‘ยิ่งบีบยิ่งดิ้น’ โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก มีพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์แรกที่เริ่มมีและใช้ภาษาไทย ตัวอักษรไทย

นั่นคือความเป็น “ตัวตน” ของคนในชาติที่เรามีภาษา วัฒนธรรมไทยๆ และตัวหนังสือเขียน เป็นภาษาไทยของเราเอง ต่างกับประเทศอาณานิคมที่เป็นเมืองขึ้นของประเทศในตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน เยอรมัน กรีก ฯลฯ จะมีการล่าเมืองขึ้นที่เรียกว่า “อาณานิคม” ประเทศกลุ่มพวกนี้ส่วนใหญ่จะมีภาษาตนเองเป็นภาษาแรก แต่จะมีภาษาตัวหนังสือที่เขียนๆ ในราชการมักจะเป็นของประเทศที่เข้าครอบครอง เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เป็นต้น

ต่อเนื่องจากยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ จะเห็นได้ว่ามีการค้าขายกับนานาชาติมากขึ้น โดยเฉพาะสมัย “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” และยุครัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระปิยมหาราช) สู่รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ในปัจจุบัน

หลังจากรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตั้งแต่ 2475-2563 รวมระยะเวลา 88 ปี ในระบบการปกครองประชาธิปไตย เราล้มลุกคลุกคลานมีการปฏิวัติรัฐประหารกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงรัชกาลที่ 10 ประเทศไทยเรามีกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ฉบับล่าสุด รวมแล้วมี 24 ฉบับ ซึ่งมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา รวมระยะเวลา 1 ปี 7 เดือนเศษ

Advertisement

นับว่าเป็นสิ่งที่ดีงามให้ประชาชนปกครองดูแลกันเองตามระบอบประชาธิปไตยดังกล่าว ตามที่อารยประเทศที่เจริญแล้วเขาถือการปกครองระบอบดังกล่าว ทำให้ประเทศเจริญด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ นักปรัชญาผู้ทรงเกียรติหลายๆ ท่านพูดเสมอว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตย” โดยมี “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ” เป็นเครื่องมือหรือเป็นระบบการปกครองที่ดีอย่างหนึ่ง ไม่มีอะไรที่เลวที่สุดหรือดีที่สุด หากมีและใช้อย่างต่อเนื่อง การกลั่นกรองของประชาชนเมื่อมีสิ่งแรกที่สุดคือ มีเจตคติที่ดีต่อระบบประชาธิปไตยแล้วเมื่อมีการดำเนินการ มีการใช้อย่างเป็นระบบเป็นธรรมถูกต้องโปร่งใส ไม่เอาเปรียบ ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ เชื่อว่าการอยู่กันอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ยอมรับให้อภัยกัน ด้วยเมตตากรุณาอย่างพอเพียงสังคมก็จะเป็นสุขได้

ในหนังสือ “รู้ไว้เสริมปัญญาและพัฒนาคน” ของท่านพระพรหมคุณาภรณ์นี้ (ป.อ.ปยุตโต) ได้เขียนไว้ว่า “ไทยถือพุทธ ทำไมไม่เจริญ” มีสาระดีมากควรแก่การเล่าสู่กันฟัง ความว่า…

ฝรั่ง เจริญเพราะอะไร? คนไทยเราหลายๆ คนถูกถามว่านับถือพระพุทธศาสนาทำไมเมืองไทยจึงไม่พัฒนาอยู่ในสภาพอย่างนั้น แต่ “ฝรั่ง” นับถืออย่างอื่น บกลับเจริญไปไกล” ดังปรากฏให้เห็น

Advertisement

ข้อสำคัญใหญ่และหลักการทั่วๆ ไปของพระพุทธศาสนาของเราไม่มีการบังคับศรัทธา การนับถือพระพุทธศาสนาเป็นไปโดยเสรี ให้ใช้ “ปัญญา” พิจารณาโดยไม่ถูกผูกมัดด้วยข้อกำหนดตายตัวทั้งด้วยความเชื่อและการปฏิบัติ อย่างที่ฝรั่งเรียกพระพุทธศาสนาว่าไม่มี “dogma”

คนที่จะเข้าถึงพระพุทธศาสนาได้เพียงใดก็อยู่ที่ “การศึกษา” หลักการและลักษณะนี้ทำให้คนที่เรียกว่านับถือพระพุทธศาสนายังอยู่อย่างห่างไกลจากตัวจริงของพระพุทธศาสนาระดับของคนที่นับถือก็ห่างกันได้มาก และชาวพุทธก็ยังอาจนับถืออะไรอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลยิ่งกว่าตัวเอง เพราะฉะนั้น

ประการที่ 1 : ไม่ใช่ว่าคนไทยเราจะเข้าถึงแนวทางของพระพุทธศาสนากันทั้งหมดและทุกสมัย เราอาจจะพยายามเข้าถึงพุทธศาสนา และในบรรดาชาวไทยทั้งหมดนั้น บางส่วนอาจจะเข้าถึงบ้างแต่คนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึง

ประการที่ 2 : เพราะไม่บังคับความเชื่อนี่แหละ คนไทยจึงไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่อาจจะนับถือลัทธิศาสนาอื่นๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย เช่น ศาสนาพราหมณ์ ไสยศาสตร์และลัทธิผีสาง ลัทธิความเชื่อเหล่านั้นจึงเข้ามามีอิทธิพลบางอย่างถึงกับล่วงล้ำเข้ามาปะปนพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำและก็อาจจะ… เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนไทยทั่วไปอยู่ใต้อิทธิพล จึงไม่ได้หมายความว่าพระพุทธศาสนาเป็นปัจจัยหลักที่ชักนำชะตากรรมของสังคมไทยอย่างแท้จริง เรียกว่า…คนไทยยังอยู่ใต้อิทธิพลของแนวความคิดและความเชื่ออย่างอื่นอีกมาก มองในทางกลับกัน อาจจะพูดได้ใหม่อีกอย่างหนึ่งว่า “พระพุทธศาสนาของเราช่วยมาได้แค่นี้”? หรืออาจตั้งคำถามใหม่ว่า ทำไมพระพุทธศาสนาจึงช่วยมาได้เพียงแค่นี้…?

ประการที่ 3 : ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ลัทธิศาสนาหรือความเชื่ออีก เช่น ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อม เป็นต้น

ก. สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ดีมีสุขท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติแวดล้อม เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับปุถุชน หมายความว่า มนุษย์ปุถุชนจะดิ้นรนขวนขวายต่อเมื่อมีทุกข์บีบคั้นหรือภัยคุกคาม ในแง่นี้จะเห็นได้ว่าในอารยธรรมตะวันตกนั้น ปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ความเจริญคือ… “การถูกทุกข์บีบคั้นและภัยคุกคาม” กล่าวคือ การขาดแคลนปัจจัย 4 และความบีบบังคับของภัยธรรมชาติ เช่น ความหนาวเย็นที่รุนแรงถึงขนาดที่ว่า ถ้าไม่ได้แก้ไขป้องกันแล้ว… “ชีวิตอยู่ไม่ได้” สำหรับเมืองไทยเรานี้เราอาจจะผัดผ่อนได้ เช่นว่า บ้านเราฝาผุแตก แต่เรายังไม่มีเวลา ยังไม่ซ่อมนะ เอาไว้เดือนหน้า พอถึงเดือนหน้าเราก็ผัดผ่อนอีกต่อไปอีกหนึ่งเดือน จนกระทั่งครบปีก็ยังไม่ได้ซ่อม แต่ในประเทศฝรั่งเศสจะผัดผ่อนไม่ได้เลยอีกสองเดือนฤดูหนาวจะมาเดือนหน้าไม่ซ่อมหนาวตายแน่ๆ

“ภัยธรรมชาติ” ที่รุนแรงและความ “ขาดแคลน” เนื่องจากธรรมชาติที่ไม่อุดมสมบูรณ์นี้เป็นอันตรายที่บีบคั้นทำให้เขา “ไม่ประมาท” หรือ “มัวเมาประมาทอยู่ไม่ได้” คือ จำเป็นต้องไม่ประมาทต่างจากของเราที่สภาพอุดมสมบูรณ์ ถ้าเป็นคนทั่วไปที่ไม่พัฒนาพอ ปัจจัยเอื้อต่างๆ จะนำไปสู่ความ “ประมาท” หรือ “มักง่าย” เช่น การผิดเพี้ยน เลี่ยงผัดผ่อนไปเรื่อย ละเลยปัญหาที่จะมาถึง คือ “ประมาท” นั่นเอง

ตรงนี้แหละอาจจะตั้งคำถามว่าทำไมผู้ที่ทำหน้าที่สอนศาสนาจึงไม่ช่วยพัฒนาคนไทยให้พ้นจากลัทธิแห่งความประมาทนี้ได้

นอกจากนี้จึงมีการบีบคั้นอื่นอีก โดยเฉพาะทางจิตใจและปัญญาอย่างมาก พวกเราๆ ท่านๆ ก็เคยเรียนประวัติศาสตร์กันมา อย่างในสมัยกลางของยุโรป…ศาสนาคริสต์มีอำนาจครอบงำยุโรปทั้งทวีป โดยมีวาติกันเป็นศูนย์กลาง โป๊ป (Pope) ที่แปลว่าสันตะปาปาจะเป็นผู้สวมมงกุฎให้กษัตริย์ของประเทศทั้งหลายทั่วไปหมด ฉะนั้น ถ้ามีกษัตริย์องค์ไหนเกิดเรื่องขัดแย้งไม่เชื่อฟังโป๊ปจะสั่งลงโทษเช่น เมื่อปี 1619 (ค.ศ.1076) โป๊ป เกรกอรีที่ 7 (Pope Gregory VII) สั่งลงโทษคว่ำบาตร “พระเจ้าเฮนรีที่ 4” (Henry 4) กษัตริย์อังกฤษต้องเดินข้ามเทือกเขาแอลป์ (Alps) มาขอขมาโทษโป๊ป และต้องยืนพระบาทเปล่า หนาวสั่นและอดอาหารอยู่กลางหิมะ 3 วัน โป๊ปจึงยกโทษให้

ในสมัยก่อนนั้นคำสอนในศาสนาคริสต์ใครจะเลี่ยงไม่ได้ สงสัยไม่ได้ ถ้าพูดขึ้นมาทำนองนี้นิดหน่อยก็จะถูกจับขึ้นศาล ซึ่งทางองค์กรศาสนาคริสต์และบ้านเมืองได้ร่วมกันตั้งขึ้นเรียกว่า Inquisition แปลว่า “ศาลไต่สวนศรัทธา” ไม่ว่าจะสงสัยในพระองค์เจ้าหรือสงสัยในคำสอนในคัมภีร์ไบเบิล (Bible) ก็จับขึ้นศาลได้เลย และถ้าไม่ละความเชื่อถือ หรือความสงสัยนั้นก็ถูกเผาทั้งเป็น ศาลนี้มีอยู่รวม 600 ปี โดยในประเทศสเปนช่วง 11 ปีแรก คนถูกเผาตายราว 200 คน

กาลิเลโอ (Galileo) นักวิทยาศาสตร์ของโลกที่สำคัญคนหนึ่งก็โดนด้วยเพราะเขาไปสอนเรื่องโลกว่า… “โลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล” แต่… “พระอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง” เท่านี้แหละถือว่าขัดแย้งกับคำสอนในคัมภีร์ ถูกจับขึ้นศาลเลย ก็ถูกตัดสินให้ดื่มยาพิษ แต่กาลิเลโอยอมบอกว่า ตัวเอง
หลงผิดไปก็เลยรอด ก็ได้รับการลดโทษลงมาเพียงให้ขังตัวอยู่แต่ในบ้าน รวม 8 ปี ตั้งแต่ ค.ศ.1633 จนตายเมื่อ ค.ศ.1642

กรณีตัวอย่าง “กาลิเลโอ” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดีของศาสนาคริสต์บีบคั้น ปิดกั้นทำให้คนไม่สามารถใช้ความคิด เหตุผลสงสัยถูกเลี่ยงปัญหาเกี่ยวกับ “ความจริงของโลกและชีวิต” แต่ธรรมชาติของมนุษย์นั้นยิ่งบีบก็ยิ่งดิ้น เพราะฉะนั้น “มนุษย์พวกหนึ่งอย่างพวกกาลิเลโอนี้ ก็ยิ่งรวมตัวกันแสวงปัญญาถกเถียงหาความรู้ทำให้เกิดการพัฒนาทางปัญญา” รวมความว่า…ในตะวันตกยุคก่อนโน้นการดิ้นรนเพื่อทำให้พ้นจากการบีบคั้นทางความคิดความเชื่อ ทำให้เกิดการใฝ่แสวงหาปัญญาต่างจาก “สังคมไทย” ที่ไม่มีการบีบคั้นทางปัญญา เลยเกิดความเรื่อยเปื่อยใครจะคิดอย่างไร ใครจะสงสัยอะไรก็ไม่ว่าก็ปล่อยไม่ใช่เรื่องของเราคนเดียว ดูดายเบื่อหน่าย…เลยขี้เกียจพูด พูดไปก็ไม่มีใครเห็นใจ สนใจ… แต่ฝรั่งเขาไม่อย่างนั้นพอพูดแสดงความสงสัย… “เขาจับเลย” เขากลายเป็นการกระตุ้นเร้าให้พวกที่อยากรู้ยิ่งอยากมาฟัง ยิ่งลักลอบทำเป็นการลับก็ยิ่งเอาจริง
เอาจัง จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ “ฝรั่ง” แสวงหาปัญญากันอย่างเอาจริงเอาจังยาวนานจนกระทั่งติดเป็น “นิสัยใฝ่รู้” ขึ้น

จากการดิ้นรนบีบคั้นทางปัญญานี้แหละในที่สุดก็ผุดโผล่ออกมา “เกิดเป็นยุคคืนชีพ” (Renaissance) และตามมาด้วย “ยุคปฏิรูป” (Reformation) การฟื้นฟูทางปัญญาจึงเกิดขึ้นในยุโรป เพราะ… “การถูกบีบคั้นจึงทำให้ฝรั่งมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายอย่างรุนแรง” ต่างจากของ “ไทย” เราไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงอะไร…(อย่างกรณี เช่น การบีบคั้นขัดแย้ง ต่อสู้ เผาเมือง ล้มการเลือกตั้ง และอื่นๆ นำไปสู่วงจรอุบาทว์ คือรัฐประหาร) ก็ต่างคนต่างอยู่กันเรื่อยๆ สบายๆ จนจะมีนิสัยผิดเพี้ยน ปล่อยปละละเลย เรื่อยเปื่อย เฉื่อยชาตกอยู่ในความ “ประมาท”

พูดได้ว่า ถ้าเราไม่พัฒนา “คน” ให้ดีพอ คือไม่สามารถทำให้คนอยู่ด้วยความไม่ประมาทที่แท้ตามหลักของสังคมไทยจะเจริญสร้างสรรค์ได้ยาก เพราะเราไม่มีทั้งสภาพโหดร้ายทารุณของธรรมชาติ และไม่มีประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่บีบคั้นทางปัญญา หรือการบังคับความเชื่ออย่างในเมืองฝรั่ง

ความไม่ประมาทที่แท้คือ… การเร่งรัดแก้ไข ป้องกันความเชื่อและสร้างสรรค์ความเจริญด้วย “สติปัญญา” ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาคนให้อยู่ด้วยความไม่ประมาทที่แท้ คนก็จะตกไปอยู่ใต้อำนาจของ “กิเลสของปุถุชน” คือต้องมีทุกข์บีบคั้น หรือภัยคุกคามจึงจะดิ้นรนขวนขวาย แต่เมื่อไรสุขสบาย ประสบความสำเร็จก็จะนอนนั่งเฉยเฉื่อยชามัวเมา เพลิดเพลินในความสุขแล้วก็ผัดผ่อนอะไรต่ออะไรไปเรื่อยๆ ยิ่งเรามาใช้ “สันโดษ” ในความหมาย “พอใจในสิ่งที่มีอยู่ จะได้มีความสุขก็ไปกันได้เลย” นี่คือ “ลัทธิแห่งความประมาท” นั่นเอง

ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) เน้นย้ำว่า… “ถ้าผู้ใดสันโดษในกุศลธรรม ผู้นั้นเป็นคนประมาท” พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยสอนเลย พระองค์สอนให้… “สันโดษในวัตถุสิ่งเสพเท่านั้น” เราก็จะมีเวลาแสวงหาความคิดสร้างสรรค์เหลือเฟือที่จะเอาไปทุ่มเทให้แก่การทำหน้าที่การงานการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม

ถ้าเราสันโดษในวัตถุสิ่งเสพพร้อมกันไม่สันโดษในกุศลธรรมดังกล่าวพระพุทธเจ้าสอนก็จะเกิดความเจริญทางสร้างสรรค์อย่างแน่นอน 100% แต่ถ้าเวลานี้คนไทยสุขสบายแล้วยังแถมสันโดษในกุศลธรรมอีกด้วย ก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย ไม่เร่งรัดตัวเอง กลายเป็นคนปล่อยปละละเลย

โดยสรุปว่า… “สังคมตะวันตก” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดีแก่การเรียนรู้ที่เขามีตัวเร่งทำให้คนไม่ประมาท ทั้งโดยธรรมชาติแวดล้อมที่ทารุณ โดยการบีบคั้นกันเองในหมู่มนุษย์ เข้าหลักที่ว่า… “คนถูกทุกข์บีบคั้น และภัยคุกคามกันเองในหมู่มนุษย์” จึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย เข้าตำราที่ว่า “ยิ่งบีบ ยิ่งดิ้น” เอาจริง เอาจัง แสวงหา “ปัญญากันจริงจังแม้จะยาวนาน” จนเกิดนิสัยใฝ่รู้ขึ้น นำไปสู่…ผุดฟื้นคืนชีพ (Renaissance) ตามมาด้วยยุคปฏิรูป (Reformation) เป็นการฟื้นฟูทางปัญญา ผู้เขียนเชื่อเหลือเกิน “ฝรั่ง” ทำได้คนไทยเราทั้งชาติก็มีคนดี คนเก่งมากหลายหันมาร่วมกันสร้างความคิดทัศนคติ เจตคติ รวมกันเป็นหนึ่งเดียวแก้ไขปัญหาชาติด้วยเราอยู่กับพระพุทธศาสนาที่มีสิ่งดีๆ ที่ “ฝรั่ง” ทำได้ “คนไทย” ก็ทำได้ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image