ไทยพบพม่า : ความฝันของตุระ ฉ่วย มาน โดย ลลิตา หาญวงษ์

ฉ่วย มาน กับออง ซาน ซูจี (ภาพจาก Reuters)

ตุระ ฉ่วย มาน (Thura Shwe Mann) หรือฉ่วย มาน เป็นอดีตนายพลระดับสูงในกองทัพพม่า ในยุคที่กองทัพ ภายใต้สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือ SPDC ยังปกครองอยู่ นายพลอาวุโสที่นั่งหัวโต๊ะ SPDC มาเนิ่นนานคือ นายพลตาน ฉ่วย และนายพลหม่อง เอ (Maung Aye) แต่ทั้งสองคนนี้กลับเป็นที่รู้จักในแวดวงสังคมระดับสูงพม่าน้อยกว่าฉ่วย มาน ผู้ที่มีภาพเป็นนายทหารผู้สุภาพ ถ่อมตน พูดน้อยต่อยหนัก และเข้ากันได้ดีกับนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย นับตั้งแต่มีการปฏิรูปทางการเมือง และมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในปี 2010 (พรรค NLD บอยคอตการเลือกตั้งครั้งนั้น) ฉ่วย มานเข้ารับตำแหน่งระดับสูงในรัฐสภาพม่าอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่เป็นประธานสภาล่าง (Lower House) หรือสภาผู้แทนราษฎร และต่อมายังเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค USDP ซึ่งเป็นพรรคนอมินีของกองทัพพม่า แต่ก็อยู่ในตำแหน่งได้ไม่นาน เขาถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเนื่องจากมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และสมาชิกพรรค USDP คนอื่นๆ

ตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2010 ฉ่วย มานแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าอยากขึ้นเป็นประธานาธิบดีพม่ามาตลอด ในปี 2015 เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อและยืนยันว่าจะลงชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดี ในการเลือกตั้งปี 2015 ฉ่วย มานยังคงลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค USDP และแพ้ให้กับพรรค NLD ของด่อ ออง ซาน ซูจีแบบหลุดลุ่ย แต่ภาพที่ออกมาคือ เขามีสายสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับทั้งด่อ ออง ซาน ซูจี และคนในพรรค NLD และฉ่วย มานยังเคยเขียนหนังสือเล่มหนึ่งในชื่อ “ท่านผู้หญิง ข้าพเจ้า และการบ้านการเมือง” (The Lady, I amd Affairs of State) ซึ่งเขาชื่นชมผู้นำพรรค NLD ว่ามีทั้งคุณธรรม และความโอบอ้อมอารี นักวิเคราะห์ในพม่าพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าฉ่วย มานเข้าหาด่อ ออง ซาน ซูจีด้วยเป้าหมายทางการเมือง แต่ในขณะเดียวกัน พรรค NLD ก็ได้เรียนรู้จากอดีตนายพลระดับสูงในกองทัพพม่าคนนี้ การเจรจาระหว่างฉ่วย มาน กับผู้นำของ NLD ทำให้ฉ่วย มาน ในฐานะประธานสภา อนุญาตให้รัฐสภาโหวตเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่พรรค NLD ร้องขอในปี 2015 เหตุการณ์นี้เองที่ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างฉ่วย มาน และผู้บริหารพรรค USDP สิ้นสุดลง

หนึ่งในข้อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญคือ การลดเกณฑ์การโหวต (voting threshold) ในสภาให้ต่ำกว่าร้อยละ 75 เนื่องจากรัฐธรรมนูญพม่าเขียนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กองทัพเป็นผู้ร่าง ต้องผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกสภาร้อยละ 75 ในขณะที่กองทัพมีสัดส่วนคนของตนที่เข้าไปนั่งในรัฐสภาถึงร้อยละ 25 ในการโหวตครั้งสำคัญเพื่อลดเกณฑ์การโหวต เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ ในจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 583 คนที่เข้าร่วมประชุมในวันนั้น มีถึง 388 คน หรือร้อยละ 66.55 ที่โหวตให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญได้ ความพยายามของฉ่วย มาน และสมาชิกรัฐสภาฝ่ายประชาธิปไตยในครั้งนั้นสร้างความฉงนให้บรรดานักวิเคราะห์การเมืองในพม่า เพราะไม่มีใครเชื่อว่าฉ่วย มานจะช่วย NLD ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงจังมาก่อน

สําหรับสื่อในพม่า ฉ่วย มาน เป็นเหมือนบุคคลลึกลับ ไม่มีใครล่วงรู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ และเขามีความหวังหรือความใฝ่ฝันอะไรในอนาคต แต่จากการให้สัมภาษณ์หลายๆ ครั้ง เขากลายเป็นที่ยอมรับว่าเป็นอดีตนายทหารที่ยืนอยู่ฝั่งประชาธิปไตย โดยมีวาระซ่อนเร้นอะไรสักอย่าง เขาชอบพูดออกสื่อว่า หากพม่าจะพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐที่สมบูรณ์ได้ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ที่กองทัพร่างเองทั้งหมดให้ได้เสียก่อน และก็ยังเชื่อว่าการแก้ไขมาตรา 436 ที่กล่าวถึงเกณฑ์การโหวตเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้ ในฐานะประธานสภา ฉ่วย มาน เคยแต่งตั้งบุตรชายคนเล็ก โต นาย มาน (Toe Naing Mann) ให้เข้าไปนั่งในคณะกรรมการด้านกฎหมายในรัฐสภามาแล้ว แต่ต่อมารัฐสภาก็โหวตเพื่อยุบคณะกรรมการชุดนี้ ไม่นานหลังฉ่วย มานประกาศตั้งพรรคการเมืองใหม่ในต้นปี 2019

Advertisement

พรรคการเมืองใหม่ของฉ่วย มานมีชื่อว่า “พรรคเพื่อการพัฒนาสหภาพ” (Union Betterment Party หรือ UBP) ขยายตัวรวดเร็ว เนื่องจากมีเงินทุนสนับสนุนมากกว่าพรรคใหม่ขนาดเล็กอื่นๆ ค่อนข้างชัดเจน พรรค UBP มีสาขาใน 250 เมือง จากเมืองในพม่าทั้งหมด 330 เมือง และยังมีคนที่ทำงานให้กับพรรคทั้งที่สำนักงานใหญ่ในย่างกุ้ง และเนปยีดอ ไปจนถึงในระดับหมู่บ้านมากถึง 5 พันคน ฉ่วย มานให้สัมภาษณ์ว่าเงินที่เขานำมาใช้บริหารพรรคมาจากเงินเก็บของเขาเป็นหลัก อีกส่วนหนึ่งมาจากสมาชิกพรรค และผู้ที่ชื่นชอบฉ่วย มานเป็นการส่วนตัว ในปัจจุบันพรรค UBP อ้างว่ามีสมาชิกพรรค 5 แสนคนแล้ว และจะลงสมัครใน 240 เมือง โดยหลีกเลี่ยงไม่ลงสมัครในอีก 90 เมืองที่เหลือเพื่อหลีกทางให้กับพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ ฉ่วย มานมีความมั่นใจในพรรคของเขา และให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่าพรรค UBP จะได้รับชัยชนะอย่างงดงาม และจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคถึง 50 คน

แม้พรรค UBP จะเป็นพรรคใหม่ที่มีอายุได้เพียงปีเศษ แต่ก็เป็นพรรคที่ส่งผู้สมัครลงมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 เป็นรองเพียงพรรค NLD พรรค USDP และพรรค UDP (United Democratic Party) ซึ่งเป็นอดีตพรรคของเพียว มิน เตง (Phyo Min Thein) ผู้ว่าเมืองย่างกุ้งคนปัจจุบัน ปัญหาของพรรค UBP คือยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ประชาชนส่วนใหญ่รู้จักเพียงชื่อเสียงเรียงนามของฉ่วย มาน แต่ไม่รู้ว่าฉ่วย มานตั้งพรรคของตนเอง และพร้อมลงชิงชัยในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง และสำหรับคนทั่วไปในพม่า ฉ่วย มานก็ยังมีภาพการเป็นอดีตนายพล ที่เคยทำงานให้กับตาน ฉ่วย ผู้นำ SPDC ซึ่งเป็นที่เกลียดชังทั่วพม่า ผู้บริหารระดับสูงในพรรค UBP ก็ล้วนแล้วแต่เป็นอดีตนายทหารในกองทัพและอดีตสมาชิกพรรค USDP ที่มีทั้งหมด
18 คน

การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนมีความสำคัญในหลายๆ ระดับ ผู้เขียนยังเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ยังเป็นการแขงขันกันระหว่าง 2 พรรคใหญ่คือพรรค NLD และพรรค USDP โดยมีพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นตัวสอดแทรก โดยเฉพาะในรัฐยะไข่ที่ยังคงมีสงครามกลางเมืองอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยให้ตัวแทนจากพรรค Arakan National Party (ANP) ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ พรรคขนาดเล็กที่เป็นพรรคใหม่อื่นๆ เป็นสีสันให้กับการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่โอกาสที่จะทำลาย “กำแพง” และทัศนคติทางการเมืองของคนพม่าที่มีเพียง 3 ตัวเลือก ได้แก่ สนับสนุนประชาธิปไตย (เลือกพรรค NLD) สนับสนุนกองทัพ (เลือก USDP) หรือสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง ยังจะเป็นปัจจัยชี้ชะตาการเมืองของพม่าต่อไปอีกนาน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image