ไทยพบพม่า : การเลือกตั้งในพม่าจากสายตาของคนรุ่น 88 โดย ลลิตา หาญวงษ์

ในการเมืองแบบพม่าในยุคที่ฝ่าย “ประชาธิปไตย” อยู่ภายใต้พรรค NLD คนในรัฐบาลทั้งหมดคือคนที่ได้รับการยอมรับจากด่อ ออง ซาน ซูจี ประธานที่ปรึกษาแห่งรัฐ และหัวหน้าพรรค NLD ว่ามีความเหมาะสมกับตำแหน่งบริหารในรัฐบาล แต่ในความเป็นจริง รัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาล NLD ชุดนี้ไม่ได้เป็นนักการเมืองมืออาชีพ แต่ถูกจัดให้เป็น “แอคทิวิสต์” ที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยมาก่อน ทั้งในนามประชาชนทั่วไป นักข่าว-นักหนังสือพิมพ์ หรือนักศึกษา คนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นพร้อมกับการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ที่สุดในพม่าในปี 1988 หลังเหตุการณ์นั้น ผู้นำหลายคนถูกจำคุกนานนับสิบปีหรือมากกว่านั้น นักศึกษาบางส่วนหนีข้ามชายแดนเข้ามายังฝั่งไทย ส่วนหนึ่งใช้ชีวิตอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ส่วนหนึ่งเข้ามาตั้งสำนักงานและเคลื่อนไหวต่อเนื่องที่จังหวัดเชียงใหม่ และก็มีบางส่วนที่ออกไปตั้งรกรากในประเทศที่สาม

หนึ่งในคนรุ่น 88 ที่ประสบความสำเร็จ และได้เข้ามาตั้งสำนักข่าวทางเลือกในประเทศไทย คือ อ่อง ซอ (Aung Zaw) เขาและเพื่อนๆ ตั้งสำนักข่าวอิระวดี (The Irrawaddy) ขึ้นที่เชียงใหม่ ในปี 1990 สำนักข่าวอิระวดีมีทีมงานที่เป็นอดีตนักโทษการเมืองหลายคน รวมทั้งจ่อ ซอ โม (Kyaw Zaw Moe) บรรณาธิการข่าวภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งเคยเป็นแอคทิวิสต์การเมือง เขาถูกจับกุม และอยู่ในเรือนจำตั้งแต่ปี 1991-1999 ในฐานะบรรณาธิการข่าวภาคภาษาอังกฤษ จ่อ ซอ โม เขาตีพิมพ์บทวิเคราะห์เดือนละครั้ง หลายปีมานี้ สำนักข่าวที่มีเจ้าของเป็นอดีตแอคทิวิสต์รุ่น 88 ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเรื่องการทำข่าวเกี่ยวกับชาวโรฮีนจา และสำนักข่าวทางเลือกของพม่าหลายแห่งก็เลือกที่จะทำเป็นเงียบเฉย

แน่นอน บรรดาแอคทิวิสต์รุ่น 88 นั้นมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพรรค NLD มาแต่เดิม เพราะถือเป็น “สหายร่วมรบ” คนคุ้นเคยกันจึงหลีกเลี่ยงไม่วิพากษ์วิจารณ์กัน ในบทวิเคราะห์การเลือกตั้งล่าสุดของสำนักข่าวอิระวดี ที่เขียนโดยจ่อ ซอ โม เขาคาดการณ์การเลือกตั้งทั่วไปในพม่าที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 8 พฤศจิกายนไว้ แม้บทวิเคราะห์นี้จะโน้มเอียงเข้าข้างพรรค NLD และคนเขียนที่เป็นหนึ่งในคนรุ่น 88 ยังเชื่อมั่นว่า NLD ยังเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ที่จะขับเคลื่อนพม่าต่อไป

จ่อ ซอ โมกล่าวถึงบริบทเมื่อครั้งมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในปี 1990 ซึ่งประชาชนพม่าถึงร้อยละ 20.8 ออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หลังประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการมา 26 ปี ในครั้งนั้น มีพรรคการเมืองใหม่ๆ ลงชิงชัยกันถึง 93 พรรค แต่ในความเป็นจริง ประชาชนส่วนใหญ่มีตัวเลือกเพียง 2 พรรคเท่านั้น ได้แก่ พรรค NLD ที่เป็นตัวแทนของพลังฝั่งประชาธิปไตย รวมทั้งพรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ก็ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้ และอีกฝั่งหนึ่งคือพรรค NUP (National Unity Party) หรือพรรคสามัคคีแห่งชาติ ซึ่งเป็นพรรคของฝั่งผู้สนับสนุนกองทัพและบรรดากองเชียร์นายพลเน วิน ผลปรากฏว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้รับเสียงมากถึง 15 ล้านเสียง พรรค NLD ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนนมากถึงร้อยละ 80.82 หรือได้ที่นั่งในรัฐสภามากถึง 392 ที่นั่ง จากทั้งหมด 485 ที่นั่ง พรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ที่นั่งเป็นอันดับ 2 ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 11.75 พรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดคือพรรค SNLD ของชาวฉาน ซึ่งก็ลงเลือกตั้งในการเลือกตั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้เช่นกัน พรรค NUP ได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ 2 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการระบอบเผด็จการอีกต่อไปแล้ว

Advertisement

เป็นที่น่าเสียดายว่ารัฐบาลทหาร SLORC ประกาศให้ผลการเลือกตั้งในปี 1990 เป็นโมฆะ พม่ากลับเข้าสู่อ้อมกอดของเผด็จการต่อมาอีกถึง 25 ปี ผ่านยุคของ SLORC และ SPDC ก่อนจะมีการประกาศแผน 7 ขั้นสู่ระบอบประชาธิปไตย อันเป็นขั้นตอนหนึ่งที่กรุยทางไปสู่การเลือกตั้งในปี 2015 ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรค NLD ก็ยังได้คะแนนนำเป็นอันดับ 1 เหมือนเดิม จำนวนพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งมี 91 พรรค และมีประชาชนที่ไปลงคะแนนเสียงถึงร้อยละ 69 พรรค NLD ได้ที่นั่งในสภาร้อยละ 77.04 ด้านพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์มีที่นั่งในสภาร้อยละ 12.2 แต่เป็นที่น่าจับตามองว่าพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับเลือกเข้ามามากที่สุดกลับไม่ใช่พรรค SNLD เหมือนการเลือกตั้งปี 1990 แต่กลับเป็นพรรคใหม่ของชาวยะไข่ (อาระกัน) ในนาม Arakan National Party (ก่อตั้งปี 2014) ภายใต้การนำของตา ทุน หละ (Thar Tun Hla) ที่มีคะแนนนำพรรค SNLD ของชาวฉาน ด้านพรรค USDP อันเปรียบเป็นร่างอวตารของพรรค NUP และเป็นกระบอกเสียงให้กองทัพ ได้ที่นั่งเพียงร้อยละ 10

ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 38 ล้านคน แต่เป็นที่คาดการณ์กันว่าจะมีผู้ออกมาลงคะแนนน้อยกว่าการเลือกตั้งทั้งในปี 1990, 2010 และ 2015 ด้วยการระบาดของโควิด-19 ที่พม่าในขณะนี้
และด้วยยังมีการสู้รบกันในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะในรัฐยะไข่ จึงทำให้มีชาวยะไข่จำนวนมากที่กลายเป็นผู้ลี้ภัย ต้องหนีสงครามไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว พรรคการเมืองที่ลงชิงชัยในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนยังเป็นชุดเดิมจากการเลือกตั้งในปี 2015 ผู้เขียน (ลลิตา) มองว่าพรรค NLD ยังคงจะกวาดคะแนนแบบท่วมท้นเหมือนเดิม แต่คะแนนของพรรคจะน้อยลง เนื่องจากในปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ในพม่าที่ตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใสและการทำงานของพรรค NLD มากขึ้น อีกทั้งยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่พอใจกับกระบวนการปรองดองในชาติ ที่จะเทคะแนนไปให้พรรคของกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่าการเลือกตั้งทุกครั้ง

จ่อ ซอ โมคาดการณ์ว่า NLD จะได้รับเลือกเข้ามาเป็นอันดับ 1 โดยได้คะแนนเสียงร้อยละ 70-80 แต่ผู้เขียนคิดว่าการคาดการณ์นี้กว้างมากเกินไป ผู้เขียนมองว่าพรรค NLD ไม่มีทางได้คะแนนถึงร้อยละ 80 ได้
แต่อาจอยู่ที่ร้อยละ 70 ต้นๆ หรือถึงร้อยละ 69 โดยเสียงส่วนที่เหลือจะเทไปในฝั่งของพรรคกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะ Arakan National Party ที่เป็นพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ที่น่าจับตามองมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ ในส่วนของพรรคตัวแทนของกองทัพอย่าง USDP ก็ยังจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาน้อยกว่าร้อยละ 10 แต่เนื่องจากกองทัพกุมพื้นที่ 1 ใน 4 ของสภาทั้ง 2 สภาไว้ จึงทำให้กองทัพไม่ได้เอาจริงเอาจังกับ USDP มากนัก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image