คุณภาพคือความอยู่รอด : ปฏิรูปราชการเรื่องใดก่อน

คุณภาพคือความอยู่รอด : ปฏิรูปราชการเรื่องใดก่อน : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คุณภาพคือความอยู่รอด : ปฏิรูปราชการเรื่องใดก่อน : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาได้เกิด “กระแส” เรียกร้องให้มี “การปฏิรูปราชการ” โดยหน่วยงานต่างๆ และ “ผู้นำ” ระดับสูง ดังปรากฏเป็นข่าวที่รวบรวมได้ต่อไปนี้

(1) ผ่าตัดใหญ่ราชการไทย 2.3 ล้านคน อุดงบประมาณวิ่ง ปิดช่อง “เช้าชามเย็นชาม” (ผู้จัดการออนไลน์ 12 กันยายน 2563)

(2) “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้เมื่อระบบราชการผิดเพี้ยน ต้อง “แฮก” เพื่อเปลี่ยนระบบปฏิบัติการประเทศ (TDRI 6 ตุลาคม 2563)

Advertisement

(3) “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ยัน ระบบราชการไทย ต้องพลิกโฉมเพื่อตอบสนองสภาวการณ์ในปัจจุบัน (ฐานเศรษฐกิจ 9 ตุลาคม 2563)

นอกจากนี้ ท่านสุวิทย์ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก เรื่อง “ระบบราชการในอนาคต” สรุปความได้ว่า “สถานการณ์ปัจจุบันทุกประเทศต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในหลายปัจจัยพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ล่าสุดด้านการสาธารณสุข จนทำให้เกิดชีวิตวิถีใหม่ หรือที่เราเรียกว่า New Normal

“ระบบราชการ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการเป็นโครงสร้างพื้นฐานขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ได้อีกแล้ว ต้องพลิกโฉมเพื่อตอบสนองสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยต้องมุ่งเน้นผลลัพธ์มากขึ้น ลดกระบวนการทำงาน กฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่ไม่จำเป็น ปรับรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่น และนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการการให้บริการของภาครัฐให้มากขึ้น”

Advertisement

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ หากรวมเอา “ความรู้สึกนึกคิด” ของคนไทยทั่วไปเกี่ยวกับ “ระบบราชการ” ด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูประบบราชการ เพื่อให้มีความทันสมัย รวดเร็ว ทำงานอย่างมุ่งผลสัมฤทธิ์ และเป็นที่ยอมรับของสังคม อันจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและการพัฒนาประเทศให้ก้าวไกล

ทั้งๆ ที่สังคม (ส่วนใหญ่) ยังมอง “ระบบราชการ” ในเชิงลบด้วยการเหน็บแนมถึงการทำงานแบบ “เช้าชามเย็นชาม” ของข้าราชการทำให้เกิดความสูญเปล่าและมีปัญหามากมาย แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่า ยังมีคนไทยที่ยังอยากรับราชการอีกจำนวนมาก ดังพาดหัวข่าว หน้า 1 ของ “ไทยรัฐ” เมื่อวันเสาร์ที่ 26 กันยายน 2563 ที่ว่า “ทะลักสอบเกือบ 6 แสนคนรับราชการ แต่มีเพียง 3 หมื่นตำแหน่ง”

ความจริงที่ผมเห็นผมสัมผัสตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก็คือ ข้าราชการทุกระดับชั้นทำงานหนักมาก โดยเฉพาะข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีงานในความรับผิดชอบที่ต้องทำต้องเซ็นมากมาย จนทำกันไม่ทัน และแทบไม่มีวันหยุด (ทั้งที่มี “ระบบบริหารจัดการสมัยใหม่” จำนวนมาก เข้ามาช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพ)

ทุกวันนี้ ผมจึงอยากรู้จริงๆ ว่า เราควรจะปฏิรูปราชการในเรื่องใดก่อน (เป็นเรื่องแรก) จึงจะนำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลตามที่สังคมไทยคาดหวัง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้สูงขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน

และผมก็ได้ “คำตอบ” จากการถามตรงข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษหลายคน แต่มีคนหนึ่งที่ตอบไม่เหมือนใครเลยว่า “ควรจะปฏิรูปให้ข้าราชการมี ‘ความภูมิใจในความเป็นข้าราชการ’ (ศักดิ์ศรีข้าราชการ) เป็นเรื่องแรก เพื่อให้สังคมเห็นความสำคัญ ยอมรับ ศรัทธา และเชื่อมั่นในระบบราชการ เพื่อจะได้เป็นขวัญ และกำลังใจในการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ต่อไป”

เรื่องของ “ความภูมิใจในศักดิ์ศรีข้าราชการ” เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดไม่น้อยเลย

แต่ที่สำคัญที่สุด ก็คือ ที่มาของ “ศักดิ์ศรี” ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image