สถานีคิดเลขที่ 12 : ยังไม่มี‘ทางออก’ในเดือนตุลาคม โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ยังไม่มี‘ทางออก’ในเดือนตุลาคม โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ยังไม่มี ‘ทางออก’ในเดือนตุลาคม

แม้ผลลัพธ์จากการที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลส่วนใหญ่ และ ส.ว.ส่วนมาก ลงมติเห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่านี่คือ “เกมยื้อเวลา”การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปอีกราวหนึ่งเดือนเป็นอย่างน้อยที่สุด

จะไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย

(และหากมองโลกในแง่ดี ฝ่ายรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังมีโอกาสได้สู้ต่อ บนเส้นทางที่อาจจะแคบเรียว เลือนราง และยากลำบากยิ่งขึ้น)

Advertisement

แต่กระนั้น บรรยากาศ-บริบทอันนำมาสู่ผลลัพธ์ดังกล่าวก็เต็มไปด้วยความน่าผิดหวัง

โดยเฉพาะความรู้สึกผิดหวังที่มีต่อการอภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ว.เกือบทั้งหมด

การแสดงความไม่เห็นด้วยต่อเรื่องใดๆ ถือเป็นความเห็นต่างทางการเมือง ที่สามารถยอมรับได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย

Advertisement

ตราบเท่าที่การแสดงความเห็นดังกล่าววางพื้นฐานอยู่บนความเป็นเหตุเป็นผลและข้อเท็จจริง

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของ ส.ว.หลายๆ ท่าน กลับวางฐานอยู่บน “ข่าวปลอม” หรือข้อมูลผิดๆ

วางฐานอยู่บนกรอบความคิดที่ไม่พิจารณาถึงปัญหาอันเกิดจากโครงสร้าง-กติกาทางการเมืองที่ปรากฏขึ้นในความเป็นจริง

วางฐานอยู่บนความเข้าใจผิดฝาผิดตัวว่าด้วยสถานะ-ที่มาของตนเอง รวมไปถึงการมองผู้แทนราษฎรอย่าง ส.ส.ในแง่ลบ

และแทบไม่ยึดโยงอยู่กับเสียงเรียกร้องต่างๆ ภายนอกสภาเลย

จนราวกับว่านี่เป็นทรรศนะของคนแก่ที่ชอบเสพสื่อเลือกข้างแค่ช่องเดียว และอัพเดตความรู้ความเข้าใจโลกผ่านกรุ๊ปไลน์เพียงเท่านั้น

พร้อมๆ กับที่ “ทางออก” บางทางอาจจะถูกปิดลง คำถามว่า “ส.ว.มีไว้ทำไม?” กลับ “ฟังขึ้น” มากขึ้นหลังการประชุมรัฐสภาวันที่ 23-24 กันยายน

ขณะเดียวกัน เมื่อมองไปที่รัฐบาล-กลไกอำนาจรัฐส่วนอื่นๆ แม้จะยังไม่มีการใช้กำลังความรุนแรงต่อประชาชน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การใช้เครื่องมือทางกฎหมายข่มปรามเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่เป็นระยะๆ

นอกจากนั้น ผู้ใหญ่ที่ถือครองอำนาจหลายรายยังมีมุมมองแง่ลบต่อคนรุ่นใหม่ ทั้งการตั้งแง่เรื่องการใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไปจนถึงการมองว่าเด็กๆ มีเบื้องหลัง ตามทฤษฎีสมคบคิด

เรื่องสำคัญที่ฝ่ายรัฐควรกระทำ แต่ยังไม่ลงมือทำให้เกิดความคืบหน้า คือ การสนทนาถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าด้วยปัญหาของสังคมการเมืองไทยกับบรรดาคนรุ่นใหม่อย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การเสาะแสวงหาทางออกร่วมกัน

เข้าสู่เดือนตุลาคม 2563

กำลังจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในพรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุด

การแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะมีบทสรุปในช่วงปลายเดือน

รัฐบาลดูคล้ายจะพยายามลอยตัวจาก “ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง” ที่เกิดขึ้น

ขณะที่คนแก่หลายรายซึ่งมีอำนาจและได้รับเงินเดือนจากภาษีประชาชน ก็แทบไม่มีความเข้าใจต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม

ส่วนคนรุ่นใหม่-ประชาชนจำนวนไม่น้อย กำลังจะยกระดับการชุมนุมบนท้องถนน

การเมืองไทยยังไม่มี “ทางออก” ชัดเจน และ “ความเห็นร่วม” ใดๆ ยังมิได้ก่อเกิดขึ้น

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image