นโยบายการเงินและเศรษฐกิจ ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่

นโยบายการเงินและเศรษฐกิจ ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่

นโยบายการเงินและเศรษฐกิจ ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่

ระหว่างรอดูประธานาธิบดีทรัมป์และนายกฯประยุทธ์ว่าใครจะร่วงก่อนกันเพื่อไม่ให้ตื่นเต้นและใช้เวลาลุ้นกันมากไป เรามาดูนโยบายการเงินและเศรษฐกิจของผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่กันก่อนจะดีกว่า

ที่สหรัฐอเมริกาตอนนี้ยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง แต่คนส่วนใหญ่ทั่วโลกต่างก็เห็นว่าประธานาธิบดีทรัมป์คงอยู่ได้แค่เทอมเดียว เพราะไม่ใช่ประชาชนทั่วไปจะเบื่อทรัมป์มากขึ้น แต่ลูกน้องและคนที่เคยทำงานล้อมหน้าล้อมหลังก็ยังออกมาเปิดเผยความไม่ได้ความของทรัมป์หรือแม้แต่ข้าราชการประจำก็ออกมาเปิดเผยเรื่องมิดีมิร้ายของเขาให้สาธารณชนได้รับรู้มิฉะนั้นข่าวการเสียภาษีประจำปีน้อยนิดของประธานาธิบดีก็คงไม่ออกมาถึงสื่อ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นประเทศประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่ชัดเจนของสหรัฐอเมริกานักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วประเทศไม่จำเป็นต้องออกมาไล่ผู้นำตามท้องถนนเหมือนของไทยเรา

ความต่างระหว่างประชาธิปไตยแท้กับประชาธิปไตยครึ่งใบแบบลวงโลกสามารถเห็นได้ชัดในตอนนี้ ประชาธิปไตยแท้ของสหรัฐอเมริกา ผู้นำไม่ต้องถามว่าผมทำผิดอะไรจึงต้องออกเพราะเขามีกฎและกติกาชัดเจน เมื่อถึงเวลา 4 ปี ก็ต้องให้ประชาชนเขาเลือกตั้งกันใหม่ แต่ผู้นำของประเทศอย่างไทยกลับมาถามประชาชนเสียงดังว่า “ผมผิดอะไร” มวลชนจึงมาไล่ผมออก ซึ่งชี้ให้เห็นชัดว่าที่ทำงานมาตลอดไม่เคยส่องกระจกดูตัวเองบ้างเลย และบรรดาลิ่วล้อที่ห้อยตามหลังอยู่มากมายก็ไม่เคยทำตัวเป็นกระจกให้นายดูตัวเองบ้างเลย

Advertisement

ยิ่งกว่านั้น เมื่อวันพฤหัสที่ 22 ตุลาคมที่แล้ว พรรคพลังประชารัฐ พรรคการเมืองใหญ่ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯตั้งแต่ต้น ก็ได้ออกมาแถลงข่าวว่าพรรคยังคงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะท่านไม่ได้ทำอะไรผิด ซึ่งข่าวนี้ไม่เป็นที่ประหลาดใจของมวลชนที่เป็นนักเรียนนักศึกษาและประชาชนคนไทยแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพราะปัจจุบันนี้ คนไทยตั้งแต่เด็กนักเรียนจนถึงคนแก่คนเฒ่า เขารู้ความคิดของนักการเมืองที่มี DNA จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ของไทยดีว่า ที่เขาได้พยายามด้วยความเหนื่อยยากในการทุ่มเทหาเสียงเพื่อเข้ามาเป็น “ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ” นั้น ส่วนใหญ่ต้องการเข้ามาเพื่ออะไรกัน และในการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญในวันที่ 26-27 ตุลาคมนี้ (บทความนี้ได้ส่งต้นฉบับก่อนเที่ยงวันที่ 26) ก็คงจะได้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่าบรรดา ส.ส.ส่วนใหญ่เขาได้แสดงความเป็นห่วงเป็นใยในอนาคตของประเทศชาติกันแค่ไหน ขอให้ท่านผู้ทรงเกียรติทำตัวในปัจจุบันไว้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ เถอะ อีกไม่นานก็จะรู้เองว่าท่านอาจต้องไปหางานอื่นทำก่อนกำหนด

สำหรับสหรัฐอเมริกาอีกสัปดาห์เดียวชาวอเมริกันทุกคนก็จะรู้กันแล้วว่าใครจะมาเป็นผู้นำประเทศเขาในอีก 4 ปีข้างหน้า แต่สำหรับประเทศไทย สถานภาพของประเทศตอนนี้ถือได้ว่ายิ่งลงลึกไปหาขุมนรกจริงๆ เพราะการเดินขบวนของนักเรียน นิสิต และนักศึกษาที่เป็นมวลชนทั่วประเทศครั้งนี้ถือได้ว่ามีการรวมตัวกันยิ่งใหญ่จริงๆ มีการเรียกร้องให้เปลี่ยนผู้นำ แต่มองไม่เห็นแม้แต่เงาว่าผู้นำที่มากด้วยความรู้ความสามารถที่พอรับได้จะเป็นใคร และจะหามาได้ด้วยกติกาหรือรัฐธรรมนูญปัจจุบันได้อย่างไร ในเมื่อรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่คนทั่วไปขยะแขยงนี้ก็ถูกเรียกร้องให้มีการโละทิ้ง แล้วให้ไปตั้งคณะ ส.ส.ร. หรือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยผู้แทนจากทุกสาขาอาชีพไปยกร่างขึ้นมาใหม่ ฟังดูตามประสาชาวบ้านก็เห็นว่ามีแต่จะยุ่งกันใหญ่ และจะยุ่งไปอีกนาน

เอาละครับ หากเราติดตามการเมืองขณะนี้จะยิ่งปวดหัวกันแน่ เราเอาเวลามาพิจารณานโยบายการเงินของประเทศ ที่ท่านผู้ว่าการ ธปท. ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ได้เปิดเผยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมนี้ หลังจากเข้ารับตำแหน่งหมาดๆ น่าจะดีกว่า

Advertisement

ผมเองรู้จัก ดร.เศรษฐพุฒิ ค่อนข้างดี รวมทั้ง ดร.วิรไท ผู้ว่าการ ธปท.คนก่อนด้วย เพราะเมื่อ 22 ปีก่อน ทั้งคู่ได้มาทำงานในสำนักงานวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจเพื่อป้อนข้อมูลให้รัฐมนตรีคลังใช้แก้ปัญหา สำนักงานนี้เพิ่งตั้งขึ้นในสำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่ผมเคยเป็นผู้อำนวยการอยู่ ในช่วงที่เพิ่งเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งขึ้นมาในปี 2540 นั่นแหละ ทั้งนี้ ตามความประสงค์ของท่านธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

กระทรวงการคลังตอนนั้นต้องรับผิดชอบแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งอย่างรุนแรง วิกฤตเศรษฐกิจสมัยนั้นเกิดจากประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชนใช้เงินเกินตัว จนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserves) ที่มีอยู่น้อยกว่าภาระหนี้ต่างประเทศมาก วิกฤตที่เกิดครั้งนั้นแทบจะทำให้ประเทศไทยล้มละลายทีเดียวช่วงนั้นผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่นี้ ท่านได้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกและได้เข้าทำงานกับธนาคารโลกอยู่ประมาณ 5 ปีแล้ว จึงลาออกมาทำงานที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ดังนั้น อย่างน้อยก็เคยพบเคยเห็นและเคยช่วยต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงของไทยมาแล้วจึงเห็นว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.มาก น่าจะใช้ภูมิปัญญาและประสบการณ์มากำกับดูแลความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเสาหลักที่สำคัญมากในด้านการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ

นโยบายในการบริหารด้านการเงินของ ธปท. ที่ผู้ว่าการคนใหม่ได้ประกาศออกมาชัดเจนแล้วว่าจะมาจากโจทย์ใหญ่ 5 ข้อ ได้แก่

1.การแก้ไขวิกฤตหนี้อย่างยั่งยืน ข้อนี้เป็นงานหินแน่ เพราะหนี้ครัวเรือนของไทยขณะนี้อยู่ที่ 83.8% ของ GDP อันดับสูงมากในโลกแล้ว ขณะเดียวกันปัญหาโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังไม่เพลาลงนี้ ทำให้อย่างน้อยธนาคารของรัฐทั้งหลายกลับต้องอัดหนี้เพิ่มให้ครัวเรือนคนจนมากกว่าปกติ ขณะเดียวกัน ธปท.ก็ต้องผ่อนคลายการเรียกเก็บหนี้ให้คนจนอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย เชื่อเถอะครับไม่เกิน 2 ปีจากนี้ หนี้ครัวเรือนของไทยจะต้องสูงกว่า 87% ของ GDP แน่

ในทำนองเดียวกันในภาคเอกชน ถ้าฟังเสียงปลอบใจสดๆ ร้อนๆ จากทั้งกระทรวงการคลังและ ธปท. ตอนนี้ต่างก็มีความเห็นใจธุรกิจ SMEs กันมาก อย่างน้อยทุกสถาบันการเงินของรัฐก็มีการผ่อนปรนยืดการพักชำระหนี้ออกไปอีก 6 เดือน นับจากวันที่ 20 ตุลาคม ที่เพิ่งผ่านมา ดังนั้น ก็ใคร่ขอฝากการบ้านให้ ธปท.ไปคิดหน่อยว่าหาก 6 เดือนข้างหน้า ประมาณสิ้นเมษายน 2564 GDP ที่ขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นได้แค่เพิ่งเริ่มจะฟื้นตัว แล้วจะหาวิธีแก้วิกฤตหนี้ให้ยั่งยืนได้อย่างไร

2.การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เรื่องนี้เป็นหน้าที่และหน้าตาของ ธปท.อยู่แล้ว แต่ในภาวะเศรษฐกิจที่เป็นขาลงมากๆ ยิ่ง ธปท.เองก็ทราบดีว่า ความตกตํ่าทางเศรษฐกิจเมื่อดูที่ GDP จะตกตํ่าไปถึงปีหน้า แล้วก็จะค่อยโงหัวขึ้นช้าๆ ในอีก 2 ปี คือในปี 2566 จึงจะไปอยู่ที่เดิมเท่าระดับปี 2562 ซึ่งในช่วงนี้เห็นชัดอยู่แล้วว่ารายได้จากการเก็บภาษีของรัฐบาลจะยังคงยักแย่ยักยันต่อ ทำให้ความต้องการกู้เงินมาชดเชยการขาดดุล ซึ่งก็เป็นการกู้มาใช้จ่ายเพื่อการชำระภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพื่อมาใช้จ่ายในด้านสวัสดิการข้าราชการและช่วยเหลือคนจนที่มีแต่จะเพิ่มสูงตามการขยายตัวของประชากรผู้สูงวัยที่จะยิ่งสูงมากจนน่ากลัว คำถามก็คือ ธปท.จะรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของไทย ซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจไว้ได้อย่างไรหรือ

3.การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากของประเทศ ถ้าเรื่องที่ 2 ข้างต้นเอาไม่อยู่ แถมการส่งออกยังโงหัวไม่ขึ้นจากฐานตอนนี้ที่ตํ่ามาก จากการติดลบมากเป็นติดลบน้อย กระทรวงพาณิชย์อย่าเพิ่งดีใจ ขอให้เป็นบวกด้วยซํ้า ถ้าหากเพิ่มเฉลี่ยเป็นบวกแค่ 2-3% ในปีหน้า ก็ยังอยู่ในโซนไปไม่ได้อยู่ดี หากยังเป็นเช่นนี้เสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคจะเอาอยู่ได้สักแค่ไหน

เรื่องการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคนั้น ไม่ใช่ ธปท.จะสามารถทำได้โดยการตบมือข้างเดียว รับรองว่าเอาไม่อยู่แน่ถ้ารัฐบาลยังไม่รู้ทิศทางของการจะเดินหน้าทางเศรษฐกิจ หากการเมืองทุกวันนี้ยังไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ และในอุโมงค์ขณะนี้ก็เต็มไปด้วยนํ้าเน่า เหม็นหึ่งด้วยฝุ่นพิษของการทุจริตคอร์รัปชั่น ดาษดื่นด้วยขยะพิษที่เกิดจากการขาดธรรมาภิบาลและจริยธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน ผมอยากจะบอกว่ามืออีกข้างที่เป็นรัฐบาลซึ่งไม่สามารถร่วมกับมือของ ธปท. ที่บริสุทธิ์ตามที่เห็นกันอยู่ขณะนี้ แล้วเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคจะไม่ยิ่งเลวร้ายลงไปหรือ

4.การสร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชน เรื่องนี้ประเทศไทยเรานับว่าโชคดีมากที่บรรพบุรุษด้านการเงินสมัยเก่าก่อน ไม่ว่าจะเป็นท่านอาจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และท่านผู้ว่าการ ธปท. อีกหลายท่านในอดีต ได้วางพื้นฐานที่แข็งแกร่งให้ธนาคารกลางของประเทศเราเป็นที่ยกย่องเชื่อถือมากในสายตาของนานาชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัว ธปท.เป็นหลักอย่างเดียว แต่ยังอยู่กับสิ่งที่ ธปท.จับต้องและดูแลอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันมากกว่าเช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าของเงินบาท และรวมทั้งอัตราเงินเฟ้อ และความเข้มแข็งของธนาคารพาณิชย์รวมทั้งสถาบันการเงินต่างๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถ้าเกิดอาการเอาไม่อยู่ให้ประชาคมโลกเขาเห็นความไม่เสถียรเมื่อใด ความเชื่อมั่นในตัวธนาคารชาติในสายตาของนานาชาติจะลดลงทันที และเมื่อนั้นความเชื่อมั่นกับประเทศไทยก็จะตํ่าลงตามไปด้วย

5.พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน ข้อนี้เป็นเรื่องปกติที่ธนาคารกลางของประเทศจะต้องพัฒนาในทุกทาง เพื่อแข่งขันกับธนาคารกลางของประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

โดยสรุปแล้ว นโยบายการดูแลเศรษฐกิจและภาคการเงินของ ธปท. ที่ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ได้กล่าวมานั้น ถือได้ว่าครบถ้วนและครอบคลุมความรับผิดชอบอยู่แล้ว และที่ดีมากคือคำมั่นของผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ที่ว่า “ธปท.จะต้องบริหารจัดการเรื่องของอัตราดอกเบี้ย และสภาพคล่องทางการเงิน รวมถึงสภาวะตลาดเงินโดยรวม ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย”

อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นห่วงและความหวังดีด้วยใจจริง ใคร่จะบอกท่านผู้ว่าการ ดร.เศรษฐพุฒิ ในฐานะคนเคยร่วมงานกันว่า การทำงานในประเทศไทยขณะนี้ ขออย่าได้วางใจใดๆ กับนักการเมืองทั้งหลายที่มาจากรัฐธรรมนูญลวงโลกฉบับนี้เป็นอันขาด เพราะข้อเท็จจริงได้ชี้ชัดอยู่แล้วว่านักการเมืองที่มาจาก DNA ที่ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ได้ปรากฏสภาพอัตลักษณ์ที่รับกันไม่ได้ให้เห็นแล้วเช่นนี้ ขอจงอยู่ให้ห่างไว้เป็นดี

สิ่งที่ผมเป็นห่วงมากเหนือสิ่งอื่นใดก็คือภาวะการเมืองที่เรียกว่าวุ่นวายมากอย่างที่เห็นๆ อยู่นี้ การเมืองก็จะถูกลากยาวโดยนักการเมืองที่มาจาก DNA ของรัฐธรรมนูญลวงโลกไปเรื่อยแล้วเศรษฐกิจที่พิกลพิการอยู่อย่างมากของประเทศ จะมีโอกาสพลิกฟื้นขึ้นมาได้อย่างไร อย่าลืมว่าวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อ 23 ปีที่แล้ว เราฟื้นขึ้นมาได้เป็นเพราะบรรดาเจ้าหนี้ของเราอันได้แก่ ไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย กองทุนโออีซีเอฟของญี่ปุ่น ต่างเข้ามาช่วยกำกับดูแลวางเงื่อนไขการแก้ปัญหา โดยทำการคิดมาตรการต่างๆ ที่ควรทำแล้วบีบแกมบังคับให้เราทำตามมากมาย จนในที่สุดเศรษฐกิจไทยเราก็ฟื้นตัวได้

แต่วิกฤตเที่ยวนี้ไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนใดมาคิดให้ เราต้องคิดเองภายใต้การกำกับดูแลและการตัดสินใจของอดีตนายทหารใหญ่ที่นั่งอยู่หัวโต๊ะทุกเรื่อง แล้วมันจะไปรอดได้อย่างไรครับ

สมหมาย ภาษี

ติดตามบทความ สมหมาย ภาษี ที่เฟซบุ๊ก
Sommai Phasee — สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image