คุณภาพคือความอยู่รอด : ทางออกเศรษฐกิจหลัง COVID-19

คุณภาพคือความอยู่รอด : ทางออกเศรษฐกิจหลัง COVID-19 : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพคือความอยู่รอด : ทางออกเศรษฐกิจหลัง COVID-19 : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

สถานการณ์ COVID-19 ได้ก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจทั่วโลก ทุกประเทศต่างได้รับผลกระทบมากกว่าที่คาดคิดไว้ และทำให้การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ คลาดเคลื่อนไปด้วย เช่นเดียวกับของไทยเรา ซึ่งส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในภาวะติดลบ

ปัจจุบัน ทุกประเทศต่างหาคำตอบให้กับโจทย์ยากที่ว่า “โลกใหม่หลัง COVID-19 จะเป็นอย่างไร” และ “เราจะเตรียมพร้อมรับมือกับโลกใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังสถานการณ์ COVID-19 ได้อย่างไร”

สถาบันวิทยาการธุรกิจและอุตสาหกรรม โดย “หลักสูตร วธอ.” จึงจัดสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ “วธอ. Talk : ทางออกเศรษฐกิจหลัง COVID-19” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา โดยเชิญนักศึกษาของ วธอ.ตั้งแต่รุ่นที่ 1 ถึงรุ่นที่ 6 ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาแสดงปาฐกถา และเสนอ “ทางออกเพื่อแก้วิกฤต” ในด้านหนึ่งๆ เพื่อพลิกฟื้นธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศให้อยู่รอดและเติบโตต่อไป

Advertisement

วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วย (1) นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ (ธุรกิจสายการบิน) (2) นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ (ธุรกิจท่องเที่ยว) (3) ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา (ธุรกิจค้าปลีก) (4) นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร (ธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์) (5) นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร (ธุรกิจการเกษตรและอาหาร) (6) นายสมโภชน์ อาหุนัย (ธุรกิจเทคโนโลยีและพลังงาน) (7) ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม (ธุรกิจการลงทุน) (8) นายธงชัย บุศราพันธ์ (ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์) และ (9) นายเกรียงไกร เธียรนุกุล (ธุรกิจ SMEs)

ในงานสัมมนาทางวิชาการนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการ ในคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.)

หลายเรื่องที่ท่านไพรินทร์ได้พูดนั้น ให้ข้อคิดที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ดังตัวอย่างในตอนหนึ่งที่ท่านกล่าวว่า “การปิดเมือง (Lockdown) ส่งผลให้เศรษฐกิจยุบตัวจากฐานล่างสุด ดังนั้น การแก้ไขปัญหาต่างๆ ต้องมุ่งเป้าไปที่กลุ่มฐานรากก่อน เช่น นักศึกษาจบใหม่ คนว่างงาน ผู้ใช้แรงงาน และผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง ซึ่งล่าสุดรัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.ช่วยแก้ปัญหาให้กับอุตสาหกรรมก่อสร้างโดยไม่คิดค่าปรับ รวมเป็นมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท”

Advertisement

ส่วนท่าน สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปิดท้ายงานสัมมนา โดยสรุปในตอนหนึ่งว่า “ประเทศไทยยังมีโอกาสในวิกฤต COVID-19 ในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ที่สามารถส่งออกอาหารไปยังต่างประเทศ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ที่สามารถนำการประหยัดจากต้นทุน มาลงทุนต่อยอดพัฒนาประเทศได้ โดยไม่เป็นภาระต่อรัฐบาล อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการสร้างเมืองไทยให้เป็นเมืองน่าอยู่ของโลก เพื่อดึงดูดนักลงทุน นักท่องเที่ยว หรือ Corporate ใหญ่ๆ ให้ย้ายฐานมาเมืองไทย”

สาระสำคัญของงานสัมมนาครั้งนี้นับว่ามีประโยชน์ต่อธุรกิจอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ อย่างมาก ซึ่งจะได้นำเสนอเป็นระยะๆ ตามสมควรต่อไป ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image