คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : กรอบของความกลัว

คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : กรอบของความกลัว ความกลัว คือ อารมณ์ความรู้สึก

คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : กรอบของความกลัว

ความกลัว คือ อารมณ์ความรู้สึกของสิ่งมีชีวิตเมื่อรู้สึกว่ากำลังจะมีภัยคุกตามต่อชีวิตหรือร่างกาย สำหรับมนุษย์ที่มีวัฒนธรรมยังรวมถึงภัยคุกคามที่มีต่อทรัพย์สิน ครอบครัว จิตใจ สถานะ เกียรติคุณ หรืออำนาจของตนเองด้วย

ความกลัวพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตคือความกลัวตาย อันเป็นสัญชาตญาณที่ทำให้สิ่งมีชีวิตดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ เนื่องจากเผ่าพันธุ์ที่รู้จักกลัวตายจะมีสัญชาตญาณในการป้องกัน หลีกเลี่ยง หรือต่อสู้ ส่วนพวกที่ขาดสัญชาตญาณนี้ก็จะไม่ระวังหรือพาตัวเข้าไปหาภัยอันตรายอันถึงแก่ชีวิต และสูญพันธุ์ไปโดยกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ

หลักฐานหนึ่งว่าความกลัวตายเป็นความกลัวพื้นฐานในสัญชาตญาณ คือ มนุษย์ในทุกชาติภาษาและวัฒนธรรมจะกลัว “ผี” ซึ่งหมายโดยตรงคือ “ซากศพ” รวมถึงสิ่งต่างๆ ที่สื่อไปถึงความตาย เช่น โดยทั่วไปแล้วมนุษย์ที่ไร้เดียงสาจะกลัวภาพของหัวกะโหลก หรือโครงกระดูก

Advertisement

นอกเหนือจากความกลัวตามสัญชาตญาณ ก็ยังมีความกลัวที่เกิดจากการเรียนรู้ถึงอันตรายและภัยคุกคามซึ่งสามารถตกทอดต่อไปในระดับพันธุกรรมได้ เคยมีการทดลองโดยจิตแพทย์นามว่า เคอร์รี เรสเลอร์ (Kerry Ressler) ที่ยืนยันสมมุติฐานว่า ความกลัวนั้นส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานได้ โดย ดร.เรสเลอร์ได้ให้หนูทดลองดมกลิ่นของสาร Acetophenone ที่มีกลิ่นคล้ายเชอรี่ผสมกับอัลมอนด์

แต่เมื่อนักทดลองปล่อยกลิ่นนี้ลงไปก็จะทำการปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ที่ทำให้เจ็บจี๊ดแต่ไม่ถึงตายใส่หนูทดลองเหล่านั้นพร้อมกันด้วย การทดลองนี้ทำซ้ำจนหนูทดลองเชื่อมโยงกลิ่นเข้ากับความเจ็บปวด จนกระทั่งเพียงปล่อยกลิ่นของสารนี้โดยไม่ต้องปล่อยไฟฟ้า พวกมันก็จะกลัวกลิ่นนั้นอย่างลนลาน

จากนั้นเมื่อนำหนูที่ผ่านการทดลองนี้ไปผสมพันธุ์กับหนูที่ไม่ได้ผ่านการทดลอง ผลที่ได้ก็ปรากฏว่า ลูกหนูเกิดใหม่ที่ไม่เคยได้กลิ่นสารเคมีชนิดนี้มาก่อนกลับหวาดกลัวและมีอาการตอบสนองอย่างกังวลต่อกลิ่นนี้ด้วย ทั้งๆ ที่สารนี้มีกลิ่นคล้ายอาหาร คือผลไม้และถั่วที่ไม่น่าจะเป็นอันตรายสำหรับหนูรุ่นลูกที่ไม่เคยมีประสบการณ์ถูกชอร์ตไฟฟ้า ความกลัวที่ตกทอดผ่านสายเลือดนี้ยังตกทอดต่อไปอีกถึงสองชั่วอายุหนู และข้อค้นพบที่น่าสนใจขึ้นไปอีกคือหนูรุ่นลูกนั้นนอกจากจะได้ความกลัวไปจากรุ่นพ่อแล้วยังพัฒนาความสามารถในการรับกลิ่นสารชนิดนี้ได้ไวกว่ารุ่นพ่ออีกด้วย ดังนั้น จึงไม่ใช่เพียงความกลัวเท่านั้นที่ถูกถ่ายทอดลงไป แต่ยังรวมถึงความสามารถในการรับมือและการป้องกันกับอันตราย เพื่อจะได้ “หนี” ต่อสัญญาณคุกคามนั้นไวกว่าหนูรุ่นก่อน

Advertisement

นี่อาจจะเป็นสาเหตุให้มนุษย์ส่วนใหญ่มีสัญชาตญาณความกลัวเบื้องต้นที่ไม่แตกต่างกันนัก เช่น ที่คัมภีร์ไบเบิลเชื่อว่ามนุษย์กลัวและเกลียดงูเพราะเป็นศัตรูกันมาแต่ปางบรรพ์ที่งูซาตานหลอกให้มนุษย์กินผลไม้แห่งปัญญาจนถูกขับออกจากสวนสวรรค์ หรือเด็กส่วนมากจะมีพื้นฐานกลัวหมาหรือสัตว์มีเขี้ยวงา แม้จะเพิ่งได้พบเห็นเป็นครั้งแรกในชีวิตก็ตาม

ยิ่งกว่านั้นสำหรับสัตว์ที่มีภูมิปัญญารวมฝูงและอยู่ร่วมกันในระบบสังคม ความกลัวยังเกิดจากการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมได้ด้วย การทดลองของ ดร.จี.อาร์ สตีเฟนสัน (G. R. Stephenson) ได้นำลิงห้าตัวอยู่ในห้องเดียวกัน โดยในห้องนั้นมีกล้วยที่แขวนไว้บนเพดานกับบันไดซึ่งสูงพอที่จะไปหยิบกล้วยนั้นได้ แต่หากมีลิงตัวใดเข้าไปใกล้บันไดเพื่อจะปีนขึ้นไปหยิบกล้วย จะมีน้ำเย็นๆ ฉีดออกมาใส่ลิงทุกตัวในห้องนั้นจนเปียกปอนและหนาวสั่น การทดลองนี้ทำซ้ำจนกระทั่งลิงทุกตัวเกรงกลัวที่จะเข้าไปใกล้บันได นอกจากนั้นแล้วหากมีลิงตัวใดทำท่าจะไปที่บันได มันจะถูกลิงตัวอื่นในฝูงห้ามปรามทำร้ายทันที

การทดลองในขั้นต่อไปคือ การสลับเปลี่ยนเอาลิงตัวใหม่ที่ไม่เคยรู้เรื่องบันไดและการฉีดน้ำเข้ามา ลิงที่เข้ามาใหม่ซึ่งไม่รู้เรื่องบันไดต้องห้ามก็จะพยายามปีนขึ้นไปคว้าเอากล้วย แต่ไม่ทันที่จะได้ทำอย่างนั้นมันก็จะถูกรุมประชาทัณฑ์จากลิงฝูงเก่าจนขยาดหวาดกลัว การทดลองนี้ค่อยๆ สับเปลี่ยนลิงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในห้องนั้นไม่มีลิงชุดแรกที่เคยมีประสบการณ์เรื่องการปีนบันไดและโดนน้ำฉีดเหลืออยู่อีกแล้ว แต่ลิงทุกตัวในห้องนั้นก็ยังเกรงกลัวบันได และพร้อมจะปกป้องบันไดนั้นจากลิงหน้าไหนหรือลิงที่มาใหม่ที่มาเข้าใกล้หมายปีน

ลิงไม่ต้องรู้เหตุผลว่าทำไมบันไดจึงเป็นสิ่งต้องห้าม รู้แต่ว่าถ้าเข้าใกล้มันจะได้รับการลงโทษจากฝูง เพียงเท่านั้นก็เพียงพอให้มันกลัวเกรงต่อบันไดแล้ว แม้ว่านั่นจะเป็นเครื่องมือเดียวในการคว้าเอาสิ่งที่มันต้องการคือกล้วยลงมาได้ก็ตาม

แม้ว่าความกลัวจะมีประโยชน์ในการป้องกันมนุษย์และสัตว์จากอันตรายถึงชีวิต แต่ความกลัวที่เกิดจากประสบการณ์นั้นก็สามารถฆ่าสัตว์และอาจจะรวมถึงมนุษย์ได้ โดยเฉพาะเมื่อความกลัวนั้นข้ามไปสู่สภาพสิ้นหวัง

การทดลองอันโหดร้ายที่นำปลาไพค์ซึ่งเป็นปลานักล่ามาขังไว้ในตู้กระจกสองชั้น ที่ชั้นนอกมีปลาเล็กอันเป็นเหยื่อของมันว่ายวนอยู่ เจ้าปลาไพค์พุ่งเข้าหาปลาเหยื่อตามสัญชาตญาณแต่ก็พบกับความเจ็บปวดของกระจกที่มันมองไม่เห็น จนกระทั่งเมื่อมันเรียนรู้และสิ้นหวัง นักทดลองเอากระจกที่กั้นระหว่างมันกับเหยื่อออก แต่มันก็ไม่คิดที่จะว่ายไปกินปลาที่เป็นอาหารของมันเลย จนกระทั่งอดตายไปในที่สุด

รวมถึงการทดลองกับสุนัข ด้วยการนำสุนัขมาขังไว้ในคอกที่มันไม่สามารถกระโดดหนีได้และปล่อยไฟฟ้าใส่มัน เจ้าสุนัขหนีและติดกรงรั้วจนสิ้นหวัง แม้กระทั่งเมื่อย้ายไปไว้ในคอกเตี้ยๆ ที่มันน่าจะกระโดดหนีได้อย่างแน่นอนก็ตาม แต่เมื่อนักทดลองปล่อยไฟฟ้าไป เจ้าหมากลับนอนร้องโหยหวนโดยไม่คิดจะหนี เพราะมันเรียนรู้ถึงความเจ็บปวด และความกลัวอันไม่สามารถต่อต้านได้มานานเกินไปจนสิ้นหวัง

การทดลองอันแสนใจร้ายต่อสัตว์ที่เล่ามาทั้งหมดข้างต้นนี้ คือความพยายามหาคำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์ว่า ความกลัวนั้นก่อขึ้นและถ่ายทอดส่งต่อได้อย่างไร และความกลัวในระดับสิ้นหวังจะส่งผลอย่างไรต่อการตัดสินใจ ซึ่งสามารถนำมาอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคมได้ในระดับหนึ่ง

ความกลัวจึงเป็นกรอบคิดของเราเบื้องต้นว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ ขอบเขตของเรื่องต่างๆ อยู่ที่ไหน ความกลัวในระดับสิ้นหวัง หากมันถูกส่งต่อไปแล้ว แม้ว่าผู้ที่ได้สืบทอดความกลัวนั้นจะไม่มี “ประสบการณ์” ของความทรมานหรือความสิ้นหวังนั้น แต่ความกลัวที่ถูกส่งต่อนั้นก็จะไปปลูกสร้างความสิ้นหวังให้ได้ในที่สุด

ความกลัวระดับสิ้นหวังสร้างกรอบคิดว่าการต่อต้านหรือการเปลี่ยนแปลงนั้นทำไม่ได้ ดังนั้น อย่าคิดจะทำตั้งแต่ต้น ความกลัวในระดับความเชื่อนี้ส่งต่อไปได้ผ่านวัฒนธรรมและการสั่งสอน เพราะมนุษย์มีความสามารถเหนือกว่าสัตว์อื่นในแง่ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ความคิดลงไปเป็น “ประสบการณ์เชิงบอกเล่า” ให้ลูกหลานได้ ความสามารถนี้จะเป็นประโยชน์ต่อวิวัฒนาการของมนุษย์และสังคม เพราะมันจะทำให้คนรุ่นหลังไม่ต้อง “ลองผิด” ให้เสียเวลา สามารถใช้ประสบการณ์ที่รุ่นก่อนหน้าเคยทำอะไรแล้วไม่ได้ผลเพื่อหลีกเลี่ยงไปใช้วิธีการหรือประสบการณ์ใหม่ได้ทันที

แต่ในอีกทางหนึ่ง หากสิ่งที่สืบทอดไปผ่านประสบการณ์บอกเล่านี้คือ “ความกลัว” เสียแล้ว การสั่งสอนและประสบการณ์นั้นเองจะไปจำกัดกรอบคิด สร้างขอบเขตแห่งความเป็นไปได้ และแดนจินตนาการของคนรุ่นหลัง

ความกลัวปกป้องเราด้วยการตีกรอบที่เชื่อว่าปลอดภัยไม่ให้เราพาตัวเข้าไปสู่ความเสี่ยง แค่กรอบที่ปกป้องก็เป็นกำแพงที่ขังเราเอาไว้เช่นกัน ซึ่งก็ปรากฏหลายครั้งที่การปราศจากความกลัวโดยสิ้นเชิงเพราะความไร้เดียงสาหรือความไม่รู้ กลับทำให้เราสามารถเปิดปล่อยความสามารถออกมาได้อย่างเต็มที่จนคาดไม่ถึง

หลายท่านคงเคยได้ยินตำนานของ จอร์จ บี. แดนท์สิก (George B. Dantzig) นักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ เข้าเรียนวิชาคณิตศาสตร์สายจนใครออกจากห้องไปหมดแล้ว ด้วยการอนุมาน เขาเข้าใจเอาเองว่าโจทย์สมการสองข้อที่เขียนทิ้งไว้บนกระดานดำคือการบ้านสำหรับวันนั้น เขาจึงกลับไปใช้เวลาขบคิดแก้โจทย์นั้นถึงสองวันแล้วเอาไปส่งอาจารย์พร้อมขอโทษขอโพยที่ขาดเรียน เพื่อเขาจะมาทราบภายหลังว่าสิ่งที่เขาคัดลอกไปทำนั้นไม่ใช่การบ้านหรืองานที่มอบหมาย แต่เป็นโจทย์คณิตศาสตร์ทางสถิติที่ยังไม่มีใครแก้ได้มาก่อนเลยซึ่งอาจารย์ได้เขียนยกตัวอย่างไว้

เชื่อกันว่า ถ้าแดนท์สิกรู้ว่านั่นเป็นโจทย์คณิตศาสตร์ที่ไม่มีใครสามารถแก้ได้แล้ว เขาก็อาจจะเป็นคนหนึ่งเช่นกันที่พ่ายแพ้ต่อโจทย์สองข้อนั้น

ความไม่รู้ทำให้ไม่กลัว เมื่อไม่กลัวทำให้ไม่สร้างกรอบขึ้นมาจำกัด และไม่สร้างแต้มรองที่ไม่จำเป็นเพื่อลดทอนศักยภาพของตัวเอง แต่การตัดสินใจหรือมุ่งทำอะไรไปโดยขาดความรู้มันก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน จึงเป็นธรรมดาอยู่นั่นเองที่ผู้มีประสบการณ์มาก่อนจะ “กลัว” และส่งต่อความกลัวเพื่อไม่ให้เด็กๆ และลูกหลานได้รับภัยจากสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วว่านั่นเป็นอันตราย เพื่อละเว้นจากการต่อสู้อันสิ้นหวังเหนื่อยเปล่า ทั้งหมดคือความหวังดี

แต่หลายครั้ง ขอบขีดความกลัวของเรานั่นเองที่ไปสร้างกรอบอันไม่จำเป็นให้พวกเขา ความกลัวที่เราไม่เคยรู้สาเหตุของมันเพียงแต่กลัวและเชื่อต่อๆ กันมาโดยไม่เคยทบทวนถอดรื้อ ความกลัวที่เรากลัวและสิ้นหวังไปแล้วโดยยังไม่ได้สำรวจว่าบัดนี้ บริบท ตัวแปรและสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างไรบ้าง

เราเหมือนลิงที่กลัวบันไดเพราะได้ยินว่าถ้าไปป่ายปีนจะได้รับโทษ เราห้ามกันเองจนถึงลูกหลาน ไปจนถึงลงโทษพวกเขาอย่างทารุณหากไม่เชื่อฟัง ไม่ยอมรับ “ความกลัว” แบบเดียวกับเรา

และบางครั้งเราก็เป็นเหมือนสุนัขน่าสงสารที่ยอมถูกไฟฟ้าชอร์ตร้องครวญครางไม่คิดหนี โดยไม่ได้ดูเลยว่าเพียงวิ่งและกระโดดนิดเดียวก็พ้นภัยอันตรายนั้นได้แล้ว

มนุษย์เราฉลาดกว่าลิง เราจึงไม่ควรสั่งสอนเพียงว่าบันไดสู่ที่สูงนั้นอันตราย เพราะเราได้ยินมาว่ามันอันตราย เรามีสติปัญญาพอที่จะสื่อสารถึงเหตุผลว่าทำไม “ลิง” รุ่นก่อนถึงห้ามนักห้ามหนาว่าอย่าแตะต้องบันได

เพื่อให้ผู้ปราศจากกรอบคิดจากความกลัวนั้นได้สำรวจเองว่า ถ้าปีนบันไดต้องห้ามนั้นในตอนนี้ จะยังมีน้ำที่ไหนฉีดออกมาอีกหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image