สัญญาณ การเมือง ต่อ กรรมการสมานฉันท์ จาก พลังประชารัฐ

สัญญาณ การเมือง ต่อ กรรมการสมานฉันท์ จาก พลังประชารัฐ

สัญญาณ การเมือง
ต่อ กรรมการสมานฉันท์
จาก พลังประชารัฐ

ทั้งๆ ที่แนวคิดในเรื่อง “คณะกรรมการสมานฉันท์” มาจากการเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา

แล้ว “รัฐสภา” ก็นำมา “ปฏิบัติ”

เด่นชัดอย่างยิ่งว่า ไม่ว่าการอภิปรายของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ไม่ว่าการขานรับของ นายชวน หลีกภัย ในฐานะประธาน

Advertisement

ต้องการช่วย “รัฐบาล”

เป้าหมายสูงสุดก็ต้องการช่วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เพียงแต่ให้ก้าวพ้นไปจาก “ปัญหา” หากแต่ต้องการสร้างความชอบธรรม

เป็นความชอบธรรมในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”

Advertisement

คำถามก็คือ แล้วเหตุใดจึงเริ่มปรากฏเสียงคัดค้าน ต่อต้าน ดังระงมมาจากภายในพรรคพลังประชารัฐ เพื่อมิให้การขับเคลื่อน “คณะกรรมการ” เป็นไปโดยราบรื่น

นี่ย่อมเป็นเรื่อง “แปลก” อย่าง “ประหลาด”

เสียงคัดค้าน ต่อต้าน อันดังอย่างต่อเนื่องจากเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา ในนามของ “คณะราษฎร 2563” เป็นเสียงที่สามารถเข้าใจได้

เพราะนี่คือ กระบวนการ “ซื้อเวลา”

เป็นการซื้อเวลาให้กับรัฐบาล เป็นการซื้อเวลาให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการซื้อเวลาในการร่วมรัฐบาลต่อไปของพรรคประชาธิปัตย์

กลยุทธ์นี้พรรคพลังประชารัฐน่าจะเข้าใจ

กระนั้น ความหงุดหงิดของพรรคพลังประชารัฐก็เด่นชัด พลันที่มีเสียงขานรับจาก นายอานันท์ ปันยารชุน จาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เป็นการขานรับจาก “อดีต” นายกรัฐมนตรี

หากมองจากมุมของรัฐบาล หากมองจากมุมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การได้ 3 อดีตนายกรัฐมนตรีมาช่วยในการหาทางออกก็น่าจะเป็นเรื่องน่ายินดี

แล้วทำไมต้องหงุดหงิด ทำไมต้องไม่พอใจ

หากความหงุดหงิด ความไม่พอใจภายในพรรคพลังประชารัฐดำเนินไปในลักษณะขยายวง ไม่เพียงแต่จะมีผลทำให้การเดินหน้าของ “คณะกรรมการ” มีปัญหา

หากแต่ “อดีต” นายกรัฐมนตรีก็วางตัวลำบาก

ในเมื่อพรรคพลังประชารัฐมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้า ในเมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีความแนบแน่นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ท่าทีของพรรคพลังประชารัฐจึงละเอียดอ่อน

และความละเอียดอ่อนนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการตีวัวกระทบไปยัง นายอานันท์ ปันยารชุน ไปยัง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ไปยัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เท่านั้น

หากแต่ยังกระทบไปยัง นายชวน หลีกภัย

เมื่อกระทบไปยัง นายชวน หลีกภัย ก็ย่อมกระทบไปยังพรรคประชาธิปัตย์ และกระเทือนถึงสถานะของพรรคประชาธิปัตย์ที่ร่วมอยู่ในรัฐบาล

นี่คือลักษณะ “งูกินหาง” ในทาง “การเมือง”

สัญญาณจากพรรคพลังประชารัฐ จึงเป็นสัญญาณที่สวนทางกับความคึกคักของรัฐสภาในการเดินหน้าเพื่อขับเคลื่อน “คณะกรรมการสมานฉันท์”

ในที่สุดก็เท่ากับเป็นการปฏิเสธ

ในที่สุด สิ่งที่เรียกและรู้สึกว่าเป็น “ปัญหา” อันเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา ได้หยิบขึ้นมาเป็นประเด็นก็ยังคงกลายเป็น “ปัญหา”

โอกาสที่ “ปัญหา” จะกลายเป็น “วิกฤต” จึงยังคงอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image