หัวหรือก้อย : การศึกษาไทยกับสถานการณ์ของสังคมโลก

หัวหรือก้อย : การศึกษาไทยกับสถานการณ์ของสังคมโลก

หัวหรือก้อย : การศึกษาไทยกับสถานการณ์ของสังคมโลก

สถานการณ์ของสังคมโลกปัจจุบันนี้มีความผันผวนในทุกๆ ด้านทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมืองการปกครอง ด้านสังคมและวัฒนธรรม ความผันผวนต่างๆ ที่เกิดขึ้นดังกล่าวย่อมส่งผลทั้งต่อการพัฒนาและสร้างความถดถอยให้กับสังคมได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้การศึกษาของรัฐชาติจำเป็นจะต้องตระหนักถึงการสร้างกลไกทางการศึกษาที่ชัดเจนและมีสอดคล้องกับความผันผวนที่เกิดขึ้นก็จะสมารถทำให้รัฐชาติมีสภาพที่จะ “ยืน” อยู่ได้อย่างมั่นคงและจะนำพาให้เกิดความเจริญงอกงามได้อย่างยอดเยี่ยม

หัวหรือก้อยของการศึกษาไทย
ถึงแม้ว่าการศึกษาไทยจะมีพัฒนาการที่ยาวนานในการสร้างองค์ความรู้และข้อความรู้ที่นำมาพัฒนารัฐชาติ แต่บางยุคบางสมัยยังพบว่า การศึกษายังตอบโจทย์ของสังคมได้ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร กล่าวตามความเป็นจริง ข้อความรู้ที่เรียกว่าวิชาการสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนานั้นการศึกษาไทยต้องมุ่งให้ผู้เรียนได้รู้จักเสพและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมเพราะที่ผ่านมาชุดความรู้ที่ครูผู้สอนหยิบยื่นให้กับผู้เรียนในทุกระดับของการศึกษาส่วนมากจะมีลักษณะเป็น “ก้อนความรู้” มากกว่าที่จะมีบรรยายถึงสรรพคุณของก้อนความรู้นั้น ทุกยุคทุกสมัยนั้น ก้อนความรู้จะถูกเขียนไว้ในเอกสารราชการทุกประเภทว่า สามารถนำความรู้ปรับใช้ให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันหรืออนาคต แต่ไม่ได้บอกต่อผู้เรียนว่า ปรับใช้อย่างไร (How to) จึงทำให้เกิดสภาวะทางการศึกษาของรัฐชาติที่เรียกว่า “รู้แต่ไม่เข้าใจ”

นอกจากนี้ดูเหมือนว่าเนื้อหาหรือก้อนความรู้ต่างๆที่ปรากฏออกมาจะเป็นเพียง “บทกวี” ที่สวยหรูในทุกหลักสูตรตั้งแต่ระดับอนุบาลศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา ฉะนั้น ก้อนความรู้ต่างๆ ที่ดีและเกิดประโยชน์สูงสุดให้กับผู้เรียนและง่ายต่อการพัฒนานั้นจะต้องบอกวิธีการถึงการนำเนื้อหาก้อนความรู้นั้นๆ ไปปรับใช้ให้เหมาะสมหรือเกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้อย่างชัดเจนปราศจากความคลุมเครือ (Vague) ใดๆ ทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้นภาพฉายทางการศึกษาของรัฐชาติที่อุบัติขึ้นจนมีลักษณะ “แฟชั่นนิยม” อีกลักษณะหนึ่งคือ มีการปฏิรูปการศึกษาในทุกช่วงของผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นเสนาบดีทางการศึกษาจนกลายเป็นเรื่องที่สร้างความเบื่อหน่ายให้กับครูผู้สอน ขณะเดียวกันบางยุคบางสมัยมีการสถาปนาถึงความศักดิ์สิทธิ์ของเอกสารจนทำให้ครูผู้สอนไม่ได้เตรียมการสอนเพราะหมกมุ่นกับการผลิตเอกสารเพื่อการประเมิน แต่เมื่อตรวจสอบอย่างจริงจังจะพบว่าเป็นเพียงร่องรอย (Remains) หนึ่งที่ทำให้ครูผู้สอนสบายใจ

Advertisement

การปฏิรูปการศึกษาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมิได้หมายความว่ามีการพัฒนาที่ครบตามองค์ประกอบและหลักของการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาแต่อย่างใดทั้งนี้อาจจะตีความได้ว่าการศึกษาของรัฐชาติไม่มีความมั่นคงและขาดจุดยืนที่ชัดเจนสุดท้ายทำเกิดสภาพสภาวะชะงักงันทางการเรียนรู้ (Learning stagnation) ต่อผู้เรียนด้วย อนึ่งในปริมณฑลของก้อนความรู้ที่ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรหรือกิจกรรมการเรียนรู้ส่วนมากเป็นความรู้เชิงเนื้อหามากกว่าเชิงเทคนิค (Technical Condensed) ซึ่งไม่สอดคล้องกับปริบทของการศึกษาโลกในปัจจุบันที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะทางด้านเทคนิคในการปรับใช้หรือต่อยอดก้อนความรู้ต่างๆ เพื่อพัฒนาตนเองและสังคมให้มีความสุขได้

สิ่งที่การศึกษาไทยควรออก‘หัว’
1.นำสังคม การศึกษาไทยจะต้องมีผู้ที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในการจัดการศึกษาและต้องหันชำเลืองมองการศึกษาของสังคมอื่นและทำเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า มีสิ่งไหนที่จะต้องปรับให้สอดคล้องหรือเทียบเคียงกับปริบทพื้นฐานของรัฐชาติเพราะที่ผ่านมามีลักษณะลอกเลียนแบบมากกว่าที่จะ “กล้า” จัดการศึกษาเอง การศึกษาภายใต้ขอบเขตของการนำสังคมนั้นจะต้องมีการบูรณาการสิ่งที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของการประกอบอาชีพมาเป็นบทตั้ง บทแย้งที่ต้องพิจารณาคือ บทบาทของผู้ที่มีอำนาจในการจัดการศึกษาทั้งปวงกล่าวคือ ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่มีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาของชาติลงมาถึงผู้ปฏิบัติที่ต้องมีความเข้าใจที่สอดคล้องกันด้วย เพราะบางครั้งยังมีภาพของปฏิบัติการทางการศึกษาของรัฐชาติยังมีลักษณะคลุมเครือและไม่มีทิศทางที่ชัดเจนซ้ำร้ายปราศจากความถูกต้องตามหลักปรัชญาการศึกษาที่ถูกต้อง การศึกษาของรัฐชาติในการนำสังคมที่ดีต้องหมั่นตรวจสอบและพิจารณาถึงปริบทสภาพต่างๆของประเทศให้ดีและให้ลึกซึ้งทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของรัฐชาติมาเป็นองค์ประกอบหลักในการวางแผนทางการศึกษาและที่สำคัญต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เรียนที่จะได้รับในระยะยาวไม่ใช่ระยะสั้นซึ่งจะดูเหมือนว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงตามสมัยนิยม (Fashionable) เท่านั้น

2.ชื่นชมความเป็นไทย กล่าวตามความเป็นจริงและเป็นเป้าหมายที่สำคัญสูงสุดของการศึกษาที่ดีในทุกรัฐชาติคือการส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกและมีจิตสำนึกเบื้องต้น (Primary concerns) ในความเป็นชาติและ ความเป็นปึกแผ่นของแผ่นดินที่บรรพบุรุษได้สั่งสมมาจนถึงปัจจุบัน การศึกษาของรัฐชาติที่ควรออกมาเป็น “หัว” นั้นต้องสอนให้รักษามรดกที่ดีงามของชาติไว้ จะเห็นได้ว่าหลายชาติที่มีความยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมเช่น อาณาจักรบาบิโลเนีย อาณาจักรออสโตมัน หรืออีกหลายๆ อาณาจักรทำไมจึงเกิดการล่มสลายทางวัฒนธรรมได้เพราะสาเหตุที่ไปหลงชื่นชมกับวัฒนธรรมใหม่ที่ไหลบ่าเข้ามาโดยหารู้ไม่ว่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวเผาผลาญทางวัฒนธรรมโดยไม่รู้ตัว ด้วยเหตุนี้การศึกษาที่จะเกิดคุณูปการต่อความเจริญงอกงามของสังคมและวัฒนธรรมของรัฐชาติจะต้องปั้นแต่งผู้เรียนให้มีความกตัญญูซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่นเป็นปฐมบทตลอดจนการรู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองด้วย

Advertisement

3.หัวใจสากล การศึกษาของรัฐชาติจะต้องนำพาให้ผู้คนในชาติมีหัวใจสากล กล่าวคือ มีวิธีคิด มีวิธีการกระทำรวมทั้งมีวิธีการที่จะเคารพหลักการพื้นฐานที่เป็นสากลเช่น หลักประชาธิปไตย หลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติภาพ การสร้างและอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศที่มีผลมาจากภัยพิบัติธรรมชาติ (Climate change) ให้ดีขึ้น การศึกษาต้องสร้างพลังร่วมตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับชุมชน จนถึงระดับประเทศชาติได้เป็นอย่างดี

ข้อคิดที่พึงตระหนัก
เพราะการศึกษาเป็นเเครื่องมือในการพัฒนารัฐชาติฉะนั้นการศึกษาจะต้องถูกจัดวางในลักษณะที่มีความเหมาะสม ทั้งยุทธศาสตร์และการดำเนินการและอย่างน้อยการศึกษาจะต้องตรวจสอบสถานการณ์ของสังคมโลกอย่างน้อย 3 T’s ในประเด็นดังนี้ ประเด็นทางด้าน Time กล่าวคือเวลาของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมโลกที่การศึกษาต้องตระหนัก ประเด็น Technology เทคโนโลยีสร้างสรรค์ที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความสุขในการแสวงหาข้อความรู้ทั้งในและนอกชั้นเรียนซึ่งการศึกษาจะต้องให้ความสำคัญและประเด็นทางด้าน Thinking ซึ่งผู้ที่ออกแบบการศึกษาของรัฐชาติจะต้องมีวิธีคิดที่จะต้องยึดแบบแผนของการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาความยั่งยืนเป็นหลัก อย่างไรก็ตามหากหันกลับมาทบทวนให้ลึกซึ้งอีกอย่างหนึ่งคือ การศึกษาของรัฐชาติที่เป็นอยู่ในสถานการณ์ของสังคมโลกปัจจุบันยังถูกภัยคุกคามทั้งจากโรคระบาด ความตกต่ำทางด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นการศึกษาที่จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพนั้น

การศึกษาต้องมีบทบาทที่ชัดเจนอย่างน้อย 2 ประการ คือ Education for Wisdom และ Education for Work เพียงแค่นี้ผู้เขียนมองว่า การศึกษาของรัฐชาติจะไม่ตกอยู่ในความคิดของผู้คนส่วนใหญ่ที่จะมีจินตนาการต่อไปว่า “หัวหรือก้อย” อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image