รื่นร่มรมเยศ : พูดให้เป็น

รื่นร่มรมเยศ : พูดให้เป็น : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

รื่นร่มรมเยศ : พูดให้เป็น : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คําพูดที่คนใช้สื่อสารกันอยู่ในชีวิตประจำวันนั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ คำพูดดี รู้จักพูด เรียกว่า สุภาษิต กับ คำพูดไม่ดี ไม่รู้จักพูด เรียกว่า ทุพภาษิต

คำพูดที่เรียกว่าสุภาษิตนั้น ต้องครบองค์ประกอบทั้ง 5 ประการ คือ

– พูดถูกกาล
– พูดคำจริง
– พูดสุภาพ
– พูดมีประโยชน์
– พูดด้วยเมตตา

Advertisement

จะพูดดีขนาดไหน ถ้าพูดไม่ถูกเวลา พูดคำไม่จริง ไม่สุภาพ ไม่มีประโยชน์ และพูดด้วยความมุ่งร้ายหมายขวัญ ก็ไม่นับว่าเป็น “สุภาษิต”

คนพูดดี คนรู้จักพูด ย่อมมีภาษีกว่าคนสักแต่ว่ามีปากแล้วก็พูดๆ สุนทรภู่มหากวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์กล่าวไว้ให้คิดว่า “เป็นมนุษย์สุดนิยมที่ลมปาก จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ”

มีนิทานสอนใจเกี่ยวกับการใช้คำพูดเรื่องหนึ่ง ลูกเศรษฐีสี่คนเห็นนายพรานบรรทุกเนื้อผ่านมาอยากได้เนื้อกินบ้าง จึงเข้าไปพูดกับนายพรานทีละคน

Advertisement

คนแรกตะโกนว่า “เฮ้ย นายพราน บรรทุกเนื้อมาเต็มเกวียนเชียวหรือวะ ขอข้ากินบ้างสิเว้ย”

นายพรานฟังคำพูดอันระคายหูก็นึกฉุนในใจ หน็อยแน่ จะขอเขากินทั้งที พูดไม่เข้ารูหู จึงตอบไปว่า “คำพูดของท่านหยาบเหมือนพังผืด ไม่สบายรูหูเลยนะ” ว่าแล้วก็เฉือนพังผืดยื่นให้สมกับคำพูดหยาบๆ ของเขา

คนที่สองกล่าวว่า “พี่ชายครับ ขอเนื้อผมบ้างเถอะครับ”

นายพรานกล่าว “พี่น้องนั้นเปรียบเสมือนแขนขา ท่านเรียกเราว่าพี่ชาย ท่านจงเอาเนื้อขาไปเถิด” ว่าแล้วก็หยิบขาเนื้อให้

คนที่สามพูดว่า “พ่อครับ ขอเนื้อผมบ้าง”

นายพรานพูดว่า “เวลาได้ยินใครเรียกพ่อ ทำให้หัวใจของผู้ถูกเรียกหวั่นไหว คำพูดของท่านดุจดังหัวใจ จงเอาเนื้อหัวใจไปเถิด” ว่าแล้วก็เฉือนเนื้อหัวใจให้เขาไป

คนสุดท้ายกล่าวว่า “สหาย ขอเนื้อเราบ้าง”

นายพรานกล่าวว่า “หมู่บ้านใดไม่มีเพื่อน หมู่บ้านนั้นเป็นเสมือนป่า คนที่มีเพื่อนนับว่ามีทุกอย่าง เพราะฉะนั้น เราจะมอบเนื้อทั้งหมดแก่ท่าน” ว่าแล้วก็ยกเนื้อให้ทั้งเกวียนเลย และทั้งสองคนก็ได้กลายเป็นเพื่อนรักกันต่อมา

พูดดี พูดเป็น หรือรู้จักพูด ก็สำเร็จประโยชน์อย่างนี้แหละครับ ความจริงคนเราเกิดมาธรรมชาติก็ให้ปากมาทุกคน แต่ก็ใช้ปากไม่เหมือนกัน บางคนสักแต่ว่ามีปากให้พูดก็พูดๆๆ โดยไม่คำนึงว่าคำพูดของตนจะเป็นที่ระคายเคือง หรือจะก่อความเสียหายแก่คนอื่นหรือไม่

ที่ยกมานี้เพื่อแสดงว่า ไม่ใช่สักแต่ว่ามีปากแล้วก็พูดๆ ออกไป โดยไม่คำนึงถึงว่าวาจาที่พูดออกไปนั้นจะเป็นโทษเป็นภัยแก่ใครหรือไม่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “ขณะที่ชาวโลกเขาซัดกันด้วย ‘หอกคือปาก’ ใครสงบปากสงบคำอยู่ได้ นับว่าอยู่ใกล้พระนิพพานแล้ว”

นั่นก็คือ ให้คำนึงก่อนว่า ถ้าพูดอะไรออกไปแล้ว จะเป็นผลร้ายแก่ตัวเราแก่คนอื่นหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็นิ่งไว้ดีกว่า “นิ่งเสียตำลึงทอง” อะไรทำนองนั้น แต่ถ้าเรื่องใดไม่พูดแล้วจะเสียหายแก่ตนเองและแก่ส่วนรวมก็ให้พูดออกไป

คงจะบอกยากว่าเรื่องใดควรพูด ไม่ควรพูด ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป แม้เรื่องที่ควรพูดยังต้องดูว่าควรพูดกับใคร เมื่อใดอีกด้วย ปัญญาตัวเดียวครับที่จะตัดสินได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image