การจัดการบ้านเมืองอย่างชาญฉลาด

การจัดการบ้านเมืองอย่างชาญฉลาด

การจัดการบ้านเมืองอย่างชาญฉลาด : โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์, พิชิต รัชตพิบุลภพ และภคพร วัฒนดำรงค์

ความตื่นตัวของการบริหารจัดการบ้านเมืองอย่างชาญฉลาด หรือบางท่านเรียกว่าเมืองอัจฉริยะ (smart city) เกิดขึ้นทั่วโลก รวมในหลายหัวเมืองในประเทศไทย ถึงแม้ว่าขณะนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ก็มีความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นเห็นได้เชิงประจักษ์ ผู้บริหารหลายหัวเมืองได้ริเริ่มกำหนดกรอบความคิดและแนวทางการพัฒนาของตนเอง บางแห่งถึงขั้นเตรียมการลงทุน บางแห่งร่วมกันจัดทำ “กฎบัตรการพัฒนาเมือง” หมายถึงข้อตกลงร่วมกันกับภาคส่วนต่างๆทั้งเอกชนและภาครัฐว่าใครจะทำหน้าที่อะไร นับว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ควรค่าต่อการวิจัย ในโอกาสนี้ผู้เขียนและคณะขอนำเรื่องราวดีๆ จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้นำท้องถิ่นและนักบริหารมาเล่าสู่กันฟังพร้อมกับข้อสังเกตตามสมควร

เมือง ประกอบด้วยผู้คนบ้านเรือนร้านค้าโรงงานหน่วยงานรัฐและเอกชน ในพื้นที่เมืองซึ่งครอบคลุม 20-50 ตารางกิโลเมตรถ้าหากนับเมืองบริวารด้วยอาจจะถึง 100 ตารางกิโลเมตร มีสิ่งปลูกสร้าง ถนนหนทาง ระบบการขนส่งคมนาคม มีพื้นที่สาธารณะซึ่งจะต้องดูแล ฯลฯ แต่หากขาดระบบจัดการที่ดี เมืองก็อาจจะเติบโตอย่างไร้ระเบียบ เกิดปัญหาจราจรแออัด สภาพแวดล้อมที่ไม่น่าอภิรมย์ ไม่ประหยัดและด้อยประสิทธิภาพ ฯลฯ นักบริหารและนักวิชาการจึงช่วยค้นคิดระบบจัดการบ้านเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างชาญฉลาด ให้เกิดการประหยัดและประสิทธิภาพ นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ อย่างไรก็ตาม การตีความของแต่ละเมืองแตกต่างกันตามสภาพ บางหัวเมืองเน้นพัฒนาการขนส่งอัจฉริยะ ในขณะที่บางแห่งเน้นการออกแบบอาคารบ้านเมือง ปรับปรุงภูมิสถาปัตย์ให้มีเสน่ห์ บางเมืองเน้นการเป็นศูนย์กลางบริการสาธารณะโดยประยุกต์ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ บางหัวเมืองเน้นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่ออวด “ของดีประจำเมือง” สร้างรายได้พ่อค้ามาขายและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ฯลฯ

ผลงานวิชาการที่บันทึกการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจำนวนมากในสามทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา โดยมีผู้เสนอแนะนิยามเมืองอัจฉริยะ วิธีการคัดสรรตัวชี้วัดที่เหมาะสม นำมาวิเคราะห์ผล เสนอผลประกวดความเป็นเมืองอัจฉริยะจากหลายสิบประเทศทั่วโลก Bogdonov และคณะ 2019 เสนอบทความวิจัย โดยพัฒนาตัวชี้วัดที่สะท้อนความเป็นเมืองอัจฉริยะ จำแนกตัวชี้วัดออกเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งล้วนเกี่ยวกับเทคโนโลยีการสื่อสาร ทุนมนุษย์ ทุนทางสังคมและวัฒนธรรม และสภาพสิ่งแวดล้อม นำมาคำนวณตามหลักสถิติ พร้อมกับจัดเรียงลำดับ (ranking) เมืองต่างๆ 50 แห่งจากนานาประเทศ

Advertisement

ในที่นี้ขอยก 5 ลำดับต้นๆ ของเมืองอัจฉริยะตามรายงานวิจัยดังกล่าว กล่าวคือ มหานครลอนดอน สิงคโปร์ นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก และเฮลซิงกิ (ในรายงานวิจัยนี้ระบุ 50 เมืองที่อยู่ในข่าย โดยนับรวมจังหวัดภูเก็ตของไทยด้วย ติดอันดับที่ 47 ใน 50 เมืองอัจฉริยะ)

งานวิจัยของเราได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ นอกจากการสำรวจกรอบความคิดและทบทวนวรรณกรรมในต่างประเทศ นักวิจัยได้พยายามสำรวจความริเริ่มพัฒนาเมืองอย่างชาญฉลาดของไทยเรา ขอนำกรณีศึกษาตัวอย่างดังต่อไปนี้ หนึ่ง อบจ. สมุทรปราการ วางแผนพัฒนาโครงการรถฟ้ารางเดี่ยว (Mono Rail) ซึ่งจะเชื่อมกับระบบขนส่งมวลชนใน กทม. ที่มีอยู่แล้ว เพื่อแก้ป้ญหาจราจรแออัด อบจ. ได้เสนอโครงการลงทุนทั้งในส่วนของงานโยธาและงานระบบไฟฟ้า โดยขอรับเงินสนับสนุนบางส่วนจากภาครัฐ และใช้เงินสะสมของหน่วยงานซึ่งมีมูลค่ากว่า 6 พันล้านบาทมาใช้บางส่วน สำหรับแนวทางการบริหารงานโดยว่าจ้างเอกชน ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแล

สอง เทศบาลเมืองบ้านฉาง ระยอง ซึ่งอยู่ติดกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อันเป็นอภิโครงการที่ภาครัฐมุ่งพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก การพัฒนาทำให้ราคาของที่ดินขยับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เฉพาะแปลงที่ดินที่ติดถนน แปลงที่ดินที่อยู่ลึกจากถนนหรือที่ดินตาบอดไม่ได้รับอานิสงส์ เทศบาลจึงดำริโครงการจัดรูปที่ดินใหม่ ภายในพื้นที่ 1,800 ไร่ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ทุกแปลงได้รับประโยชน์สูงขึ้น ไม่เป็นพื้นที่ตาบอด เป็นผลประโยชน์ร่วมกันที่คุ้มค่าต่อการเปลี่ยนแปลงและต้นทุนที่จะลง

Advertisement

สาม การพัฒนาศูนย์กลางการค้าและการท่องเที่ยวของเทศบาลนครนครสวรรค์ โดยวางแผนออกแบบย่านอัจฉริยะ (Smart Block) ด้วยการขยายทางเดินสาธารณะ เพื่อให้ผู้คนสัญจรและสะดวกในการจับจ่าย เกิดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม ตลาดนัดกลางเมือง มีเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ในโครงการยังได้ระบุการติดตั้งเสาอัจฉริยะ (Smart Pole) ซึ่งจะปรับระดับแสงสว่างได้ตามสภาวะแวดล้อม ติดกล้องวงจรปิดเพื่อแจ้งเตือนสาธารณภัย ปล่อยสัญญาณไวไฟ ติดตั้งจุดชาร์จกระแสไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ การรายงานข้อมูลสภาพอากาศ ค่าฝุ่นละออง รวมถึงข้อมูลขนส่งสาธารณะ เป็นต้น

สี่ เทศบาลเมืองแม่เหียะ เชียงใหม่ ซึ่งได้รับรางวัลการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา จากคณะกรรมการกระจายอำนาจ เน้นการพัฒนาระบบบริการประชาชน one-stop services พัฒนาระบบการสื่อสารให้ประชาชนเชื่อมกับเทศบาลแจ้งเหตุผ่านมือถือ พัฒนาแอพพลิเคชั่นและฐานข้อมูลหลายมิติ (มากกว่า 80 ตัวแปรสำคัญ) ซึ่งสามารถแสดงตำแหน่งในจอภาพและอิงกับแผนที่ของเมือง ช่วยให้ผู้บริหารติดตามสถานการณ์และการปฏิบัติงานทันท่วงที เทศบาลได้ลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ (โดรน) และพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ด้านไอที เพื่อสำรวจพื้นที่ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว เช่น เมื่อมีร้านค้าเปิดใหม่ในเขตพื้นที่เทศบาลนำไปปรับปรุงฐานภาษี ด้านสังคมได้ประสานความร่วมมือกับประชาชนในการลดปัญหาหมอกควัน การออกข้อบัญญัติของเมืองเพื่อลดปัญหามลพิษ ทั้งนี้แม่เหียะเป็นเมืองที่ขยายตัวรวดเร็วมีหน่วยงานของราชการตั้งอยู่และมีศูนย์การท่องเที่ยวในเขตพื้นที่

ห้า เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพประชาชน บริการการแพทย์ฉุกเฉิน (หมายเลข 1132 ซึ่งสามารถจะเชื่อมโยงกับระบบเดิม 1669 ได้) การดูแลผู้สูงวัย จัดกิจกรรมให้ผู้สูงวัยมาร่วมกันเพื่อสร้างเสริมสุขภาพทำให้มีความสุข การฝึกทักษะและความรู้การประดิษฐ์ต่างๆเพื่อให้สมาชิกใช้เวลาว่างอย่างมีประโยชน์และมีรายได้เสริมตามสมควร

กรณีศึกษาที่อ้างอิงข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งในพัฒนาการที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา โดยความคิดริเริ่มของผู้บริหารเมืองและทีมงาน นักวิชาการ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยและโลกอยู่ในสภาวะชะลอตัว การท่องเที่ยวและการค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบระดับหนึ่งจากไวรัสโควิด แต่มิได้ทำให้ผู้บริหารท้อถอย ยังคงต้องคิดเชิงบวก รอคอยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ งานวางแผนและความริเริ่มก้าวไปสู่การบริหารเมืองอัจฉริยะ ยังคงเดินหน้าไม่หยุดยั้ง

เป็นกิจกรรมดีๆ ที่ควรค่าต่อการบันทึกและวิจัย คาดว่าจะมีเรื่องราวดีๆ ในสังคมมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
พิชิต รัชตพิบุลภพ
ภคพร วัฒนดำรงค์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image