คุณภาพคือความอยู่รอด : ของเสียเป็นศูนย์

คุณภาพคือความอยู่รอด : ของเสียเป็นศูนย์ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพคือความอยู่รอด : ของเสียเป็นศูนย์ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ในสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ทุกวันนี้ ยิ่งธุรกิจอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจนรายได้หดหายและต้อง “รัดเข็มขัด” จนไส้กิ่วแล้ว ก็ยิ่งจะต้องระวังเรื่องของ “ค่าใช้จ่าย” โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นต่างๆ ที่เกิดจาก “การผลิต” ที่ไม่มีคุณภาพ

การผลิตที่ไม่มีคุณภาพ คือ ต้องผลิตเท่าที่ขายได้ โดยไม่ผลิตเกินต้องการ (จนเหลือเพื่อเก็บรอขาย) และต้องเน้นที่ “การไม่ผลิตของเสีย” ด้วย

เหตุผลสำคัญที่เราต้องพยายามไม่ผลิต “ของเสีย” เลย ก็เพื่อรักษาไว้ซึ่งความพึงพอใจและความภักดีของลูกค้าที่มีต่อสินค้าและกิจการ เพราะ “ของเสีย” แค่เพียงชิ้นเดียวก็สามารถทำให้กิจการสูญเสียรายได้จำนวนมากได้ และการไม่มี “ของเสีย” จะไม่เพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งมีผลต่อกำไรของกิจการด้วย

Advertisement

ตัวอย่างเช่น ลูกค้าซื้อ “หม้อทอดไร้น้ำมัน” ซึ่งผลิตโดยบริษัท ก. ถ้าเครื่องนั้นมีปัญหา ลูกค้าก็จะขอเปลี่ยนเครื่องใหม่ หรือคืนของแล้วเปลี่ยนไปซื้อยี่ห้อที่ผลิตโดยคู่แข่ง และอาจจะไม่ซื้อสินค้าอื่นๆ จากบริษัท ก. อีกเลย รวมทั้งจะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้เพื่อนฝูงและครอบครัวของลูกค้าฟังด้วย ทำให้บริษัท ก. เสียหายหลายต่อ

นอกจากนี้ต้นทุน (ค่าใช้จ่าย) ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ของเสียแม้เพียงหนึ่งชิ้นก็มีต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในการกำจัด การทำลายทิ้ง การแก้ไขชิ้นงาน หรือการซ่อมแซมชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่เสียหาย เป็นต้น ต้นทุนเหล่านี้ก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายของกิจการสูงขึ้น และทำให้ “ผลิตภาพ” (Productivity) รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันของกิจการลดลงด้วย

การควบคุมคุณภาพเพื่อให้ “ของเสียเป็นศูนย์” จึงเป็นแนวความคิดในการควบคุมคุณภาพ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ แบบครบวงจร คือ ตั้งแต่การจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพ กระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ การจัดเก็บสินค้าที่มีคุณภาพ รวมตลอดถึงการขนส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้า ก็ต้องมีคุณภาพด้วย

Advertisement

ตัวเลข “ศูนย์” หมายถึง “ไม่มีเลย” จึงเป็นเป้าหมายของแนวความคิด “ของเสียเป็นศูนย์” นั่นคือ การผลิตที่ไม่มีของเสียเกิดขึ้นเลย

แนวความคิด “ของเสียเป็นศูนย์” จึงอยู่บนหลักการที่ว่า “ของเสีย สามารถป้องกันได้” ด้วยการควบคุมสมรรถนะของกระบวนการผลิตให้ดีจนไม่ทำให้เกิดของเสีย (ถึงแม้ว่าจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นจากเครื่องจักรหรือผู้ปฏิบัติงานก็ตาม)

แนวความคิด “ของเสียเป็นศูนย์” นี้ จะรับประกันได้ว่า เราจะไม่ผลิตของเสียเลยตั้งแต่เริ่มต้น จึงทำให้กิจการสามารถผลิตสินค้าตามจำนวนพอดีกับที่ลูกค้าสั่งซื้อได้

“มาตรฐานวิธีการปฏิบัติงาน” (Standard Operation Procedures หรือ SOP) ก็มีความสำคัญยิ่งต่อแนวความคิดเรื่อง “ของเสียเป็นศูนย์” ด้วย เพราะบ่อยครั้งที่ผู้บริหารโรงงานได้พบว่า ของเสียเกิดจาก “มาตรฐานวิธีการปฏิบัติงานที่บกพร่อง” รวมทั้งการที่พนักงานไม่ปฏิบัติงานตาม “มาตรฐาน วิธีปฏิบัติงานที่ถูกต้อง” ด้วย

ในสถานการณ์ COVID-19 เช่นนี้ “ของเสียเป็นศูนย์” จึงเป็นได้ทั้งเป้าหมาย และยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งขององค์กร เพื่อความอยู่รอด ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image