สะพานแห่งกาลเวลา : ว่าด้วยสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์(2) โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-Caspar Oesterheld)

การค้นพบ “ฟอสฟีน” ในบรรยากาศของดาวศุกร์ ไม่ได้เป็นการค้นพบ “สิ่งมีชีวิต” โดยตรงก็จริง แต่เมื่อหาสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิด “ฟอสฟีน” ในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ไม่ได้

ทำให้ทีมวิจัยนานาชาติสรุปว่า “ฟอสฟีน” ที่ว่านั้น “อาจ” เกิดจากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ใน “หยดของเหลว” ในชั้นบรรยากาศบนดาวเคราะห์ดวงที่ 2 ในระบบสุริยะของเรานั่นเอง

นั่นคือความโดยสรุปจากที่หยิบมาเล่าสู่กันฟังเมื่อสัปดาห์ก่อน

ทีนี้ สมมุติต่อนะครับว่า ฟอสฟีนที่ดาวศุกร์ เกิดจากสิ่งมีชีวิตจริงๆ สิ่งนี้จะมีความหมายต่อชีวิตบนโลกอย่างเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายอย่างไรกัน?

Advertisement

ข้อสรุปของนักดาราศาสตร์ หรือนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ทั้งหลายก็คือ หากบนบรรยากาศของดาวศุกร์พิสูจน์ได้แล้วมีสิ่งมีชีวิตจริงๆ นั่นหมายความว่า สิ่งมีชีวิตสามารถมีได้ทั่วไป เพราะในสภาวะแวดล้อมที่เป็นปฏิปักษ์กับชีวิตสูงอย่างยิ่งเช่นดาวศุกร์ยังมีได้ ที่อื่นๆ ที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตมากกว่าย่อมมีได้เช่นเดียวกัน

องค์ความรู้เกี่ยวกับจักรวาลอันไพศาลดั้งเดิมของเรา พบว่าองค์ประกอบต่อการกำเนิดสิ่งมีชีวิตนั้นพบได้ทั่วไป เหมือนอย่างที่เราพบ กรดอะมิโน ในอุกกาบาต

ดารา (สตาร์ หรือ ดาวฤกษ์) ทั้งหลายส่วนใหญ่แล้วมีดาวเคราะห์โคจรอยู่โดยรอบเป็นดาวบริวาร นักวิทยาศาสตร์พบว่า ดาวเคราะห์เหล่านี้หลายต่อหลายดวงอยู่ใน “ฮาบิแทตโซน” คืออยู่ในโซนที่เอื้อต่อการเกิดสิ่งมีชีวิตขึ้นมาและพัฒนาไปได้

แต่จนแล้วจนรอด เราก็ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่า มีสิ่งมีชีวิตอยู่มากมายมหาศาลในจักรวาลนี้หรือไม่

“ชีวิต” ยังคงเป็น “ความลับ” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจักรวาลตลอดมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญา” อย่างที่บางคนเรียกว่า “อีที” หรือ “เอเลี่ยน” ที่ในภาษาไทยใช้คำว่า “มนุษย์ต่างดาว” ยิ่งไม่มีร่องรอยให้เห็น

นักวิทยาศาสตร์เรียกความย้อนแย้ง ขัดกันเองระหว่างความเป็นไปได้ที่ว่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่มากมายทั่วไปในจักรวาล กับข้อเท็จจริงที่ว่า เราไม่เคยได้พบ เห็น หรือได้รับการติดต่อจาก “มนุษย์ต่างดาว” เหล่านั้นว่า “แฟร์มี พาราดอกซ์” (Fermi Paradox) ครับ

“แฟร์มี พาราดอกซ์” ที่ตั้งชื่อตาม เอนริโก แฟร์มี นักฟิสิกส์ชาวอิตาลี ที่ตั้งคำถามนี้ขึ้นมาเป็นคนแรก ทำให้เกิดแนวคิดและสมมุติฐานมากมายขึ้นตามมา

ตัวอย่างเช่น “สมมุติฐานสวนสัตว์” หรือ The Zoo Hypothesis ที่ตั้งสมมุติฐานไว้ว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลกเป็นเหมือนสวนสัตว์ ที่คนดูแลปล่อยให้กำเนิด เติบโตและพัฒนา โดยที่มีผู้เฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา เพียงไม่ปรากฏตัวให้เห็นหรือเปิดเผยร่องรอยนั่นเอง

ข้อสรุปตามแนวคิดนี้ก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าเรามองไม่เห็นมนุษย์ต่างดาวคือหลักฐานที่แสดงว่ามีพวกนั้นอยู่ข้างนอกนั่น

ยังมีแนวคิดที่น่าสนใจมากของ โรบิน แฮนสัน ว่าด้วย “เดอะ เกรท ฟิลเตอร์” หรือ “ตัวกรองที่ยิ่งใหญ่” ที่เสนอไว้ว่า สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นได้ทั่วไปในจักรวาลนี้ก็จริง แต่ธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ได้กำหนดตัวกรองเอาไว้ ทำให้เมื่อวิวัฒนาการมาถึงระดับหนึ่ง ก็จะเจอกับความยุ่งยากลำบาก ซึ่งแฮนสันเชื่อว่าเป็นตัวกลั่นกรองของธรรมชาติทำให้วิวัฒนาการเดินต่อไปไม่ได้ ต้องยุติลงเพียงแค่นั้นเท่านั้น

รูปธรรมของแนวความคิดนี้อาจเป็นว่า การเกิดและรวมตัวกันของสัตว์เซลล์เดียวนั้นไม่ยากแต่อย่างใด แต่การวิวัฒน์ไปสู่สิ่งมีชีวิตแบบ “มัลติ เซลลูลาร์” นั้นยากอย่างยิ่ง อาจเป็นไปได้ว่า ขั้นตอนวิวัฒนาการอย่าง “แคมเบรียน เอ็กซโพลชั่น” ที่จู่ๆ เกิดสิ่งมีชีวิตหลากหลายอย่างอุบัติขึ้นพร้อมๆ กัน เหมือนอย่างที่เคยเกิดบนโลกเมื่อราว 500 ล้านปีมาแล้วบนโลกของเรานั้น เกิดได้ยากอย่างยิ่ง

หรืออาจเป็นไปได้เช่นกันว่า เมื่อชีวิตวิวัฒน์มาถึงระดับ “ยุวอารยธรรม” หรือ “ยังก์ศิวิไลเซชั่น” ก็มัก “ทำลายตัวเอง” จนสิ้นสุดอารยธรรมลงเพียงเท่านั้น

หากสิ่งมีชีวิตในระดับเซลล์ มีจริงในสภาวะแวดล้อมแสนหฤโหดบนดาวศุกร์ได้ ก็อาจตีความได้ว่า สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวเหล่านี้อุบัติขึ้นได้ในทุกหนทุกแห่งของจักรวาล ไม่ว่าจะเป็นดาวอังคาร ดาวบริวารของดาวเคราะห์อย่าง ยูโรปา, ไตตัน ฯลฯ ก็ควรมีสิ่งมีชีวิตได้เช่นกัน

แล้วก็แสดงให้เห็นว่า “เดอะ เกรท ฟิลเตอร์” ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงชีวิตปฐมภูมิเหล่านั้น แต่ต้องเกิดขึ้นในห้วงเวลาหลังจากนั้นมาก

ซึ่งทำให้มนุษย์เราไม่เคยพบพานกับสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากต่างดาวเอาเลย

คำถามสำคัญที่เกิดจากการใคร่ครวญเรื่อง แฟร์มี พาราด็อกซ์ หรือ แนวคิดเรื่อง เดอะ เกรท ฟิลเตอร์ ก็คือ อารยธรรมมนุษย์เรา ผ่าน “ตัวกรองที่ยิ่งใหญ่” มาแล้วหรือไม่?

หรืออารยธรรมของเราเพิ่งเริ่มขั้นตอนการ “ทำลายตัวเอง” ด้วยการสร้างนานาปัญหา ตั้งแต่มลภาวะ และภาวะโลกร้อน ที่แก้ไขได้ แต่ยากเย็นอย่างยิ่ง

แล้วรอวันอารยธรรมสิ้นสุดลงเท่านั้นเอง?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image