คุณภาพคือความอยู่รอด : ทางรอดของ SMEs เกิดใหม่

คุณภาพคือความอยู่รอด : ทางรอดของ SMEs เกิดใหม่

คุณภาพคือความอยู่รอด : ทางรอดของ SMEs เกิดใหม่ : โดย วิฑูรย​ สิมะโชคดี

ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนที่เติบโตจากกิจการเล็กๆ (SMEs) จนเป็นกิจการที่เติบใหญ่ในวันนี้ เขาได้ให้ข้อคิดที่สำคัญหลายประการเกี่ยวกับ “การลดต้นทุน” และ “การทำกำไร” ที่ทำให้เขามีวันนี้

โดยทั่วไปแล้ว SMEs ที่เพิ่งตั้งตัวมักจะถูกสอนให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่อง “ต้นทุน” (การลดต้นทุน) เป็นหลัก จึงทำให้มองข้ามหลายสิ่งหลายอย่างที่เกี่ยวข้องไป

แม้ว่าการลดต้นทุนจะมีความสำคัญอย่างยิ่งก็จริง โดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิต (การลดต้นทุนในกระบวนการผลิต) ในตอนเริ่มต้นกิจการ แต่ “ความสามารถในการทำกำไร” ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

Advertisement

ถ้าเราจำกัดความคิดอยู่แต่วิธีการลดต้นทุน จะทำให้เรามองข้าม “โอกาส” ที่จะใช้ต้นทุนที่เกิดขึ้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเพิ่มยอดขายที่จะนำไปสู่การเพิ่มกำไรด้วย

ตอนเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ นั้น เจ้าของกิจการ SMEs มัก “ลุย” เป็นหลัก เพื่อจะขายให้ได้ก่อน การบริหารจัดการจึงไร้รูปแบบและไม่เป็นระบบ อะไรลดต้นทุนได้ก็ทำโดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมา เช่น การละเลยปัญหาเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม ชุมชนใกล้เคียง เป็นต้น เมื่อเกิดปัญหาค่อยคิดแก้ไข แต่บ่อยครั้งก็สายเกินแก้ เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “การป้องกัน” ตั้งแต่ต้น

การบริหารจัดการธุรกิจอุตสาหกรรม ที่ไร้ระเบียบหรือไม่เป็นระบบ มักจะนำไปสู่ปัญหาของ “ความไม่มีประสิทธิภาพ” และการขาดทุนในที่สุด

Advertisement

ดังนั้น สิ่งที่ SMEs ควรจะต้องมีความชัดเจนตั้งแต่ต้น คือ นอกจากจะต้องรู้ว่า “จะขายของให้ใคร” (หรือจะผลิตอะไรเพื่อขายใคร) แล้ว เราจะต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์และมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนด้วย จากนั้นจึงลงมือวางแผนดำเนินการเป็นระยะๆ ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว

ในระยะสั้น (ระยะที่ 1) นั้น จะต้องมีขั้นตอนของการทำงบประมาณด้วย เพื่อจะได้จัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด (เงินลงทุนและบุคลากร) เพื่อดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายในระยะสั้นให้ได้ก่อน ซึ่งเป็นขั้นตอนเบื้องต้นของการทำยุทธศาสตร์ที่เป็นเหมือน “แผนที่นำทาง”

การประกอบกิจการในระยะเริ่มต้น จึงไม่ควร “ลุยไปข้างหน้า” อย่างไม่ลืมหูลืมตา คือ อย่าเอาแต่เดินหน้าโดยไม่ตรวจดูแผนที่ นาฬิกา และสภาพของรองเท้าที่เราใส่ เราจะต้องตรวจดูวิธีการทำงานและติดตามค่าใช้จ่ายอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มต้นจนบรรลุเป้าหมาย

SMEs และธุรกิจอุตสาหกรรม แต่ละอย่างจะมีปัญหาของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับที่มีโอกาสต่างๆ ที่ไม่เหมือนกันด้วย เราควรคิดหาวิธีที่เหมาะเจาะลงตัวกับกิจการของเรา และเมื่อประสบความสำเร็จในวิธีใดวิธีหนึ่งแล้ว ก็ต้องเรียนรู้และจดจำไว้ เป็น “วิธีการที่ได้ผล” เพื่อจะได้ใช้เป็นตัวอย่างในการดำเนินการ หรือการตัดสินใจได้เลยในสถานการณ์ที่คล้ายกันในอนาคต ส่วนความคิดอ่านที่ดีอื่นๆ ที่เราได้จากประสบการณ์ของผู้อื่น ก็ต้องศึกษาจดจำและเก็บไว้ใช้งานในโอกาสต่อๆ ไปในวันหน้าด้วย

การเรียนรู้จาก “ประสบการณ์ของคนที่สำเร็จ” จึงมีความสำคัญยิ่ง

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ SMEs และธุรกิจอุตสาหกรรมจะต้องยึดมั่นในเรื่องของ ต้นทุน คุณภาพ การบริการ และความรวดเร็วที่เป็น “4 เสาหลัก” อันเป็น “ปัจจัยเบื้องต้นแห่งความสำเร็จ”

ที่สำคัญที่สุด ก็คือ SMEs ต้องมุ่งมั่นและยึดเอาความยั่งยืนในระยะยาวด้วย ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image