ไทยกับนโยบายของ โจ ไบเดน

ไทยกับนโยบายของ โจ ไบเดน : โดย พิชัย นริพทะพันธุ์

ไทยกับนโยบายของ โจ ไบเดน : โดย พิชัย นริพทะพันธุ์

เรียกได้ว่าต้องลุ้นกันแบบใจหายใจคว่ำกันอยู่หลายวัน โดยเฉพาะการนับคะแนนในมลรัฐ เพนซิลเวเนีย จอร์เจีย เนวาดา และแอริโซนา กว่าจะได้ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐครั้งนี้ ที่ในสุดท้ายก็เป็นตามที่ผมได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าตามบทความของผมในสัปดาห์ที่แล้ว นายโจ ไบเดน เป็นผู้ชนะและจะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐ แม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะพยายามกล่าวหาและแถลงข่าวว่าเป็นการโกงการเลือกตั้ง ถึงขนาดสถานีโทรทัศน์ช่องหลักของสหรัฐต้องตัดสัญญาณการถ่ายทอดกลางคัน เพราะไม่ต้องการถ่ายทอดข้อมูลที่ไม่จริง ซึ่งก็ต้องดูต่อว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะพยายมาฟ้องศาลสูงของสหรัฐในเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร

คนจำนวนมากสงสัยกันว่า ทำไมในระยะแรกของการนับคะแนนใน 4 มลรัฐที่ต้องลุ้นตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้น หรือที่เรียกกันว่าสวิงสเตท ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงมีคะแนนนำมากในระยะแรกจนดูเหมือนจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่พอนับคะแนนจากบัตรลงคะแนนของการเลือกตั้งล่วงหน้าไปเรื่อยๆ คะแนนของนายโจ ไบเดน จึงตีตื้นขึ้นมา จนในที่สุดได้แซงหน้า และชนะไปในที่สุดทั้ง 4 มลรัฐ ซึ่งทำให้นายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ ทั้งนี้เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้มีการเลือกตั้งล่วงหน้ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์โดยมีถึงกว่า 100 ล้านคนทีเดียว และส่วนใหญ่จะเป็นการโหวตลงคะแนนให้กับนายโจ ไบเดน ของพรรคเดโมแครต ทั้งนี้เพราะนายโจ ไบเดน และพรรคเดโมแครต ได้ส่งเสริมให้คนอเมริกันไปลงคะแนนเสียงล่วงหน้า หลีกเลี่ยงการชุมนุมกันในหน่วยเลือกตั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีการระบาดอย่างรุนแรงในสหรัฐ ในขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกัน ส่งเสริมให้คนอเมริกันไปลงคะแนนเสียงที่หน่วยเลือกตั้ง ผลจึงได้ออกมาเช่นนั้น

การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ถึงกับแถลงข่าวกล่าวหาว่ามีการโกงแต่กลับไม่มีหลักฐานชัดเจน ทำให้ภาพลักษณ์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดูไม่ดีนักในสายตาของสื่อหลักของสหรัฐ ที่ตามธรรมเนียมปกติผู้แพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีจะออกมายอมรับความพ่ายแพ้และโทรไปแสดงความยินดีกับผู้ชนะอย่างมีเกียรติในทุกครั้งที่ผลของการเลือกตั้งสิ้นสุด ทำให้มีการแซวกันเล่นขำๆ กันในโซเชียลของไทยว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ น่าจะมาขอเสียง 250 ส.ว.ของไทยที่แต่งตั้งเอง ให้ช่วยโหวตให้ เพื่อที่จะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ เหมือนการเลือกตั้งในประเทศไทยที่แม้พรรครัฐบาลจะแพ้การเลือกตั้งแต่ก็อาศัยเสียง 250 ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งเองโหวตให้ จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับมาเป็นนายกฯ เพื่อสืบทอดอำนาจต่อได้ ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นจะต้องรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ผลของการเลือกตั้งของประเทศไทยได้สะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

Advertisement

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าหากไม่มีวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 โอกาสที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีสูงมาก เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐดีมาตลอดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จนมาเจอปัญหาไวรัสโควิด-19 นี้ ที่มีคนอเมริกันเจ็บและตายกันเป็นจำนวนมาก ขนาดมีวิกฤตการณ์ไวรัส คะแนนยังสูสีกันมาในมลรัฐสวิงสเตท เพราะคนอเมริกันมักจะตัดสินการเลือกตั้งจากภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งน่าสนใจว่าหากประเทศไทยมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาตลอดเช่นนี้ ผลการเลือกตั้งใหม่จะออกมาเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจเหมือนในปัจจุบัน

เมื่อพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ ก็อยากให้รัฐบาลได้เตรียมพร้อมรับมือกับนโยบายของสหรัฐที่จะเปลี่ยนแปลงภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่ที่จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมปีหน้านี้ ซึ่งนายโจ ไบเดน คงต้องทำตามที่ได้หาเสียงไว้ ต่างกับพรรคพลังประชารัฐที่ได้เป็นรัฐบาลแต่ยังไม่ทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้เลย

ทั้งนี้เชื่อว่านโยบายการกีดกันการค้าของสหรัฐกับทั้งโลกคงน่าที่จะเบาลง แต่นโยบายสงครามการค้ากับประเทศจีนน่าจะคงมีอยู่ ทั้งนี้เพราะสหรัฐเองคงต้องการจะชะลอการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนไม่ให้พัฒนาแซงหน้าสหรัฐเร็วนัก แม้จะห้ามไม่ได้แต่ก็คงจะพยายามจะชะลอให้นานที่สุด

Advertisement

เรื่องแรกที่ไทยต้องคิดล่วงหน้าและอาจจะต้องหันกลับมาพิจารณาอย่างเร่งด่วนคือ การเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เพราะมีโอกาสสูงที่สหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะหันกลับมาร่วมกับ CPTPP หรือในอดีตที่เรียกกันว่า TPP ที่สหรัฐเป็นตัวตั้งตัวตีแต่แรกในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา แต่มาหยุดชะงักลงในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดังนั้น เมื่อพรรคเดโมแครตได้กลับมาเป็นรัฐบาลใหม่ ก็มีโอกาสสูงที่จะรื้อฟื้นเรื่องนี้ โดยประเทศไทยจะต้องพิจารณาให้ดีถึงผลดีและผลเสียของการจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม

จริงอยู่จากข้อมูลที่ได้ศึกษาพบว่า การที่ประเทศไทยจะเข้าร่วม CPTPP ประเทศไทยอาจจะเสียเปรียบและมีปัญหาด้านเกษตรกรรมและสิทธิบัตรยา ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะต่อรองได้ขนาดไหน แต่ถ้าไทยไม่เข้าร่วมเลย เราอาจจะตกขบวนทั้งการค้าและการลงทุนที่จะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ อีกทั้งจะเหมารวมไปถึงห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ของประเทศในหมู่สมาชิกในอนาคตด้วย ซึ่งไทยต้องคำนวณผลได้ผลเสียให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจ และชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบถึงผลดีผลเสียเป็นข้อๆ ยิ่งเศรษฐกิจไทยกำลังย่ำแย่ และต้องการโอกาสที่จะฟื้นฟู ยิ่งต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้ดี ทั้งนี้หากจะตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP ก็ต้องคำนึงด้วยว่าจะช่วยเหลือ หรือเยียวยากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างไร โดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกรรายได้น้อยที่จะได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ในอดีตมีการคำนวณกันว่าหากประเทศไทยไม่เข้าร่วม CPTPP ในกรณีที่สหรัฐเข้าร่วม จะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยถึง 5% ของจีดีพีเลย ซึ่งไม่แน่ใจว่าความเสียหายจะมากถึงขนาดนั้นจริงหรือไม่ แต่จะนับเฉพาะการส่งออกไปสหรัฐอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องคำนึงถึงระบบซัพพลายเชนระหว่างประเทศสมาชิกทั้งหมดตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว ทั้งนี้ยังต้องคำนึงถึงโอกาสของประเทศไทยในอนาคตด้วย จึงอยากให้พิจารณาให้รอบคอบทุกด้าน

นโยบายต่อมาที่นายโจ ไบเดน ได้ประกาศไว้ชัดเจนคือ การกลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีสอีกครั้ง ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ถอนตัวไป ทั้งนี้ ความตกลงปารีสเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสหรัฐคงให้ความสนใจกับปัญหาโลกร้อนมากขึ้น การใช้พลังงานจากฟอสซิล โดยเฉพาะจากถ่านหินก็จะลดลง โดยนายโจ ไบเดน จะยกเลิกการสนับสนุนด้านภาษีกับบริษัท Oil & Gas รวมถึงถ่านหินด้วย และประเทศต่างๆ ก็จะถูกตรวจสอบการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนขึ้นสู่บรรยากาศ ซึ่งประเทศไทยก็จะต้องระวังและเตรียมพร้อมในเรื่องนี้ด้วย

นโยบายของนายโจ ไบเดน ที่น่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในสหรัฐอย่างมากน่าจะเป็นการขึ้นการเก็บภาษีสำหรับคนรวย โดยขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก 21% เป็น 28% และการขึ้นภาษีบุคคลธรรมดาในอัตราสูงสุดจาก 37% เป็น 39.6% อีกทั้งจะมีการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำจาก 7.25 ดอลลาร์เป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อธุรกิจสหรัฐให้มีการย้ายฐานการผลิต ซึ่งประเทศไทยอาจจะมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์หากประเทศไทยกลับมาเป็นที่ยอมรับของสหรัฐและประชาคมโลกอีกครั้ง

นโยบายกีดกันทางการค้าที่น่าจะลดลงภายใต้การนำของนายโจ ไบเดน อีกทั้งแผนการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมหาศาลถึง 2 ล้านล้านเหรียญ จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐอ่อนค่าลงได้ และจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก ขนาดยังไม่ทันประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐก็อ่อนค่าแล้ว อีกทั้งยังมีนักวิเคราะห์เศรษฐกิจคาดหมายกันว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอาจจะอ่อนค่าลงไปถึง 35% เลยในปีหน้า จากสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐที่ย่ำแย่ ดังนั้น รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องดูแลค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง ทั้งนี้ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยติดลบหนัก และการส่งออกของไทยก็ติดลบอย่างมาก ถ้าค่าเงินบาทยังแข็งค่าจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยทรุดลงไปอีก และจะมีผลอย่างมากต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย

นี่เป็นเพียงบางนโยบายเท่านั้นที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทย ซึ่งเมื่อนายโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐ และเริ่มบริหารจริง คงจะได้วิเคราะห์ผลกระทบของแต่ละนโยบายอย่างละเอียดกันอีกครั้ง แต่นโยบายที่น่าจะส่งผลต่อประเทศไทยมากที่สุด คือนโยบายของพรรคเดโมแครตที่จะเน้นเรื่องการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มงวด

ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์น่าจะมีปัญหาในเรื่องนี้อย่างมาก จากรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มี ส.ว. 250 คนที่แต่งตั้งเองเพื่อโหวตตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี และการสลายการชุมนุมของประชาชนที่ประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษาเป็นส่วนมากอย่างผิดหลักสากล แม้กระทั่งล่าสุดการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมในบริเวณสนามหลวง

ทั้งนี้ นายโจ ไบเดน เป็นนักการเมืองสหรัฐที่คร่ำหวอดอยู่ในแคปปิตอลฮิลล์มาเป็นเวลานาน โดยเป็นวุฒิสมาชิกของมลรัฐเดลาแวร์อยู่นานถึง 36 ปีติดต่อกัน ก่อนมาเป็นรองประธานาธิบดีให้กับประธานาธิบดีบารัค โอบามา อีก 8 ปี ซึ่งต่างกันอย่างมากกับ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มาจากนักธุรกิจและเป็นเหมือนคนนอกของแคปปิตอลฮิลล์ในตอนที่เข้ารับตำแหน่ง ดังนั้น ความเกรงใจและความระมัดระวังต่อสื่อมวลชนหลักของสหรัฐจะต่างกันอย่างมาก โดยนายโจ ไบเดน น่าจะต้องฟังความเห็นของสื่อหลักมากกว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มักทำตัวเป็นศัตรูกับสื่อมาโดยตลอด ซึ่งได้ส่งผลลบอย่างมากต่อความนิยมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เอง และน่าจะมีส่วนอย่างมากที่ทำให้เขาแพ้การเลือกตั้งในครั้งนี้

โดยที่สื่อหลักทรงอิทธิพลอย่าง เดอะ วอชิงตัน โพสต์ ได้วิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อย่างหนักมาโดยตลอด ถึงขนาดหลังจากประเทศไทยมีการเลือกตั้งแล้ว ก็ยังเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอย่าได้มีความสัมพันธ์แบบปกติกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเป็นรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากระบอบเผด็จการ และแม้กระทั่งไม่นานมานี้ เดอะ วอชิงตัน โพสต์ ยังได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของตำรวจไทยที่รู้สึกผิดที่เข้าไปสลายการชุมนุมอย่างผิดหลักการสากล และผิดจริยธรรมในใจของตำรวจเอง ทั้งยังยืนยันว่าตำรวจส่วนมากคิดแบบนั้น และตำรวจส่วนใหญ่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุม ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ซึ่งเชื่อว่าเมื่อนายโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่ง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อาจจะเจอกับความกดดันมากขึ้น นอกจากการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรถึง 2 ครั้งในปีนี้แล้ว

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์นอกจากจะถูกการประท้วงขับไล่ของประชาชนจำนวนมากแล้ว คนส่วนใหญ่ในประเทศก็เห็นด้วยกับผู้ชุมนุม อีกทั้งเศรษฐกิจไทยก็กำลังจะย่ำแย่ลงไปอีกเรื่อยๆ ผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและนักเรียน มองไม่เห็นอนาคตของตัวเองเลย โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะแก้ไขพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ ประชาชนจะลำบากกันอย่างมาก และ พล.อ.ประยุทธ์ยังจะต้องเจอกับแรงต่อต้านจากประเทศมหาอำนาจ ซึ่งน่าจะมีมาตรการกดดันมายังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เพิ่มเติมอีกแน่ ซึ่งจะส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อเศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้แย่ลงไปอีก ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ยังดื้อรั้นที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อนานเท่าไหร่ เศรษฐกิจไทยก็จะยิ่งแย่ลงไปอีกเรื่อยๆ

ประเทศไทยจะต้องทนแบกรับ พล.อ.ประยุทธ์ไปได้อีกนานเท่าไหร่

พิชัย นริพทะพันธุ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image