพุทธทั่วเอเชีย เราจะได้เห็นถ้ำพุทธที่แกะสลักตามหน้าผาสูงหลายแห่งในเอเชีย

เมื่อไปสำรวจลงในรายละเอียดของสถาปัตยกรรม พบว่าบริเวณใกล้พระเศียรของพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์และบริเวณรอบพระบาทที่ใหญ่กว่านั้น ถูกแกะสลักโดยรอบเพื่อให้ผู้มาสักการะสามารถเข้ามาได้ สะท้อนถึงการเวียนว่ายตายเกิด (Circumambulation) ซึ่งเป็นการเดินวนไปรอบๆ วัตถุหรือรูปพระพุทธเจ้า….เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทั่วไปของชาวพุทธ

คนเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว เก่งจัดจ้านยิ่งนัก พวกเขาเป็นนักออกแบบที่เป็นอัจฉริยะ แกะสลักจากหน้าผาหินทราย สง่างาม ได้สัดส่วน มองเห็นได้แต่ไกล แถมองค์พระประดับด้วยโลหะสีและอัญมณี

วัสดุและการรักษาใบหน้าของพระพุทธเจ้า ที่กระทำเมื่อพันปีที่แล้วมีการใช้เม็ดสีกับปูนปั้นที่ปิดผิวหิน ปูนปั้นช่วยในการปรับแต่งพื้นผิวหิน ทำให้เราจินตนาการได้ว่า นี่คือพระพุทธรูปที่ยิ่งใหญ่

ถ้ำเล็กๆ จำนวนมาก ที่เป็นที่อยู่อาศัยของเหล่านักบวช ภายในถ้ำบางแห่งจะมีภาพวาดฝาหนังทางศาสนาอย่างงดงาม

อัฟกานิสถาน เป็นดินแดนเก่าแก่ มีอารยธรรมสูง ร่ำรวยศิลปวัตถุทางพุทธศาสนา เคยเป็นที่ตั้งชุมชนชาวพุทธขนาดใหญ่

สงคราม คือ การทำลายล้างทุกสรรพสิ่ง….

วันหนึ่ง….นักรบทาลิบันกองกำลังที่ทรงอานุภาพทำสงครามสู้รบแย่งยึดพื้นที่ได้…

เดือนมีนาคม 2544 มุลลาห์ โอมาร์ แม่ทัพทาลิบันสั่งให้กองกำลังทำลายรูปแกะสลักหินทรายที่หน้าผา เพราะมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นรูปเคารพบูชานอกรีต

หลักการของกลุ่มทาลิบัน ถือว่ารูปแกะสลักตรงนี้เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาด ประติมากรรมบนหน้าผาตรงนี้ ยังเป็นการแสดงถึงผลประโยชน์และเงินทุนของตะวันตก

นอกจากนั้น ทาลิบันอ้างว่าการทำลายรูปปั้นพระพุทธรูป เพราะในศตวรรษที่ 10 ชาวบามิยันส่วนใหญ่เปลี่ยนไปเป็นมุสลิมแล้ว

ถ้าจะว่ากันตามตรง….เหตุผลการระเบิดทำลายองค์พระตรงนี้ ก็เพื่อดึงดูดความสนใจของสื่อมวลชนทั่วโลก มีการตั้งแท่นบันทึกวิดีโอและภาพถ่ายของการทำลายล้างแพร่กระจายไปทั่วโลก

ที่มองข้ามมิได้ คือ เพื่อต้องการเงินจากสังคมโลกให้เข้ามาช่วยเหลือ….ถ้าใช้ศัพท์ทันสมัย คือ ทำลายเพื่อ เติมเงิน หรือเติมกล้วย

การทำลายทิ้ง…ทำกันเช่นไร ?

ผู้เขียนขออ้างถึงบทความของ BBC ที่ไปสัมภาษณ์นาย มีร์ซา ฮุสเซน (Mirza Hussain) คนในพื้นที่บามิยัน….

“…. ตอนแรก พวกเขายิงไปที่พระพุทธรูปด้วยปืนรถถังและปืนใหญ่”

….ผลการยิงทำลาย…ไม่ได้ดั่งใจ ฝ่ายทาลิบันจึงจับตัวชาวบ้านเป็นตัวประกัน แล้วบังคับให้ปีนขึ้นไป เจาะลำตัวเป็นรู สอดใส่ระเบิด แล้วกดระเบิดที่ละส่วนขององค์พระ….

นายฮุสเซน เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ในเมืองบามิยันเป็นมุสลิมชีอะห์จึงถูกมองว่าเป็นศัตรู

“….ฉันอยู่ท่ามกลางนักโทษ 25 คน..เราถูกบังคับเพราะไม่มีใครอื่นเลยเราเป็นนักโทษและอาจถูกฆ่าทิ้งได้ทุกเมื่อ….” เขากล่าว

มีร์ซา ฮุสเซน ปกติทำงานเป็นคนซ่อมจักรยานในชุมชน

“…. พวกเขานำวัตถุระเบิดใส่รถบรรทุกมา แบ่งให้เรา จากนั้นเราก็แบกมันไว้บนหลังหรือในอ้อมแขนของเรา ปีนป่ายไปที่รูปปั้น…”

นักโทษที่ทาลิบันบังคับให้เสี่ยงตาย ปีนป่ายไปวางระเบิด ต้องทำงานท่ามกลางอากาศหนาวเย็นของต้นฤดูใบไม้ผลิปี พ.ศ.2544

เขากล่าวว่า…นักโทษเหล่านี้เตรียมพร้อมสำหรับความตายได้ทุกเมื่อไม่ว่าจะด้วยการระเบิดหรือด้วยมือของผู้คุม

…..“ครั้งหนึ่งฉันได้เห็นชายคนหนึ่งที่ขาไม่ดีและไม่สามารถแบกวัตถุระเบิดได้ …ทาลิบันยิงทิ้งและมอบศพให้กับเราเพื่อนำไปกำจัด”….

บรรดานักโทษใช้เวลา 3 วันในการผูกวัตถุระเบิดรอบรูปแกะสลักพระพุทธเจ้า จากนั้นได้วางสายไฟไปยังบริเวณใกล้เคียง เพื่อจุดชนวนระเบิดท่ามกลางเสียงตะโกนของ “อัลเลาะห์อัคบาร์”

“…จากนั้นพวกเขาทำการระเบิด 2-3 ครั้งทุกวันเพื่อตั้งใจทำลายพระพุทธรูปให้หมดสิ้น ….เราฝังดินระเบิด เราไม่มีเครื่องมือที่เหมาะสม กระบวนการทั้งหมดใช้เวลา 25 วัน” ฮุสเซนกล่าว

นักโทษที่ทำหน้าที่วางระเบิดเหล่านี้ได้รับข้าวและขนมปังเป็นอาหาร

เมื่อรูปพระพุทธเจ้าถูกทำลายในที่สุดกลุ่มทาลิบันก็เฉลิมฉลอง

“พวกเขายิงปืนขึ้นฟ้า พวกเขาเต้นรำและพวกเขานำวัวเก้าตัวไปเชือดเป็นเครื่องบูชา”

มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า …องค์พระมีความแข็งแกร่งอย่างน่าทึ่ง ปืนต่อต้านอากาศยานมีผลเพียงเล็กน้อย ทาลิบันเลยเปลี่ยนมาใช้การเจาะใส่ระเบิด

ข้อมูลเชิงลึกระบุว่า….วิธีการที่ได้ผลมากที่สุด คือ เอาทุ่นระเบิดต่อต้านรถถัง (Anti tank Mine) ไปไว้ระหว่างเท้าพระพุทธรูป จากนั้นเจาะรูเข้าไป แล้วบรรจุด้วยดินระเบิด

วิธีการนี้…ได้ผล สมปรารถนา

(พ.ศ.2522 ผู้เขียนเคยเป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็ก ได้รับคำสั่งให้นำทุ่นระเบิดทำลายรถถัง 25 ลูก ไปวางในช่องทาง บริเวณเขาตาง็อก อ.วัฒนานคร ที่คาดว่าข้าศึกจะใช้รถถัง ยานยนต์รุกเข้ามาในดินแดนไทย ต้องยอมรับว่าทุ่นระเบิดต่อต้านรถถัง มีอานุภาพทำลายล้างมหาศาล)

ก่อนสงคราม…ฮุสเซน ทำงานเป็นช่างซ่อมจักรยาน เขาเสียใจมาโดยตลอดที่มีส่วนในการทำลายล้าง

ที่ผ่านมารู้สึกเสียใจ ในตอนนั้นขัดขืนไม่ได้ ไม่มีทางเลือกเพราะพวกเขาจะสังหาร

การทำลายพระพุทธรูปบามิยันเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่สำหรับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

อย่างไรก็ตาม…เพื่อให้เกิดมุมมองที่รอบด้าน…ในอดีตที่ผ่านมานับพันปี มีชาวมุสลิมพื้นเมือง “ฮาซาร่า” ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในอัฟกานิสถานที่ใช้ชีวิตหลายชั่วอายุคน อยู่ร่วมกับพระพุทธรูปแกะสลักขนาดใหญ่องค์นี้มาอย่างยาวนาน

เมื่อกลุ่มทาลิบันเข้ามามีอำนาจ จึงระเบิดทำลาย อาจกล่าวได้ว่าทั้งพระพุทธรูปบามิยันและชนพื้นเมืองชาวฮาซาร่าล้วนต่างถูกคุกคามจากกลุ่มทาลิบันด้วยกันทั้งสิ้น

ผ่านมานับนับสิบปี….รัฐบาลของอัฟกานิสถานได้ขอให้มีการสร้างรูปขึ้นใหม่โดยอ้างว่า ต้องการรายได้จากการท่องเที่ยวของบามิยัน เพราะพื้นที่บามิยันซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในอัฟกานิสถาน เป็นที่ตั้งของกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันคือชาวฮาซาร่า

องค์กรระหว่างประเทศ มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยที่จะบูรณะ สร้างขึ้นมาใหม่

การสำรวจเพื่อหาทางซ่อมสร้าง มีข่าวดีในข่าวร้าย

19 มีนาคม 2560 สื่อต่างประเทศรายงานข่าว พบพระพุทธรูปโบราณในอัฟกานิสถาน ถูกฝังซ่อนไว้ใต้ดิน นักโบราณคดีคาดว่า มีอายุเก่าแก่และถูกซ่อนไว้ใต้ดินตั้งแต่ช่วงราวศตวรรษที่ 3-5

พระพุทธรูปโบราณองค์นี้ถูกซ่อนไว้ใต้ดิน ที่เมืองเมส อัยนัค (Mes Aynak) ห่างจากกรุงคาบูล ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 40 กม. ขณะที่บริษัทชาวจีนได้เข้ามาทำเหมืองแร่ทองแดงในบริเวณดังกล่าว

บริเวณที่พบพระพุทธรูปองค์นี้ อยู่ในกลุ่มวิหารโบราณบนพื้นที่กว้างขวาง 4 ตร.กม. ในเขตจังหวัดโลการ์ ซึ่งเคยเป็นสมรภูมิรบดุเดือดที่สุดในอัฟกานิสถาน

สงคราม…เริ่มได้..ก็น่าจะจบได้…กลางปี พ.ศ.2563 สหรัฐ อัฟกานิสถาน และกลุ่มทาลิบันกำลังมีความคืบหน้าพูดคุยเพื่อหยุดยิง สร้างสันติภาพในอัฟกานิสถานที่รบกันมาราว 40 ปี

องค์กรระหว่างประเทศ เดินทางเข้าไปสำรวจความเสียหาย ต้องใช้งบประมาณก้อนใหญ่ รวบรวมซากวัตถุของรูปแกะสลักที่กองเกลื่อนพื้นได้ราว 7 พันชิ้น ตั้งโครงการ มีผู้เชี่ยวชาญเพื่อประกอบองค์พระขึ้นมาใหม่….

เป็นเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจนะครับ…เพราะนี่คือ สมบัติล้ำค่าของมนุษย์ชาติทั้งปวง……

อ้างอิง : Backstory โดย Dr. Naraelle Hohensee
The man who helped blow up the Bamiyan Buddhas – BBC.com Mar 12, 2015 และ ภาพจาก afghanistanembassy.org.uk

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image