สะพานแห่งกาลเวลา : ข้อถกเถียงว่าด้วย‘เฮิร์ดคอมมูนิตี’ โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

A commuter wearing a face mask is silhouetted at the main train station Hauptbahnhof, as the spread of the coronavirus disease (COVID-19) continues, in Berlin, Germany, October 16, 2020. REUTERS/Fabrizio Bensch

เกิดข้อถกเถียงกันในแวดวงวิชาการว่าด้วย “เฮิร์ดคอมมูนิตี” หรือ “ภูมิคุ้มกันกลุ่ม” ขึ้นอีกครั้ง คราวนี้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก

ต้นสายปลายเหตุของเรื่อง เกิดจาก “คำประกาศแห่ง เกรทบาร์ริงตัน” เมื่อตอนต้นเดือนตุลาคม

คำประกาศที่ว่านั้น อ้างว่า มีผู้ร่วมลงนามด้วยหลายหมื่นคน ตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ไปจนถึง ผู้ประกอบวิชาชีพทางแพทย์ แล้วก็ประชาชนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ผ่านไปสองสัปดาห์ สื่ออเมริกันหลายแห่งตรวจสอบรายชื่อที่ร่วมลงนาม พบว่า มีหลายชื่อมากที่ปลอมขึ้น รวมทั้งบางชื่อที่น่าเชื่อตั้งแต่แรกเห็นว่า “เฟค” อย่างเช่น นายแพทย์ จอห์นนี บานานาส์ เป็นอาทิ

Advertisement

เรื่อง เฟค-ไม่เฟค เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องที่ใหญ่โตกว่าไม่น้อยคือ คำประกาศแห่ง เกรทบาร์ริงตัน ที่ว่านี้ เรียกร้องให้ยุติมาตรการเข้มงวดที่บังคับใช้หรือขอความร่วมมือให้ประชาชนปฏิบัติทั้งหมด ปล่อยให้เกิดการแพร่ระบาดเพื่อให้บรรลุถึงจุดที่ก่อเกิด เฮิร์ดอิมมูนิตี หรือภูมิคุ้มกันกลุ่มนั่นเอง

คำประกาศแห่ง เกรทบาร์ริงตัน บอกว่า ควรปล่อยให้คนหนุ่มสาว ที่มีสุขภาพดี แข็งแรง กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เป้าหมายเพื่อให้ติดโควิด-19 แล้วจะได้ใช้คนเหล่านี้เป็นภูมิคุ้มกันกลุ่ม ให้กับคนในส่วนที่เหลือของชุมชนหรือสังคม

ที่น่าสนใจก็คือ ในท่ามกลางการตรวจสอบและความอื้อฉาว นักวิชาการอีกส่วนหนึ่งก็แสดงออกในเชิงไม่เห็นด้วยออกมา โดยการจัดทำ “บันทึกจอห์น สโนว์” เป็นบันทึกเปิดผนึกเผยแพร่ทั่วไป ตั้งชื่อตามชื่อ จอห์น สโนว์ ผู้บุกเบิกวิชาการด้านระบาดวิทยา (ซึ่งเป็นผู้ค้นพบว่า ต้นเหตุการระบาดของอหิวาตกโรคในลอนดอนเชื่อมโยงกับปั๊มน้ำของระบบระบายน้ำเสียที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เมื่อปี 1854)

Advertisement

ในบันทึกจอห์น สโนว์ ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา มีนักวิชาการนานาชาติร่วมลงชื่อสนับสนุนทรรศนะนี้ราว 80 คน ชี้ให้เห็นว่า “เฮิร์ดคอมมูนิตี” เป็นวิธีการต่อต้านโควิด-19 ที่ “อันตราย” และ “ไม่สอดคล้องกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์” ที่ปรากฏในการแพร่ระบาดครั้งนี้

ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 80 คนที่มีทั้ง ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข, ระบาดวิทยา, ไวรัสวิทยา, โรคติดเชื้อและอื่นๆ ยืนยันว่า การปล่อยให้เกิดการติดเชื้อโดยไม่ควบคุม ในกลุ่มประชากรที่อายุเยาว์นั้น เสี่ยงต่อการเกิดการป่วยหนัก และเสียชีวิต ไปทั่วในกลุ่มประชากรทุกกลุ่ม

เหตุผลหนึ่งก็คือ การทำความเข้าใจว่าใคร หรือประชากรกลุ่มใดเสี่ยงต่อโรคสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ นั้นมีความซับซ้อนมาก หนุ่มสาวที่ดูเหมือนแข็งแรง แต่กลับป่วยหนัก และมีอาการที่สร้างปัญหาสุขภาพเรื้อรังได้หลังจากติดเชื้อโควิด-19 ก็มีไม่น้อย ทางการแพทย์ถึงกับมีศัพท์เรียกกลุ่มผู้ป่วยนี้ไว้เป็นพิเศษว่า “ลองโควิด”

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ จนกระทั่งถึงขณะนี้ แพทย์และผู้เชี่ยวชาญยังไม่มีหลักฐานที่แน่นหนาและน่าเชื่อถือที่แสดงว่า ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโดยธรรมชาตินั้น จะคงอยู่ในตัวคนผู้นั้นยาวนานขนาดไหน

ตรงกันข้ามยิ่งนับวันยิ่งพบคนติดเชื้อซ้ำมากขึ้นเรื่อยๆ รายล่าสุด พบว่าอาการป่วยครั้งหลังหนักกว่าเมื่อตอนติดเชื้อครั้งแรกด้วยซ้ำไป

ในเมื่อยังไม่มีหลักฐานว่า ภูมิคุ้มกันจะคงอยู่ยาวนาน การปล่อยให้มีคนติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จึงไม่ใช่วิธีการยุติการแพร่ระบาด แต่จะยิ่งทำให้โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดมากยิ่งขึ้น หลายระลอกมากขึ้น

กลายเป็นการสร้างภาระหนักเกินกำลังให้กับเศรษฐกิจและระบบสาธารณสุขของประเทศ

นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อมองไปยังประเทศทั้งหลายที่ประสบความสำเร็จในการยับยั้งจนการแพร่ระบาดอยู่ในความควบคุม ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ญี่ปุ่น หรือนิวซีแลนด์ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า กลยุทธ์ทางสาธารณสุขที่ถูกต้อง เมื่อนำมาใช้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้

“หลักฐานแสดงให้เห็นชัดเจนอย่างยิ่งว่า การควบคุมชุมชนไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการคุ้มครองสังคม และเศรษฐกิจ จนกว่าจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย รวมถึงวิธีเยียวยารักษาจะมีขึ้นในอีกหลายเดือนข้างหน้า”

นั่นคือข้อสรุปในบันทึกจอห์น สโนว์ ครับ

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการรับมือกับโควิด-19 ทำนองนี้คงจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป

แม้จะมีข้อเท็จจริงที่น่าเศร้า แต่มักถูกเลี่ยงไม่ค่อยพูดถึงกันให้เห็นอยู่ทนโท่ว่า โควิด-19 คร่าชีวิตมนุษย์ไปกว่าล้านคนแล้ว!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image