ดุลยภาพ ดุลยพินิจ : การคลังและงบประมาณแผ่นดิน ปี2564 ใครว่าไม่น่าห่วง โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์

ทุกๆ ปีสำนักงบประมาณจัดทำเอกสารให้รัฐสภาพิจารณาประกอบการอนุมัติงบประมาณแผ่นดิน หนึ่งในเอกสารชุดนี้คือประมาณการรายรับ แสดงที่มาของรายได้จากหน่วยจัดเก็บทุกหน่วยงาน เอกสารชุดนี้มักถูกละเลย ผู้คนส่วนใหญ่เพ่งความสนใจไปด้านรายจ่าย ว่าจะจัดสรรให้กับหน่วยงานต่างๆ อย่างไร จัดสรรลงพื้นที่จังหวัดใด ในโอกาสนี้ขอเสนอข้อสังเกตต่องบประมาณด้านรายรับ ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ภาวะเศรษฐกิจซบเซาต้องให้ความสำคัญวิเคราะห์รายได้ที่จะจัดเก็บในปี 2564

รายได้รัฐบาล ตามเอกสารระบุที่มา ดังนี้ ก) ภาษีอากรซึ่งเป็นภาษีทางตรงและทางอ้อม ข) รายได้จากการขายสิ่งของหรือบริการ ค) รายได้รัฐพาณิชย์ และ ง) รายได้อื่น ในเอกสารชุดนี้ประมาณการว่า จะเก็บรายได้ในปี 2564 เท่ากับ 3.16 ล้านล้านบาท เปรียบเทียบกับรายได้ในปี 2562 เท่ากับ 3.06 ล้านล้าน คือการขยายตัวเพิ่มขึ้น

ข้อสงสัยคือ ในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะไวรัสโควิด-19 ระบาดทั่วโลก การท่องเที่ยวการขนส่งและการค้าชะลอตัวอย่างมากแทบว่าชะงักงัน หน่วยงานเศรษฐกิจมหภาคทุกสำนักล้วนพยากรณ์ว่า GDP ของไทยในปี 2563 และ 2564 จะติดลบ บางสำนักคาดว่าติดลบ -8% ถึง -10% จากปีก่อนหน้า จึงเกิดคำถามว่ารายได้เข้าคลังแผ่นดินจะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร? แค่การรักษาให้เท่าระดับเดิมก็ยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้

ผู้เขียนจึงค้นคว้าแหล่งที่มาโดยละเอียด หมวดรายได้ที่มีความสำคัญสูงสุดคือภาษีอากร ขอแสดงตัวเลขเปรียบเทียบค่าจริง (2562) กับตัวเลขการประมาณการปี 2564 เอกสารของสำนักงบประมาณคาดว่า

Advertisement

หนึ่ง ภาษีมูลค่าเพิ่มจะเพิ่มขึ้นจาก 8 แสนล้านบาทในปี 2562 เป็น 8.29 แสนล้านบาท ในปี 2564

สอง ภาษีเงินได้นิติบุคคลจะเพิ่มขึ้นจาก 6.94 แสนล้านบาท เป็น 7.1 แสนล้านบาท ในปี 2564

สาม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นจาก 3.3 แสนล้านบาท เป็น 3.7 แสนล้านบาท ในปี 2564

Advertisement

สี่ ภาษีโภคภัณฑ์ (หรือภาษีสรรพสามิตหลายรายการด้วยกัน) เพิ่มขึ้น 5.8 แสนล้านบาท เป็น 6.3 แสนล้านบาท

ห้า รายได้รัฐพาณิชย์ ประมาณการว่าจะลดลงจาก 1.69 แสนล้านบาท เป็น 1.59 แสนล้านบาท

ผลประมาณการคำนวณเอกสารงบประมาณ (ฉบับรายได้) น่าเชื่อถือเพียงใด? จริงอยู่–ประมาณการสถิติในอนาคตไม่จำเป็นต้องแม่นยำ 100% เพียงประมาณการตัวเลขให้ใกล้เคียงความเป็นจริง ก็นับว่าใช้ได้หรือดีแล้ว หากสถานการณ์เหมือนเช่นปกติ ปราศจากปัญหาโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ธุรกิจการท่องเที่ยวเดินตามปกติ ภาคการผลิตและส่งออกดำเนินการเช่นในอดีต ประมาณการรายรับตามเอกสารของสำนักงบประมาณน่าจะ “เชื่อถือได้” แต่เมื่อคำนึงสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ จึงเกิดข้อกังขาว่าประมาณการรายรับน่าจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงพอสมควรทีเดียว

มีวิธีการปรับตัวกันอย่างไรดี? ง่ายๆ และตรงไปตรงมาคือ หากรายได้ครอบครัวลดลง-รายจ่ายของครอบครัวควรจะปรับตาม แต่นั่นเป็นเรื่องของปัจเจกหรือครอบครัว การบริหารการคลังและงบประมาณแผ่นดินต่างกับปัจเจกหลายสถาน เมื่อรายจ่ายได้รับการจัดสรรให้ตามหน่วยงานขอรับงบประมาณไปแล้ว คือ กรม ภายใต้กระทรวงต่างๆ ซึ่มีจำนวน 300 หน่วยงาน (โดยประมาณ) แต่เมื่อมี พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฉบับใหม่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการจัดสรรตรง ในปัจจุบัน อบจ. เทศบาลนคร เทศบาลเมืองรับการจัดสรรตรง หน่วยงานรับงบประมาณในปี 2564 จึงเพิ่มขึ้นกลายเป็นมากกว่า 700 แห่ง และจะเพิ่มเป็นหลายพันองค์กรในปี 2565 และปีต่อๆ ไป โดยทั่วไปหน่วยรับงบประมาณนำวงเงินได้รับการจัดสรรรีบดำเนินการเบิกจ่าย จริงอยู่ อาจจะมีความล่าช้าของการเบิกจ่ายอยู่บ้าง แต่สถิติอัตราการเบิกจ่ายในภาพรวมเกินกว่า 90% รายการใดที่เบิกจ่ายไม่ทันในปีงบประมาณถูกกันเหลื่อมปี

เมื่อไตร่ตรองโดยละเอียด จึงลงความเห็นว่า ยอดขาดดุลงบประมาณที่จะเกิดขึ้นจริงในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 จะสูงกว่าประมาณการในเอกสาร ตามหลักวินัยทางการคลังของไทยเราเปิดโอกาสให้รัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุลได้ ภายในกรอบ (วินัยทางการคลัง) ที่กำหนด และเกิดคำถามว่า การขาดดุลในปี 2563 และ 2564 จะเกินกว่ากรอบวินัยทางการคลัง

ถามต่อไปว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการคลังและงบประมาณจะดำเนินการอย่างไร? เชื่อว่าผู้บริหารของหน่วยงานเศรษฐกิจมหภาคคงมิได้นิ่งนอนใจ คงจะเตรียมการไว้บ้างแล้วเพียงแต่มิได้เปิดเผยต่อสาธารณะ จากตัวอย่างในอดีตเมืองไทยเราผ่านวิกฤตการณ์มาหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น ในปี 2540 วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง รัฐบาลไทยต้องกู้ยืมจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และกู้ยืมจากประเทศญี่ปุ่น (เงินกู้มิยาซาวา) ในขณะเดียวกันรัฐบาลในสมัยนั้น (พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ) จำเป็นปรับลดด้านรายจ่ายลงหลายครั้ง (ตามเงื่อนไขเข้าโครงการเยียวยาของไอเอ็มเอฟ-แต่ก็มีข้อสงสัยว่า วิธีการเยียวยาตามสูตรไอเอ็มเอฟถูกต้องหรือไม่? หลายคนวิพากษ์ว่ายาขนานไอเอ็มเอฟอาจจะซ้ำเติมปัญหาให้วิกฤตหนักขึ้น)

สถานการณ์การคลังและงบประมาณในปี 2564 จึงน่าห่วงใย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่ามกลางเสียงเชียร์ของภาคธุรกิจเอกชนให้รัฐเพิ่มรายจ่ายเพื่อกระตุ้นการซื้อขาย ให้ลดอัตราภาษีหรือยกเว้นภาษี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนภาคธุรกิจ และการเมืองแบบประชานิยม หากดำเนินการผลีผลามจนกลายเป็นปัญหาวิกฤตการคลังและงบประมาณแผ่นดิน จะลำบากกันถ้วนหน้า และตกเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลและหน่วยงานมหภาคที่เกี่ยวข้องอย่างช่วยไม่ได้ ทางที่ดีน่ารัฐบาลและหน่วยงานควรช่วยกันสื่อสารสาธารณะว่า มาตรการเยียวยาของภาครัฐควรดำเนินการเท่าที่จำเป็น จัดสรรรายจ่ายให้ตรงประชากรกลุ่มเป้าหมาย มากกว่าการเหวี่ยงแห คำนึงถึงผลกระทบระยะสั้น ระยะปานกลางและระยะยาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image