ที่เห็นและเป็นไป : อำนาจต้อง‘ไม่โหมแรงไฟ’

ที่เห็นและเป็นไป : อำนาจต้อง‘ไม่โหมแรงไฟ’ การชุมนุมใหญ่ของ “เยาวชนปลดแอก”

ที่เห็นและเป็นไป : อำนาจต้อง‘ไม่โหมแรงไฟ’

การชุมนุมใหญ่ของ “เยาวชนปลดแอก” ของเครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษา และกลุ่มมวลชนต่างๆ ซึ่งนัดครั้งต่อไปที่ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” เริ่มมองเห็นแนวโน้มที่จะเดินเข้าสถานการณ์แตกหักมากขึ้น

ทางหนึ่งเป็นการรุกเข้าสู่การท้าทายอำนาจในทางรูปธรรม ไม่ว่าการประกาศจะรื้อต้นไม้ที่ กทม.นำมาจัดเป็นส่วนหย่อมรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยออก เพื่อเปิดพื้นที่ให้ปลอดจากการสร้างสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของของอำนาจรัฐก็ตาม หรือการประกาศเปลี่ยนยุทธศาสตร์การชุมนุมแบบแฟลชม็อบซึ่งเป็นเพียงการส่งสัญญาณความไม่พอใจเป็นครั้งคราว เป็นรูปของมาตรการกดดันต่อเนื่อง โดยมีเป้าให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมของอำนาจบางอย่างก็ดี

เป็นการที่ผู้ชุมนุมประกาศศักดาว่าการชุมนุมจะก้าวไปอีกคืบ เพื่อให้แนวร่วมสัมผัสได้ถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม

Advertisement

หรืออีกทางหนึ่ง คือประกาศหลอมรวมเครือข่าย เปลี่ยนชื่อม็อบเป็น “คณะราษฎร” อันให้ความหมายที่ลึกลงไปถึงการต่อสู้ในประวัติศาสตร์ และส่งสัญญาณถึงสัญลักษณ์สู่รากของประชาธิปไตยสากล

กลับคืนสู่การทบทวนความรู้ความคิดในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ

ระหว่างเสรีภาพส่วนบุคคล กับความเป็นเอกภาพของส่วนรวม มาถึงจุดที่จะต้องเปิดหน้าปะทะกันอย่างเข้มข้นมากขึ้น

Advertisement

ผลึกความคิดหนึ่งที่เห็นว่า เสรีภาพส่วนบุคคลต้องมาก่อน การที่อำนาจรัฐจะออกระเบียบ กฎหมาย กำหนดมาตรการและวิธีปฏิบัติใดๆ มาบังคับบุคคลให้ต้องทำตาม หรืออยู่ในกรอบจำกัดอย่างหนึ่งอย่างใด จะทำได้ต่อเมื่อมีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าจะกลับมาเป็นประโยชน์กับเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างไร

ถึงวันนี้ ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชน โดยเฉพาะ “เยาวชนคนรุ่นใหม่” ไม่ยอมรับการอธิบายแบบ “เป็นเรื่องทำอย่างนั้นตามๆ กันมานานแล้ว เป็นวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ ทำให้ประเทศอยู่รอดปลอดภัยมาถึงทุกวันนี้ การทำตามประเพณีที่เคยปฏิบัติมาของวิถีแบบไทยๆ จะเป็นหลักประกันไม่ให้ต้องเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียความดีงามของการอยู่ร่วมกันที่บรรพบุรุษสร้างสมมาไว้ให้เป็นมรดกแก่ลูกหลาน”

เนื่องจากคนรุ่นใหม่ที่เริ่มเรียนรู้อะไรต่ออะไรนอกจากชี้อำนาจของระบบที่กำหนดด้วยอำนาจรัฐมากขึ้น ทำให้พวกเขาเห็นว่า “คำตอบเช่นนั้นคลุมเครืออธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลให้เห็นรูปธรรมไม่ได้ว่ามีประโยชน์อย่างไรต่อชีวิตเขา”

เกิดคำถาม “ทำไม ทำไม ทำไม” ไม่รู้จบขึ้นมากมายในสมองของคนรุ่นใหม่

อย่างเช่น “เครื่องแบบนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หน้า ผม จึงต้องอยู่กับแบบที่พวกเขารู้สึกว่าเฉิ่มเชยแบบนั้น” หรือ “ทำไมต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ คือครูบาอาจารย์ที่ส่วนใหญ่ปล่อยให้ชีวิตตัวเองมีหนี้สินพะรุงพะรังนัก จำนวนมากสำมะเลเทเมา ใช้ชีวิตไม่เป็นโล้เป็นพาย ไม่มีอะไรที่ควรจะถือเป็นแบบอย่าง”

คือ “ทำไมอื่นๆ อีกมากมาย” ซึ่งหากอยากรู้สามารถหาคำถามเช่นนี้ได้จากโลกออนไลน์ หรือในที่ที่เด็กๆ แสดงออกได้ไม่ยาก

เป็นคำถามที่ก่อการปะทะกันรุนแรงระหว่างคนที่เคยชินกับโลกแบบเก่ารู้สึกปลอดภัยกับการจมปรักอยู่กับความคิดความเชื่อ และการปฏิบัติเดิม กับคนที่แสวงหาโลกแบบใหม่ที่ให้ความหวังมากกว่า

เป็นการปะทะกันทางความรู้ และความคิดที่จูนให้เกิดความเข้าใจกันได้ยากมาก

เพราะเอาเข้าจริงแล้ว คนรุ่นเก่า หรือผู้ที่อยู่กับความเคยชินเก่าๆ จำนวนมากไม่มีความสามารถพอที่จะตอบคำถามว่า “ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น” เพราะพวกเขาจำนวนมาก หรือจะว่าไปแล้วแทบทั้งหมด ล้วนเติบโตมาแบบ “ทำตามๆ กันโดยไม่คิดตั้งคำถาม”

ถึงแม้จะมีจำนวนหนึ่งที่รู้ว่า คำถามว่า “ทำไมเหล่านั้น” มีคำตอบอยู่

แต่เหตุผลที่เป็นที่มาของคำตอบนั้น กลับเป็นเรื่องที่ปรับจูนให้เข้ากับฐานความคิดแบบเสรีนิยม ที่ยึดถือเอาเสรีภาพส่วนบุคคลมีความสำคัญที่สุดต่อชีวิตไม่ได้เลย

คนหนึ่งอธิบายด้วยความสำคัญของเอกภาพส่วนรวม อีกคนหนึ่งต้องการเข้าใจว่า “แล้วมันมีประโยชน์อะไรต่อเสรีภาพส่วนตัวของเขา ทำไมอิสรภาพของเขาต้องถูกจำกัด”

ยากจะเป็นเรื่องเข้าใจกัน และยิ่งตอบคำถามว่า “ทำไม อะไร” ยิ่งขยายตัวไปให้ต้องหาคำตอบร่วมกันในเรื่องของ “ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม การผูกขาดผลประโยชน์ การปิดกั้นโอกาส และการกดข่ม ครอบงำ” ซึ่งยิ่งตอบก็ยิ่งถูกถามลึกไปเรื่อยๆ

จนหนีไม่พ้นที่จะไปจบที่การใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมเข้าคุกคาม ซึ่งยิ่งไปกันใหญ่

ถึงวันนี้ แนวคิดสองทางที่ตั้งคำถามที่ตอบไม่ได้ต่อกันและกันเริ่มสุกงอมมากขึ้น

วันที่ 14 ตุลาคมที่จะถึงนี้ จะเป็นอีกครั้งที่เสี่ยงว่าจะเกิดการปะทะกันรุนแรงระหว่างคนต่างความคิดดังกล่าว

ประเด็นอยู่ที่ “ผู้มีอำนาจ” ในที่นี่คือ “รัฐบาล” จะต้องตระหนักถึงภารกิจ “หาทางป้องกัน ไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น”

จะต้องเป็นผู้ “ดึงฟืนออกจากไฟ”

จะต้อง “ไม่เป็นผู้มีส่วนสนับสนุนให้เกิดความรุนแรง” หรือ “เติมฟืนโหมไฟ” อย่างเด็ดขาด

เพราะอำนาจรัฐที่เลือกโหมความรุนแรงเสียเอง แทนที่จะมองทุกอย่างอย่างเข้าใจ และหาทางที่จะให้เกิดการยอมรับความเห็นต่าง

จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประเทศชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image