เดินหน้าชน : สกัดทำร้าย น.ร. โดย นายด่าน

ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนโดยเฉพาะกรณี “ครู” ลงโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุ

ยังมีให้เห็นอยู่ในระบบการศึกษาของบ้านเราซ้ำแล้วซ้ำอีก

แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะมีบทลงโทษอยู่แล้ว ทั้งการสอบสวนทางวินัย และพิจารณาการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

สัปดาห์ก่อนที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพหรือ “กมว.” ที่อยู่ภายใต้คุรุสภา ที่มีบทบาทหน้าที่ในการพิจารณา สั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

Advertisement

มีมติให้ตรวจสุขภาพจิตของครูที่ทำร้ายนักเรียนเกินกว่าเหตุจนถูกพักใบอนุญาตฯ ชั่วคราว ก่อนจะคืนใบอนุญาตฯให้เช่นเดิม

มาตรการนี้ นับเป็นก้าวใหม่ในแวดวงการศึกษา เพราะก่อนหน้านี้ กมว. และกระทรวงศึกษาธิการ มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้มเหลวในการจัดการกับครูที่ทำร้ายนักเรียนเกินกว่าเหตุ

กระบวนการเพิกถอนใบอนุญาตฯ ก็ล่าช้า เมื่อเรื่องเงียบก็กลับมาสอนได้ตามปกติ

Advertisement

มาตรการตรวจสุขภาพจิตของครูนั้น นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธาน กมว. ระบุว่า “กรณีครูที่ทำร้ายนักเรียนรุนแรงเกินกว่าเหตุ กมว.จะตีความไว้ก่อน ว่าครูรายนั้นมีความผิดปกติทางจิต

ก่อนมาขอต่อใบอนุญาตฯ ครูที่ถูกพักใบอนุญาตฯ เหล่านี้ จะต้องพบจิตแพทย์เพื่อตรวจสอบสุขภาพจิตก่อน

เพื่อให้มั่นใจว่าครูคนนั้นไม่มีความผิดปกติ สามารถเป็นครูได้จริง”

ปัจจุบันตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ.2548 มีแนวทางการลงโทษแก่นักเรียนที่กระทำผิดอยู่แล้ว 4 สถาน ตามความหนักเบาของการกระทำผิด

1.ว่ากล่าวตักเตือน กรณีกระทำความผิดไม่ร้ายแรง

2.ทำทัณฑ์บน ใช้ในกรณีที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับสภาพนักเรียนหรือนักศึกษา

3.ตัดคะแนนประพฤติ

และ 4.ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้ในกรณีที่กระทำความผิดที่สมควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ส่วนในข้อ 6 ห้ามลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้งหรือลงโทษด้วยความโกรธหรือด้วยความพยาบาท

แม้ว่าการนำมาตรการตรวจสุขภาพจิตมาใช้จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะลดปัญหาการลงโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุได้

แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

เป็นไปได้หรือไม่หากกระบวนการคัดเลือกคนที่จะเข้ามาเป็นแม่พิมพ์ของชาติ

จะกำหนดให้ทุกคนต้องผ่านการทดสอบสุขภาพจิตจากแพทย์

เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีความผิดปกติ และเป็นครูได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image