ถึงเวลาเดินหน้ามุ่งสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ถึงเวลาเดินหน้ามุ่งสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก

ถึงเวลาเดินหน้ามุ่งสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นแต่ละประเทศทยอยประกาศปิดเมืองหรือที่เรียกกันว่าล็อกดาวน์ แม้ว่าไม่นานมานี้จะมีการกลับมาเปิดเมือง แต่ก็กลับมาเกิดการระบาดรอบสอง จนหลายประเทศต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกรอบ การล็อกดาวน์จำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางข้ามเขตแดน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเมืองหรือระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้เกิดการหยุดจ้างงาน การปิดกิจการบางประเภทแบบชั่วคราวหรือถาวร แม้ว่าไทยจะยังไม่เกิดระลอกสองและยังไม่มีการกลับมาล็อกดาวน์ แต่ก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และการหดตัวทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ

เมื่อเศรษฐกิจหดตัว รายได้ในทุกภาคเศรษฐกิจรวมถึงของครัวเรือนหายไป ในขณะที่รายจ่ายประจำวันไม่ได้ลดลงไปด้วย และไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินออมเพียงพอให้อยู่ได้โดยไม่ต้องทำงานเป็นระยะเวลานาน ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ทั้งของธุรกิจและบุคคลย่อมลดลงตามไปด้วย

ที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่ากระทรวงต่างๆ และธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐร่วมกันออกมาตรการรองรับผลกระทบของโควิด-19 ในหลากหลายมิติ ได้แก่

Advertisement

มาตรการทดแทนรายได้ของแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ รวมถึงกลุ่มอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการชั่วคราวหรือถาวร เช่น เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย กระทรวงการคลังให้เงินเยียวยาเกษตรกร ผู้มีอาชีพอิสระ และกลุ่มเปราะบาง ส่วนของกลุ่มที่มีความเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุและผู้พิการ ยังได้เพิ่มอีกจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ รวมถึงมีการเพิ่มเบี้ยคนพิการที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเบี้ยผู้พิการเด็ก

มาตรการบรรเทาภาระรายจ่ายของประชาชน เช่น มาตรการลดค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ในช่วงปิดเมือง ยืดระยะเวลาการชำระภาษี เพิ่มค่าลดหย่อนภาษี เช่น เบี้ยประกันสุขภาพ

มาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้กับครัวเรือนและผู้ประกอบการ เช่น มาตรการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า/ประปาให้บ้านพักอาศัย มาตรการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ มาตรการสินเชื่อเพิ่มสำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน มาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของลูกจ้าง ตามมาตรา 33 และมาตรา 39 รวมถึงขยายเวลาส่งเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างออกไปอีก 3 เดือน

Advertisement

มาตรการสร้างความเชื่อมั่น เช่น การขยายเวลาการคุ้มครองเงินฝากที่ระดับ 5 ล้านบาทออกไปอีก 1 ปี การจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ การเพิ่มสภาพคล่องในตลาดทุนผ่านการลดหย่อนภาษีให้กับการซื้อกองทุน SSFX และมาตรการสร้างงานของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มาตรการช่วยเหลือค่าจ้างแรงงาน รวมถึงมาตรการคุ้มครองและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ (เช่น ให้ค่าเสี่ยงภัย และงดภาษีเงินได้ในส่วนนี้การเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์) การกำหนดให้ผู้ป่วยโควิดเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินและรัฐรับภาระการรักษาพยาบาล นอกจากนี้ยังมีมาตรการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้าที่ใช้รักษา/ป้องกันโรค

มาตรการอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการ เช่น มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมจากการปรับโครงสร้างหนี้ มาตรการสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนประกันสังคม เพื่อไม่ให้ธุรกิจปลดลูกจ้าง และให้สถานประกอบการสามารถหักรายจ่ายค่าจ้างได้ 3 เท่า รวมถึงมาตรการสินเชื่อ soft loan และมาตรการคลินิกแก้หนี้ที่ลดดอกเบี้ยเป็นการตอบแทนให้กับผู้ชำระหนี้เกินกว่า 40% เพื่อจูงใจให้ผู้มีกำลังทรัพย์ชำระหนี้และลดยอดหนี้สะสมในระบบ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง และโครงการช้อปดีมีคืน ที่ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของประชาชน ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้เกิดรายได้แก่ผู้ประกอบการ ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศ

การช่วยเหลือและเยียวยาที่ผ่านมานั้นมีมากมาย ระยะเวลาที่ให้การช่วยเหลือเยียวยานั้นนับเป็นเวลากว่าครึ่งปีแล้ว การลดภาษี พร้อมกับการใช้จ่ายเพื่อเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงการลดดอกเบี้ย ทำให้รายได้ของภาครัฐและสถาบันการเงินลดลง ตราบใดที่มาตรการต่างๆ เพียงช่วยพยุงเศรษฐกิจแต่ไม่ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ นั่นหมายถึงทรัพยากรทุนในประเทศถูกใช้แต่ไม่ถูกเติม โดยทั่วไป การให้ความช่วยเหลือเยียวยานั้น จึงควรเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่จำกัด แต่ยาวนานเพียงพอให้ผู้ได้รับผลกระทบมีการปรับตัวกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป และลดแรงกระแทกจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

การช่วยเหลือที่มีระยะเวลายาวเกินไป จะทำให้เกิดปัญหาระยะยาว เช่น ผู้ที่ควรต้องปรับตัวก็ไม่ปรับตัวและคอยพึ่งพาการช่วยเหลือจากผู้อื่น นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ และยิ่งทำให้ทรัพยากรในการพัฒนาประเทศลดลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังทำให้สังคมเกิดพฤติกรรมที่ขาดความรับผิดชอบที่เรียกว่า moral hazard ซึ่งเกิดจากความเชื่อที่ว่า เราสามารถลงทุนในสินทรัพย์หรือโครงการที่มีความเสี่ยงมากขึ้นหรือลงทุนในกิจการที่ไม่มีผลกำไร เพราะการขาดทุนหรือล้มเหลวจากความเสี่ยงนั้นจะถูกชดเชยหรือได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาพฤติกรรมที่จะส่งผลลบในระยะยาวนี้ การให้ความช่วยเหลือควรจะค่อยๆ ปรับลดน้อยลง เพื่อเร่งให้ประชาชนและธุรกิจมีการปรับตัวเข้ากับ New Normal และร่วมกันหันมามองไปข้างหน้า ด้วยการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับความเสียหายและบูรณาการเศรษฐกิจเพื่อให้เราสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับบริบทในอนาคต

ในส่วนที่ว่าจะฟื้นฟูอย่างไรนั้น ควรจะพิจารณาความแตกต่างของแต่ละภาคเศรษฐกิจ และเป้าหมายของประเทศ สำหรับประชาชน ในช่วงที่การจ้างงานลดลง แรงงานมีเวลาเหลือมากขึ้น รัฐอาจสนับสนุนการพัฒนาความรู้และทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานและเหมาะสมกับแนวโน้มสังคมและเศรษฐกิจโลกในอนาคต ทั้งนี้ World Economic Forum ได้ระบุทักษะ 10 ประเภทที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในอีก 5 ปีข้างหน้า ไว้ดังนี้

1.ความสามารถคิดวิเคราะห์ในเชิงลึกและรอบด้านและคิด/สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลที่เพิ่มขึ้น
2.ความสามารถในการเรียนรู้แบบ active learning (เช่น การเรียนรู้จากกิจกรรมหรือการทำงาน การหาข้อมูลเรียนรู้ด้วยตนเอง) และสามารถวางยุทธศาสตร์การเรียนรู้ของตนเอง
3.ความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงซ้อน ไม่ใช่เพียงแต่ในเชิงตัวเลข แต่รวมถึงปัญหาที่มีความทับซ้อนในหลายมิติ เช่น ปัญหาโควิด-19 ที่มีทั้งมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี
4.ความสามารถที่จะคิดแบบวิพากษ์ ตั้งประเด็นสงสัย (critical thinking) และวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบ (critical analysis) เช่น สามารถมองเห็นปัญหาในสิ่งรอบตัวและวิเคราะห์ถึงเหตุ ผล และทางแก้ สามารถมองเห็นความไม่ถูกต้องของข้อมูลที่ได้มาและตรวจสอบหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อวิเคราะห์ในประเด็นสงสัย
5.ความสามารถในการสร้างสรรค์ริเริ่มสิ่งใหม่ แนวคิดใหม่โครงการใหม่
6.ความสามารถในการเป็นผู้นำและมีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำภายในสังคม/องค์กร
7.ความสามารถในการใช้ ติดตาม และควบคุมเทคโนโลยี
8.ความสามารถในการออกแบบเทคโนโลยีและเขียนโปรแกรม
9.ความสามารถในการป้องกันตัวเองจากภัย สามารถลุกขึ้นจากความล้มเหลวและจัดการกับอุปสรรคเพื่อก้าวต่อไปหรือที่เรียกว่า Resilience นอกจากนี้ต้องมีความสามารถจัดการความเครียด ยืดหยุ่นเสมือนไผ่ที่ลู่ลม และปรับตัวได้เหมือนน้ำที่สามารถเปลี่ยนสภาพได้ตามสภาวะแวดล้อม
10.ความสามารถคิดแบบมีเหตุมีผล แก้ปัญหาได้ และเกิดเป็นความคิดใหม่

ทักษะเหล่านี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มหลัก คือ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะบริหารจัดการตนเอง ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น และทักษะการใช้และพัฒนาเทคโนโลยี แม้ว่าในประเทศไทย เราจะมุ่งพัฒนาการเรียนรู้การใช้และทำงานร่วมกับเทคโนโลยี แต่ยังละเลยการพัฒนาทักษะที่เหลืออีก 3 กลุ่ม

ในปัจจุบัน กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง และการมีนโยบายทำงานที่บ้านมากขึ้น ทำให้ปัญหาฝุ่นจิ๋วในเมืองใหญ่ลดลง แต่ฝุ่นจิ๋วไม่ได้ถูกกำจัดหรือหายไปอย่างถาวร และทำให้การใช้น้ำในภาคการผลิตลดลง แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง รัฐอาจถือโอกาสนี้ เพิ่มการจ้างงานที่จำเป็นในโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ สนับสนุนให้ใช้นโยบายทำงานที่บ้านหรือสลับวันทำงานของพนักงาน พร้อมกับการปรับพฤติกรรมของประชาชนและธุรกิจ เช่น

การใช้มาตรการจูงใจให้มีการใช้น้ำและไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ แทนการให้เงินอุดหนุนหรือลดค่าไฟ ค่าน้ำ แก่ครัวเรือน รัฐอาจหันมางดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับหลอดประหยัดไฟ และลดค่าน้ำเป็น 2 เท่าของจำนวนหน่วยที่ครัวเรือนใช้น้ำลดลงในแต่ละเดือน เช่น ใช้น้ำลดลงร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ค่าน้ำก็จะลดลงร้อยละ 2

การลงทุนปรับปรุงระบบการขนส่งและคมนาคมให้มีความสะดวกและมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง เพื่อให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนยานพาหนะส่วนตัว แทนการให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายต่อเดือน วิธีนี้นอกจากจะลดการพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ยังทำให้ประชาชนมีการปรับพฤติกรรมและช่วยลดปัญหาฝุ่นจิ๋วและมลพิษในเมืองใหญ่ อีกทั้งยังสร้างระบบคมนาคมที่ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้สะดวกมากขึ้น เกิดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

การปรับนโยบายภาษีระยะปานกลางถึงยาว เพื่อตอบโจทย์โครงสร้างและภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปจากก่อนการมีโรคโควิด โดยเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงต่อไปมากกว่าการเยียวยาระยะสั้น ตลอดจนทบทวนความเหมาะสมของนโยบายภาษีที่เดิมกำหนดไว้ก่อนมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด เช่น การลดหย่อนภาษีให้กับธุรกิจที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมหรือให้นำค่าใช้จ่ายที่ธุรกิจใช้ในการเปลี่ยนระบบการผลิตให้มีการใช้พลังงานสะอาดมาหักลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น นโยบายเช่นนี้นอกจากจะช่วยลดภาระภาษีให้กับธุรกิจแล้ว ยังส่งเสริมให้มีการผลิตที่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ และอาจสร้างรายได้กลับมาให้รัฐส่วนหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ อาจนำมาตรการผ่อนภาระภาษีของผู้ประกอบการมาใช้เพิ่มเติม โดย OECD เสนอให้จัดเก็บภาษีแบบผ่อนจ่ายข้ามปี เพื่อให้ธุรกิจมีเงินทุนสำรองเพียงพอแก่การดำเนินธุรกิจในช่วงเศรษฐกิจหดตัว โดยระยะเวลาผ่อนจ่ายขึ้นอยู่กับการคาดการณ์ระยะเวลาฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

กิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ มีความเชื่อมโยงกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน กล่าวคือ การใช้จ่ายและลงทุนของประชาชน มีผลต่อรายได้และเงินทุนของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม เกษตร บริการ หรือการเงิน และรายได้ของธุรกิจและประชาชนทั่วไปก็คือฐานภาษีของภาครัฐ ดังนั้นระบบเศรษฐกิจของไทยจะอยู่รอดหรือไม่ จึงไม่ใช่ภาระของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกภาคส่วนต้องช่วยเหลือกัน และการปรับตัวให้สามารถอยู่รอดต่อไปได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ดังที่ Charles Darwin กล่าวไว้ว่า ไม่ใช่สายพันธุ์ที่แข็งแรงที่สุด หรือฉลาดที่สุดที่อยู่รอดมาได้ แต่เป็นสายพันธุ์ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image