อนาคตทักษะวัฒนธรรมของสังคมไทยเปราะบางหรือคงทน

อนาคตทักษะวัฒนธรรมของสังคมไทยเปราะบางหรือคงทน

อนาคตทักษะวัฒนธรรมของสังคมไทยเปราะบางหรือคงทน

กล่าวตามความเป็นจริงแล้ว ทุกชาติทุกภาษาจะมีวัฒนธรรมเป็นของตนเองที่บรรพบรุษได้สั่งสมไว้ให้อนุชนได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติทั้งในชีวิตประจำวันและอนาคต วัฒนธรรมเป็นชุดการกระทำที่ถือว่ามีความหมายและมีความศักดิ์สิทธิ์ต่อการเป็นอยู่และดำรงอยู่ของมวลหมู่มนุษยชาติ การแสดงออกที่ส่งผ่านวิถีของการดำเนินชีวิต มิติความคิดความเชื่อความศรัทธาพิธีกรมต่างๆ ตลอดจนจารีตขนบประเพณีรวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและภูมิปัญญาชาติล้วนแสดงถึงอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมทั้งสิ้น วัฒนธรรมจะถูกส่งผ่านมายังผู้คนรุ่นปัจจุบันในลักษณะที่ปลูกฝังถ่ายทอดเรียนรู้ตลอดจนการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความเจริญงอกงามแต่บางครั้งจะพบว่าวัฒนธรรมบางอย่างถูก “แปรรูป” จนกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมจะต้องหันกลับมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง

มิติฐานคติทางวัฒนธรรม

มิติทางวัฒนธรรมนั้นมีมากมายหลายมิติแต่ทั้งนี้ผู้เขียนขอฉายภาพออกมาบางมิติในลักษณะดังนี้

Advertisement

1.การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมวัฒนธรรม เป็นมิติในการรับเอาวัฒนธรรมอื่นเข้ามาปรับใช้กับวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้จะทำให้เกิดความดีงามทางวัฒนธรรมได้เมื่อผู้คนที่อยู่ในสังคมนั้นมีการ “ปรับให้เหมาะวิเคราะห์ให้ถูก” จะทำให้การนำวัฒนธรรมที่ถูกนำมาผสมกลมกลืนเพื่อปรับใช้จะมีความเจริญงอกงามต่อวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ

2.ความล้าหลังทางวัฒนธรรม เพราะสังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาฉะนั้นวัฒนธรรมต่างๆ ที่อยู่ในสังคมจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย วาทกรรมการพัฒนาจะเป็นอีกวาทกรรมหนึ่งที่สามารถช่วยเป็นเครื่องมือในการที่จะไม่ทำให้วัฒนธรรมเกิดความล้าหลังขึ้น อนึ่งความล้าหลังทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมส่วนมากจะเกิดจากความรู้สึกนึกคิดของผู้ใหญ่ในสังคมที่ไม่ยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการกระทำของคนรุ่นใหม่ ความล้าหลังทางวัฒนธรรมอาจจะทำให้สังคมบอบช้ำได้ในที่สุด

3.ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม ในความหมายที่ชัดเจนของมิตินี้มิได้หมายถึงวัฒนธรรมมีความขัดแย้งกันแต่เป็นลักษณะที่คนในสังคมมีความขัดแย้งกันซึ่งอาจจะมีผลมาจากความเชื่อความศรัทธา ตลอดจนระดับการศึกษาของผู้ที่อยู่ในสังคมนั้นๆ อย่างไรก็ตามความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นทางด้านความศรัทธาหรือความเชื่อต่างๆ นั้นค่อนข้างจะส่งผลต่อความขัดแย้งของสังคมค่อนข้างน้อยและไม่เป็นวงกว้าง

Advertisement

4.วัฒนธรรมที่ตกค้างหรือสามารถเรียกอีกลักษณะหนึ่งว่า “ชีวีวัฒนธรรม (Cultural Survival)” มิติทางด้านวัฒนธรรมลักษณะนี้มีมานานและค่อนข้างเกิดขึ้นมากในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาทั้งหลายเช่น การครอบงำซึ่งอำนาจทางการเมือง การมี “เงา” ของผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการองค์กร จะเห็นว่าบางครั้งความเข้าใจในวัฒนธรรมที่ถูกต้องในการ “ปรับให้เหมาะวิเคราะห์ให้ถูก” ก็ไม่ได้ส่งผลต่อการปฏิรูปถึงวัฒนธรรมใหม่แต่อย่างใด

5.วัฒนธรรมที่เป็นจริงกับวัฒนธรรมในจินตนาการ ทุกๆ สังคมจะยายามขัดเกลาผู้คนที่อยู่ในสังคมให้ “อิน” กับวัฒนธรรมที่เป็นจริง หากเมื่อใดก็ตามที่สังคมมีการเรียกร้องให้มีวัฒนธรรมในจินตนาการหรือวัฒนธรรมในอุดมคติบางครั้งถึงเกิดความขัดแย้งในลักษณะต่างๆ ตามมา

วัฒนธรรมในจินตนาการนั้นหากสังคมที่เป็นได้มีการชำเลืองมองวัฒนธรรมอื่นก็จะทำให้เกิดการผนวกรวมและที่สำคัญย่อมเป็นที่มาของการเกิดวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ต่อไปในอนาคตได้

วัฒนธรรมและเวลา : การผุกร่อนของสังคมไทย

ความงดงามของวัฒนธรรมสังคมไทยนั้นเป็นมิติการรับรู้ในลักษณะเชิงบวก (Positive perceived) ที่ถูกมองผ่านกาลเวลาในลักษณะ “หน้าตา” ของรัฐชาติเพราะวัฒนธรรมไทยถือว่าเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางสังคม (Social cohesion) ได้เป็นอย่างดีและเป็นส่วนหนึ่งในการหล่อเลี้ยงความเป็นชาติ (Nationhood) ได้อย่างลงตัว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสังคมไทยจะมีความงดงามทางด้านวัฒนธรรมแต่ความผุกร่อนของดูเหมือนว่ากำลังจะมาเยือนสังคมไทยอย่างไม่รู้ตัว ความผุกร่อนของสังคมไทยในด้านวัฒนธรรมที่กำลังเกิดขึ้นมีลักษณะดังนี้

1.การไม่เข้าใจวัฒนธรรมแบบสัมพันธ์ (Relationality) อย่างลึกซึ้ง กล่าวคือวัฒนธรรมไทยมีการผนวกรวมกับวัฒนธรรมอื่นมากไปจนดูเหมือนว่าขาดสารัตถภาพการกระทำในวัฒนธรรมของตนเอง มีการหยิบฉวยวัฒนธรรมอื่นมาใช้ด้วยความชื่นชมแบบ “ชั่วคราว” จนทำให้เกิดการช็อกทางวัฒนธรรม (Cultural shock) ตามมา ดังนั้น ต้องมีความเข้าใจในแก่นแกนของวัฒนธรรมเหล่านั้นอย่างชัดเจน การกระแทกและการไหลบ่าของวัฒนธรรมอื่นดูเหมือนว่าไม่มีการ “ถอนราก (uprooted)” ขึ้นมาดูแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้การเข้าใจในวัฒนธรรมอื่นแบบสัมพันธ์ต้องมีการศึกษาให้ครบถ้วนทั้งนี้สถาบันทางการศึกษาทุกระดับจะต้องมีการผนวกรวมวัฒนธรรมต่างๆ เช่น วัฒนธรรมทางด้านการเมือง วัฒนธรรมการแสดงออกที่อยู่บนพื้นฐานของหลักสากลให้ปรากฏอยู่หน่วยการเรียนรู้ซึ่งอาจจะมีลักษณะทางตรงและทางอ้อมก็ได้

การที่ได้เข้าใจ “ความเป็นวัฒนธรรมต่างสี” นั้นจะสามารถกลายเป็นเนื้อเดียวกันของวัฒนธรรมแบบสัมพัทธภาพ (Relativity) ที่ลงตัว

2.วัฒนธรรมไทยมีความคงทน (Endurance) มากไปขาดการปรับเปลี่ยนที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมของสังคมโลก ยังมีวัฒนธรรมบางอย่างฝังรากลึกเช่น การเคารพระบบวัยวุฒิมากกว่าระบบคุณวุฒิซึ่งเห็นเกลื่อนกลาดในสถาบันการศึกษา การต่อยอดเชิงอำนาจในเชิงบริหารจัดการยังมีการผูกขาดไม่มีการถ่ายโยงหรือการสอนงานโดยเฉพาะการเมืองที่ลักษณะแบบผูกขาดเชิงอำนาจ สามัญสำนึกธรรมดาแบบส่วนรวมมิได้มีการหยั่งลึกลงในตัวตน ด้วยเหตุนี้ “การเชิญชวน” จึงเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและดูเป็นการผลิตซ้ำทางสังคมที่ทับซ้อนอย่างชัดเจน

3.วัฒนธรรมทางวัตถุ (Material Culture) มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วตรงข้ามกับวัฒนธรรมทางด้านจิตใจยังมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป การเห็นต่างและการเห็นพ้อง (Dissensus-Consensus) เป็นเพียงลักษณะชั่วคราว การถกแถลงเพื่อการพัฒนาแบบองค์รวมยังไม่มีลักษณะต่อเนื่องและที่สำคัญมีลักษณะเป็นไปเพื่อตนเองและกลุ่มมากกว่า

อะไรคือทักษะวัฒนธรรมที่ควรคงทน

ทักษะวัฒนธรรมเป็นคำที่ถูกนำมาใช้เพื่อการสร้างฐานรากให้กับสังคมไทยมีความเข้มแข็งในทุกมิติ หากมองย้อนไปกับความหมายเชิงประจักษ์ของคำว่าวัฒนธรรมคือ ความเจริญงอกงามต่างๆ นั้นดูเป็นคำที่มีความยิ่งใหญ่ยิ่งมีการสรรค์สร้างให้เข้ากับวลีที่ว่า “สิ่งที่ดีงาม” แล้วดูเหมือนว่าวัฒนธรรมจะถูกสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นสิ่งดีงามห้ามมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงหรือแก้ไขเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้คนในรัฐชาติขาดทักษะในการใช้วัฒนธรรมที่เหมาะสมหรือมีการปรับให้ทันสมัยก็อาจจะทำให้วัฒนธรรมของรัฐชาติล่มสลายได้

ทักษะวัฒนธรรมสามารถนำมาพิจารณาได้สองลักษณะคือ ทักษะที่เป็นความชำนาญ (Skill) และทักษะการใช้วัฒนธรรมได้อย่างคล่องแคล่ว (Fluency) แต่ทั้งสองคำนี้เมื่อนำมาใช้ในลักษณะวากยสัมพันธ์ (Syntax) จะเป็นความสัมพันธ์ที่ให้ความหมายเชิงความสามารถทางด้านปัญญาของผู้ใช้และผู้มีวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี สิ่งหนึ่งที่ควรตระหนักและให้ความสำคัญคือผู้คนในรัฐชาติพึงมีการนำวัฒนธรรมมาใช้ได้อย่างคล่องแคล่วไม่ยึดเหนี่ยวกับพลังอำนาจบางอย่าง ทั้งนี้ต้องมีการพิจารณาความไม่แน่นอนเชิงวัฒนธรรมที่เป็นไปอย่างรวดเร็วของสังคมโลกด้วย ด้วยเหตุนี้ภาพฉายของสังคมไทยและการเพาะบ่มทักษะวัฒนธรรมเพื่อความคงทนนั้นควรกระทำดังนี้

1.อย่าพิพากษาวัฒนธรรมอื่นว่าด้อยกว่าโดยเฉพาะวัฒนธรรมของ “ผู้คนที่มีอำนาจน้อยกว่า” ผู้คนในสังคมต้องลดการดูถูกเหยียดหยามกันเอง ต้องมีการสร้างความสำคัญให้กับผู้อื่น (the others) ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ สร้างความเข้าใจในความยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษที่ได้สร้างชาติมาด้วยความเป็นพหุวัฒนธรรมรวมทั้งมีการจัดวางระเบียบด้านทักษะวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นภายใต้ฐานคติที่ว่าสามัญสำนึก (Common Sense)

2.การลดความต่างสร้างความเหมือน ด้วยเหตุที่สังคมไทยยังมีลักษณะพหุลักษณ์ฉะนั้นจำเป็นที่สถาบันทางสังคมต่างๆ ต้องมีจุดร่วมที่เป็นความเหมือนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะนโยบายของรัฐที่จะต้องให้ความสำคัญแก่ผู้คนอย่างเท่าเทียมกันในทุกด้านเช่น การแสดงออกที่มีลักษณะแสดงถึงความเป็นวัฒนวิถีก็ต้องได้รับการสนับสนุนมิใช่ห้ามปรามหรือลดทอนสิทธิแต่อย่างใด

3.สร้างค่านิยมเบื้องต้นให้เกิดขึ้นในเรื่องวัฒนธรรมต่างสีคือทุกอย่างล้วนเป็นความงดงามทางวัฒนธรรมที่เรียกว่ามรดกของสังคมโลก ทั้งนี้จะต้องมีการสร้างความผูกพันที่จะเป็นการส่งเสริมความรู้สึกนึกคิดที่ดีแก่ผู้คนในรัฐชาติว่าวัฒนธรรมย่อยคือส่วนประกอบของวัฒนธรรมส่วนรวมหากไม่มีวัฒนธรรมย่อยวัฒนธรรมก็จะปราศจากความคงทน

4.ทักษะวัฒนธรรมอีกประการหนึ่งจะต้องการตระหนักและรับรู้ว่าขนบทุกอย่างต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้และการปรับตัวของผู้คนทุกเพศทุกวัยต้องรู้เท่าทันปริบทของสังคมอื่นด้วย

5.การไหลบ่าของวัฒนธรรมมิใช่การครอบงำ ที่ผ่านมาสังคมไทยส่วนใหญ่ยังมีการรับรู้ว่าการไหลของวัฒนธรรมอื่นคือการครอบงำ ซึ่งความเป็นจริงแล้วการไหลบ่าเป็นเพียงการกระจายทางวัฒนธรรม (Cultural diffusion) ดังนั้น ผู้คนในรัฐชาติต่างหากที่ต้องมีการเลือกและคัดกรองวัฒนธรรมอื่นมาใช้ให้เข้ากับวัฒนธรรมของตนเองโดยปราศจากการลอกเลียนแบบทั้งหมดสิ่งนี้คือ ความฉลาดเลือกต่างหาก

6.ทักษะวัฒนธรรมที่จะนำมาสู่ปฐมบทปฏิพัทธ์เชิงสังคมของผู้คนในรัฐชาติต้องปลูกฝังบ่มเพาะและมีการสอนอย่างจริงจังและเข้มงวดคือ การเคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษยชาติและการเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชน ทั้งสองสิ่งนี้จะทำให้ทักษะวัฒนธรรมของผู้คนในรัฐชาติได้รับความชื่นชมจากผู้คนต่างวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี

7.ทักษะวัฒนธรรมอีกลักษณะหนึ่งที่สังคมไทยต้องปลูกฝังตั้งแต่สถาบันครอบครัวจนถึงสถาบันทางสังคมอื่นๆ คือให้เข้าใจในความยิ่งของรัฐชาติและการมองเห็นคุณงามความดีบนแผ่นดินที่ตนเองอาศัย ยิ่งไปกว่านั้นทักษะวัฒนธรรมหนึ่งที่ต้องปลูกฝังให้กับเยาวชนของชาติคือการฟังความคิดเห็นที่แตกต่างเพื่อการพัฒนา ถ้าหากทำได้เช่นนี้ เยาวชนของรัฐชาติในวันนี้จะไม่กลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีลักษณะ“กลวง”ในวันหน้าอย่างแน่นอน

ด้วยเป็นความจริงของวัฒนธรรมที่มีลักษณะเกิด แก่ เจ็บ ตาย ฉะนั้นการมีทักษะวัฒนธรรมถือว่าเป็นความท้าทายของผู้คนในรัฐชาติอย่างยิ่งที่จะทำให้วัฒนธรรมมีความสถาพรและยั่งยืนและที่สำคัญทุกคนพึงระลึกอยู่เสมอว่า “มนุษย์สร้างวัฒนธรรมและมนุษย์ก็ทำลายวัฒนธรรมเอง” และที่มีความหมายมากไปกว่านั้นคือ มีวัฒนธรรมอะไรบ้างที่จะต้อง “ถอดรื้อ” คงจะเป็นสิ่งที่ต้องกระทำและพิจารณาด้วยใจก็จะดีมิใช่น้อยเช่นกัน !!!

โดย : ธงชัย สมบูรณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image