สะพานแห่งกาลเวลา ​​: อวัยวะ(ค้นพบ)ใหม่ โดย ไพรัตน์ พงษ์พานิชย์

ภาพ-Netherlands Cancer Institute

ทีมวิจัยของสถาบันมะเร็งแห่งเนเธอร์แลนด์ (Netherlands Cancer Institute) นำโดยศัลยแพทย์ แมททิส เอช. วัลสตาร์ ซึ่งทำงานอยู่ในแผนกศัลยกรรมและเนื้องอกบำบัดส่วนศีรษะและคอ ค้นพบอวัยวะใหม่ในร่างกายคนเราอีกแล้ว ตั้งชื่อไว้เสร็จสรรพว่า “ทิวบาเรียล ซาลิวารี แกลนด์” (tubarial salivary glands) หรือ “ต่อมน้ำลายทิวบาเรียล”

การค้นพบที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการด้านรังสีบำบัดและเนื้องอกวิทยา เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา และเพิ่งมีการแถลงเผยแพร่ออกมาสู่สาธารณะเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมานี่เอง

ที่น่าตื่นเต้นก็คือ อวัยวะค้นพบใหม่ที่ว่านี้ หลบซ่อนสรรพวิทยาการทางการแพทย์ใหม่ๆ มานานมากได้อย่างไรกัน ที่ผ่านมา บริเวณที่ตั้งของอวัยวะใหม่นี้ เป็นที่เข้าใจกันว่าไม่น่าจะมีอวัยวะอะไรอยู่เลย

บริเวณที่ตั้งของอวัยวะใหม่ดังกล่าวนั้นมีศัพท์ทางการแพทย์เป็นคำเรียกว่า “นาโซฟาริงซ์ รีเจียน” (nasopharynx region) ซึ่งหมายถึงช่องโพรงส่วนบนของคอหอยที่อยู่ด้านหลังโพรงจมูกครับ

Advertisement

บริเวณ นาโซฟาริงซ์ นี้ แพทย์โสตศอนาสิก รู้จักกันดี แต่ไม่เคยคิดว่าจะมีอะไรปรากฏอยู่ เดิมทีคิดกันว่าคงมีต่อมน้ำลายขนาดเล็กชนิดต้องส่องกล้องถึงจะเห็นได้ กระจายกันอยู่ในพื้นที่นี้

แต่เมื่อตรวจสอบเข้าจริง กลับพบต่อมน้ำลายที่มีความยาวถึง 3.9 เซนติเมตร อยู่บนกระดูกอ่อนที่เรียกว่า ทอรัส ทิวบาเรียส (torus tubarius) ก็เลยได้ชื่อว่า ต่อมน้ำลายทิวบาเรียล นั่นเอง

ทีมวิจัยเชื่อว่า ต่อมน้ำลายที่พบใหม่นี้คงทำหน้าที่สร้างน้ำลายออกมาหล่อลื่น ให้ความชุ่มชื้นกับพื้นที่คอหอยตอนบนหลังโพรงจมูกและช่องปาก

Advertisement

น่าสนใจที่ต่อมน้ำลายทิวบาเรียลนี้ มองไม่เห็นด้วยกรรมวิธีทางการแพทย์ปกติทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการอัลตราซาวด์ หรือการทำซีทีสแกน แม้กระทั่งการทำเอ็มอาร์ไอ ก็ใช้ตรวจสอบอวัยวะใหม่นี้ไม่ได้

การค้นพบครั้งนี้จึงเป็นการค้นพบโดยบังเอิญครับ

ทีมวิจัยของสถาบันฯ มีอุปกรณ์การสแกนเพื่อสร้างภาพอวัยวะภายในแบบพิเศษใช้งานอยู่ประจำ อุปกรณ์นี้เป็นเทคโนโลยีผสมผสานระหว่างการสแกนภาพตัดขวางด้วยโปสิตรอน (positron emission tomography) หรือที่เรียกกันว่า “เพท” (PET) กับเทคโนโลยีการสร้างภาพตัดโดยใช้คอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า คอมพิวเตอร์ไรซ์ โทโปกราฟี หรือ
“ซีที” สแกน (computerized topography-CT)

อุปกรณ์ดังกล่าวซึ่งเรียกว่า “พีเอสเอ็มเอ เพท-ซีที” (PSMA PET-CT) ใช้เพื่อศึกษาการแพร่ของมะเร็งต่อมลูกหมาก ได้ผลดียิ่ง แต่ต้องฉีด “สารกัมมันตภาพรังสีตามรอย” เข้าไปในร่างกายผู้ป่วยก่อน สารรังสีที่ว่านี้เกาะจับกับโปรตีน พีเอสเอ็มเอ ได้ดี จึงแสดงให้เห็นภาพการแพร่ของมะเร็งต่อมลูกหมากได้มาก เนื่องจากเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากจะผลิตโปรตีนนี้ออกมามากเป็นพิเศษ

“พีเอสเอ็มเอ เพท-ซีที” ยังนำมาใช้ตรวจสอบเนื้อเยื่อต่อมน้ำลายได้ดีมากอีกด้วย เพราะเนื้อเยื่อของต่อมก็มีโปรตีนพีเอสเอ็มเออยู่สูงมากเช่นกัน

ต่อมน้ำลายขนาดใหญ่ทำนองนี้นั้น แต่เดิมทางการแพทย์ค้นพบแล้ว 3 ตำแหน่ง ภายในร่างกายมนุษย์ ตำแหน่งแรกคือต่อมน้ำลายใต้ลิ้น ถัดมาเป็นต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร และสุดท้ายคือต่อมน้ำลายหลังแก้ม

นอกเหนือจากนั้นแล้วก็เป็นต่อมน้ำลายเล็กๆ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นอีกเป็นเรือนพัน กระจายกันอยู่ทั่วไปตามเยื่อบุผนังช่องคอและปาก

ต่อมน้ำลายทิวบาเรียล จึงเป็นการค้นพบอวัยวะเดิมในที่ตั้งใหม่ ซึ่งไม่เคยคิดกันมาก่อนว่าจะมี

เพื่อพิสูจน์ ทางทีมวิจัยทำ พีเอสเอ็มเอ เพ็ท-ซีที กับผู้ป่วยของสถาบันอีก 100 คน (99 คนเป็นชาย เพราะสถาบันนี้รักษามะเร็งต่อมลูกหมากนั่นเอง) ทั้งยังได้ตรวจสอบด้วยการผ่าศพบริจาคอีก 2 ศพครับ

การค้นพบครั้งนี้อาจมีความสำคัญต่อการรักษามะเร็งในอนาคต โดยเฉพาะผู้ที่เป็นมะเร็งในส่วนศีรษะและลำคอ ซึ่งเมื่อได้รับการบำบัดด้วยรังสี ก็จะส่งผลกระทบต่อต่อมน้ำลายทิวบาเรียล ทำให้การกิน การกลืน หรือแม้แต่การพูด ทำได้ยากลำบาก

เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครรู้ว่ามีต่อมนี้อยู่ตรงจุดนั้นและไม่เคยหลีกเลี่ยงไม่ให้ต่อมนี้โดนรังสีมาก่อน

จากการตรวจสอบประวัติการรักษาของผู้ป่วยมะเร็งกว่า 700 รายที่มหาวิทยาลัยศูนย์การแพทย์โกรนิงเกน พบว่า ยิ่งต่อมทิวบาเรียลของผู้ป่วยได้รับรังสีมากเท่าใด ผลข้างเคียงเชิงลบยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

หากสามารถค้นพบวิธีหลีกเลี่ยงได้ ย่อมทำให้ผลข้างเคียงเกิดน้อยลง ผู้ป่วยก็เจ็บปวดทรมานน้อยลง

หรือพูดอีกทางหนึ่งได้ว่า คุณภาพในการรักษาเพิ่มสูงขึ้นนั่นเองครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image