รื่นร่มรมเยศ : กตัญญูกตเวที คุณธรรมที่เป็นพื้นฐาน

รื่นร่มรมเยศ : กตัญญูกตเวที คุณธรรมที่เป็นพื้นฐาน

รื่นร่มรมเยศ : กตัญญูกตเวที คุณธรรมที่เป็นพื้นฐาน : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

สังคมไทยเป็นสังคมที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนา เรียกได้ว่าวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนวิธีคิด อุปนิสัยใจคอของคนไทยได้รับการหล่อหลอมมาจากคุณธรรมทางพระพุทธศาสนาเกือบทั้งนั้น

ความกตัญญูกตเวที (รู้คุณและตอบแทนคุณ) ก็เป็นคุณธรรมทางศาสนาข้อหนึ่งในหลายข้อที่บรรพบุรุษเราได้ปลูกฝังอบรมลูกหลาน

คำพังเพยว่า “อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น” ชี้ถึงความสำคัญของความกตัญญูกตเวทีในแง่มุมหนึ่ง คือ เมื่อเราได้ไปอาศัยคนอื่นอยู่ จะด้วยเหตุใดก็ตาม ให้รู้บุญคุณของเขามีอะไรจะตอบแทนเขาได้ก็ให้ทำ แม้กระทั่งงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น เอาดินเหนียวมา “ปั้นวัวปั้นควาย” ให้ลูกๆ หลานๆ เขาเล่นให้เพลิดเพลินก็ยังดี

Advertisement

คนที่ไม่รู้จักบุญคุณคนอื่น ท่านถือว่าเป็นคนเลว ยิ่งทำร้ายผู้มีบุญคุณยิ่งเลวกว่าอีกสองเท่า เราจะได้ยินคำพูดในทำนองด่าหรือตำหนิแรงๆ ว่า “คนเนรคุณ ไม่รู้คุณข้าวแดงแกงร้อน” สังคมไทยโบราณเราเข้มงวดเรื่องนี้มาก ใครที่ประพฤติตัวเป็นคน “ไม่รู้คุณคน” จะถูกสังคม “บอยคอต” ไม่ยอมรับเป็นสมาชิกของสังคมเลยทีเดียว

ไปถิ่นไหนถ้าเขารู้ก็มักไม่มีคนคบหาสมาคมด้วย

คนไม่รู้คุณคนท่านจะเน้นหนักหนาว่าเป็นคน “ทำกินไม่ขึ้น” คือไม่ว่าจะทำมาหากินอะไรก็ไม่เจริญรุ่งเรือง แม้เบื้องแรกทำท่าเจริญรุ่งเรืองก็ตาม แต่ในระยะยาวมักจะเสื่อม หรือประสบหายนะให้เห็นทันตาเสมอ ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าแปลก ผมเองก็เคยเห็นมาหลายราย

Advertisement

เด็กบ้านนอกคนหนึ่งบวชเณรเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ อาศัยอยู่กับพระผู้ใหญ่ระดับเจ้าคุณซึ่งเป็นคนจังหวัดเดียวกัน เณรน้อยรูปนี้เรียนหนังสือเก่ง สอบได้เปรียญ 5 ประโยคตั้งแต่เป็นเณร บวชพระแล้วก็สอบได้อีกถึง 7 ประโยค มีความทะนงตัวว่าตัวเองรู้มากกว่าคนอื่น ไม่ค่อยจะเชื่อฟังใคร เมื่อทำอะไรไม่เหมาะไม่ควรท่านเจ้าคุณตักเตือน ก็มักพูดใส่หน้าว่า “มีความรู้แค่ 5 ประโยค ยังจะมีหน้ามาสอนคนได้ถึง 7 ประโยค”

ท่านเจ้าคุณท่านได้เปรียญ 5 ประโยค ลูกศิษย์คนนี้จึงเอาความรู้ตามประกาศนียบัตรมาข่มท่าน เข้าทำนองเด็กสมัยใหม่ที่เรียนจบปริญญาแล้วดูถูกพ่อแม่ที่ส่งเสียให้เรียนว่า “พ่อแม่อย่ามาสอนฉันเลย ฉันเป็นถึงบัณฑิตปริญญาตรี พ่อแม่แค่ประถม 4 เท่านั้น!”

เจ้าศิษย์ไม่รู้คุณคนนี้ ต่อมาสึกออกไปทำงานในกรมไปรษณีย์โทรเลข (สมัยนั้น) หน้าที่การงานก็ทำท่าว่าจะไปดี แต่เนื่องจากความประพฤติไม่ดี ถูกไล่ออกจากงาน แล้วก็หางานใหม่ไม่ได้ อยู่อย่างอดอยากยากแค้น บั้นปลายชีวิตเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ได้ เพราะได้ข่าวว่าเพื่อนหลายคนที่เป็นห่วงเป็นใยตามหาตัวเพื่อจะช่วยเหลือ ก็ตามไม่พบ

ยกตัวอย่างให้ดูรายเดียวก็คงพอ นี่แหละครับที่โบราณว่า คนไม่รู้คุณคน ทำกินไม่ขึ้น

ท่านจึงสอนให้กตัญญู คือมีความสำนึกในบุญคุณที่คนอื่นมีต่อเรา แม้เพียงให้ข้าวน้ำกินมื้อเดียว ให้ร่มเงาชายคาอาศัยเพียงครู่เดียว จนกระทั่งคนที่หนีแดดร้อนมานั่งพักให้หายร้อนหายเหนื่อยใต้ต้นไม้ ท่านก็สอนให้เรารู้คุณของต้นไม้

มีสุภาพบุรุษวัยชราท่านหนึ่ง เวลาเดินผ่านตึกหลังหนึ่งท่านจะคำนับตึกแล้วเดินผ่านไป บุรุษหนุ่มคนหนึ่งจึงเข้าไปถามว่า “คุณลุงคำนับตึกทำไมครับ”

คุณลุงบอกว่า “ฉันไม่ได้คำนับตึกนะ พ่อหนุ่ม ฉันคำนับสถาปนิกคนที่ออกแบบตึกนี้ เขาช่างเก่งเหลือเกิน” ว่าแล้วท่านผู้เฒ่าก็เดินจากไป

นี่คือตัวอย่างของคนรู้คุณคนอย่างหนึ่งครับ เขารู้ว่าคนที่ออกแบบตึกนี้เป็นคนเก่ง เป็นเหตุให้ได้สร้างตึกที่มีรูปทรงสวยงามอย่างนี้ขึ้นมาได้ จึงแสดงออกด้วยการคำนับให้คนอื่นเห็นและเอาอย่าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image