หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร ตอน บรรพชาและอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

ความสุขสบายทุกประการได้เกิดขึ้นแก่ ด.ช.วิริยังค์ แล้ว การลำบากยากเข็ญ มรสุมแห่งความสุข ผจญภัยทุกอย่างได้ผ่านพ้นไปด้วยชัยชนะที่งดงามที่สุด ด.ช.วิริยังค์ได้แต่บำเพ็ญกัมมัฏฐานภาวนาทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างเข้มงวดกวดขันเองเต็มที่ หมดภาระกังวลทุกอย่างที่คั่งค้างหัวใจ จิตใจได้บรรลุเป็นอย่างดี มีความเป็นสมาธิได้รับความสงบร่มเย็นเป็นวิหารธรรม

ขณะนี้เป็นเวลากาลเข้าพรรษายังไม่มีโอกาสที่จะบรรพชาเป็นสามเณร เพราะการบรรพชานั้นจะต้องเข้าจังหวัดจึงจะมีพระอุปัชฌาย์ ท่านพระอาจารย์กงมาฯ จึงให้บวชเป็นชีปะขาว นุ่งขาวห่มขาวรักษาศีล 8 วิริยังค์จึงเป็นชีปะขาวในพรรษานั้น ออกพรรษาแล้ว วิริยังค์จึงได้เข้าไปในจังหวัดนครราชสีมา ทำการบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดสุทธจินดา มีท่านเจ้าคุณพระธรรมธิติญาณ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2478 อายุ 16 ปีวิริยังค์ได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวถึงอายุ 14 ปี วิริยังค์เริ่มรับรสพระธรรมเมื่ออายุ 13 ปี อยู่ด้วยความพยายามที่จะบวชถึงอายุ 14 ปี บวชชีปะขาว อายุ 15 ปี บรรพชาเป็นสามเณร อายุ 16 ปี

•หลังจากบรรพชาแล้ว สามเณรวิริยังค์พักอยู่ที่วัดสาลวัน อันเป็นศูนย์กลางเผยแผ่การปฏิบัติธรรม ซึ่งมีท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นหัวหน้าใหญ่ ต่อมาประมาณ 7 วัน สามเณรวิริยังค์เข้าไปนมัสการพระอุปัชฌาย์เพื่อขอหนังสือสุทธิอันเป็นหนังสือประจำตัวพระภิกษุสามเณร ขณะที่สามเณรวิริยังค์เข้าไปนมัสการพระอุปัชฌาย์นั้น มีพระภิกษุสามเณรไปรอเพื่อขอหนังสือสุทธิประมาณ 10 รูป สามเณรวิริยังค์เป็นสามเณรที่เล็กกว่าทุกองค์ เมื่อทุกรูปกราบพร้อมกับแสดงความจำนงจะขอหนังสือสุทธิ พระอุปัชฌาย์จึงได้ตั้งคำถามขึ้นว่า “นี่พวกเธอจะบวชตลอดชีวิตหรือจะสึก” พระภิกษุสามเณรเมื่อถูกถามไปทีละองค์ ต่างก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “แล้วแต่บุญ” อย่างนี้ทุกรูป เมื่อท่านถามถึงสามเณรวิริยังค์ สามเณรวิริยังค์ได้ตอบว่า “กระผมนี้บวชมิใช่บวชเพื่อจะสึก กระผมบวชเพื่ออยู่ครับ” พระอุปัชฌาย์ได้ฟังสามเณรวิริยังค์ตอบขอบใจ แล้วพูดว่าสามเณรรูปนี้แปลกกว่าเพื่อน องอาจกล้าหาญ ตอบฉะฉาน บอกว่าที่บวชนี้ไม่ใช่บวชเพื่อสึก บวชเพื่ออยู่ นับว่ามีความตั้งใจมั่นคงจึงตอบได้อย่างนี้ เมื่อทุกรูปได้รับหนังสือสุทธิจึงพากันกลับ สามเณรวิริยังค์กลับมาที่วัดป่าสว่างอารมณ์ แล้วตั้งใจบำเพ็ญสมาธิภาวนาอย่างเข้มงวดกวดขันแก่ตัวเองเป็นอย่างยิ่งแต่สามเณรวิริยังค์เป็นคนกลัวผีมาก เพราะประสาทอาจจะอ่อน ความกลัวผียังปรากฏอยู่ตลอดเวลาที่อยู่เงียบสงัดตอนกลางคืนและคืนวันหนึ่งท่านพระอาจารย์กงมาฯ ได้ตักเตือนสามเณรในวัดทุกรูปว่า…จงพากันปรารภความเพียรอย่าประมาท เพื่อพวกเราเกิดมาแล้วต้องตาย ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง เราทำความเพียรได้มากเท่าไร นั่นคือ กำไรชีวิตที่มีอยู่ เราตายไปอะไรก็เอาไปไม่ได้ ถ้าเกิดมาอีกไม่ได้พบคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ถึงเราจะมีศรัทธาก็ไม่มีโอกาสจะทำสมาธิได้ การทำสมาธิต้องการความวิเวก ยิ่งวิเวกเท่าไรยิ่งทำให้จิตได้ผล ยิ่งเป็นสถานที่น่ากลัวเท่าไรยิ่งเป็นสมาธิง่ายมาก

Advertisement

หลังจากนั้นท่านพระอาจารย์กงมาฯ ให้โอวาทแล้ว พระเณรต่างรูปต่างกลับไปในกุฏิของตนเอง

ส่วนสามเณรวิริยังค์มาคิดว่า เราจะต้องหาวิธีทำสมาธิให้ได้ผลยิ่งขึ้น ท่านพระอาจารย์บอกว่ายิ่งเป็นสถานที่น่ากลัวยิ่งดี สามเณรวิริยังค์คิดในใจว่า “เรากลัวผีมาก” หากเราจะเดินเข้าป่าช้าคนเดียว เราอาจจะได้ทั้งวิเวกและน่ากลัว เห็นเป็นผลของ “สมาธิ” มาก เราจะต้องลองเดินคนเดียวในเวลากลางคืน คือ “คืนนี้” เข้าไปในป่าช้าที่เขาฝังศพ พอนึกขึ้นสามเณรวิริยังค์ขนลุกเกรียวทั้งตัว ไม่กล้าจะย่างก้าว แต่ในใจก็คิดถึงว่าเราต้องการ “สมาธิ” ความคิดทั้งสองอย่างต่อสู้กันอย่างหนัก ในที่สุดสามเณรวิริยังค์ก็ตัดสินใจเอา “สมาธิ” สามเณรวิริยังค์เดินไปคนเดียว “เอ สามเณรวิริยังค์นี้แปลก กลัวผีน่าดูแต่ทำไมวันนี้จึงกล้าไปคนเดียว” สามเณรวิริยังค์ได้เดินอย่างองอาจ ทั้งกลัวทั้งอยากได้สมาธิ กัดฟันเดินคนเดียวเดินไปและเดินไปจนถึงป่าช้าเงียบสงัด ที่ทางเดินจงกรมอยู่ที่นั่น สามเณรวิริยังค์ก็รีบเข้าทางเดินจงกรมทันทีที่ไปถึง ขณะนั้นมีสิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้น ปรากฏว่าเห็นผีตัวสูงเท่ายอดไม้มายืนอยู่ข้างทางเดินจงกรม สามเณรวิริยังค์ตกใจมาก คิดจะวิ่งหนีกลับวัด พวกสามเณรมันคงหัวเราะ เราต้องอวดพวกสามเณรนั้น แล้วท่านพระอาจารย์ก็จะตำหนิ “ว่าเราขี้ขลาดตาขาว” สามเณรวิริยังค์ไม่ทราบจะตัดสินใจอย่างไร สามเณรวิริยังค์จึงกัดฟันเดินจงกรมต่อ สามเณรวิริยังค์มองไปที่ผีตัวนั้นมันสูงขึ้นๆ สามเณรวิริยังค์กลัวมาก จนตัวมึนหมด แต่ก็ฝืนเดินจงกรมต่อ แต่ผีนั้นก็แสดงตัวของมันสูงใหญ่น่ากลัวยิ่งขึ้นทุกที สามเณรวิริยังค์ไม่ทราบจะทำอย่างไร ทันใดนั้นสามเณรวิริยังค์เลยตัดสินใจเดินตรงไปที่ผีมันยืนอยู่ นึกว่าไม่มันก็เราต้องสู้กันให้รู้ดำรู้แดงละวะ ที่ไหนได้ผีกลับเป็น “หัวตอไฟไหม้” สามเณรดีใจและเสียใจพูดกับตัวเองว่า “เรามันตาฝาด กลัวหัวหด เรามันโง่ๆๆ” แล้วสามเณรวิริยังค์ก็เดินจงกรมต่อไป ตั้งแต่นั้นมาก็หายกลัวผี เดินจงกรมทำสมาธิที่ป่าช้าคนเดียวได้อย่างสบาย

•ตอนต่อสู้ ในช่วงบวชเป็นพระภิกษุทราบข่าวท่านพระอาจารย์มั่น กลับจากเชียงใหม่ พ.ศ.2484 ในปีนี้ท่านพระอาจารย์กงมาฯ ท่านได้ทราบข่าวว่าท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ได้กลับจากเชียงใหม่ หลังจากได้อยู่เป็นเวลานานถึง 12 ปี เพราะท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ไปนิมนต์ให้มาโปรดญาติโยมทางจังหวัดอุดรธานี และท่านได้อยู่จังหวัดนี้ 3 ปี แล้วจึงไปจังหวัดสกลนคร ได้ไปพักที่ป่าแห่งหนึ่งใกล้กับบ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จ.สกลนคร อันเป็นบ้านเกิดของพระอาจารย์กงมาฯ ก็มิได้รอช้า ได้คิดจึงจัดอารามที่ท่านได้สร้างด้วยทุนทรัพย์มหาศาล และญาติโยมที่ได้ปฏิบัติธรรมอยู่กับท่านทุกๆ อย่างล้วนแต่เป็นสิ่งน่าจะต้องผูกพัน เช่น วัตถุก่อสร้างที่น่ารื่นรมย์

เมื่อท่านถึงเวลาที่จะไปนมัสการท่านพระอาจารย์มั่นฯ แล้วท่านก็จะต้องไป ท่านพระอาจารย์กงมาก็ให้พระไปบอกว่าให้รีบมา และจะได้เดินทางไปหาพระอาจารย์มั่นฯ ด้วยกัน ข้าพเจ้ามิได้สะทกสะท้านเพราะเรามีสมบัติอยู่เพียงแต่บาตรใบเดียว และมีจีวรครองอยู่ผืนเดียวเท่านั้น เมื่อมาถึง “วัดทรายงาม” ไม่นานเท่าไร ท่านพระอาจารย์กงมาได้จัดเตรียมการอุปสมบทให้ข้าพเจ้าอย่างง่ายๆ ณ วัดทรายงาม (อุทกสีมากลางทะเล) บ้านหนองบัว อำเภอเมือง จ.จันทบุรี โดยพระปัญญาพิศาลเถระ (หนู) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร เป็นพระอุปัชฌาย์ “ท่านพระอาจารย์กงมาฯ จิรปุญโญ” เป็นพระกรรมวาจาจารย์ “พระมหาทองสุขสุจิตโต” เป็นอนุสาวนาจารย์ หลังการอุปสมบทแล้ว ก็จึงได้เริ่มออกเดินทางเดือนเมษายน พ.ศ.2484 มันเป็นระยะเวลาพอดีเอาเสียจริง เพราะปีที่มาอยู่จังหวัดจันทบุรี วัดทรายงามเป็นวัดแรกก็เดือนเมษายน เวลาจะจากไปก็เดือนเมษายน ท่านพระอาจารย์กงมาฯ ไปบอกลาชาวบ้านหนองบัวในครั้งนั้นทำให้ญาติโยมอุบาสกอุบาสิกาพากันเศร้าโศกเสียใจเป็นการใหญ่ พากันเสียดาย ท่านพระอาจารย์กงมาฯได้เริ่มเดินทางเท้า ธุดงค์ออกจากวัดทรายงาม วันที่ 18 เมษายน 2484 เวลา 10.20 น. ไปสู่อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ท่านพระอาจารย์กงมาได้พูดกับข้าพเจ้าว่า ตัวเราเปล่าๆ หมดภาระสบายจริงๆ เพราะลาออกจากเจ้าอาวาสวัดฯ การเดินธุดงค์ในกาลครั้งนี้ ท่านพระอาจารย์กงมาฯ กับพระวิริยังค์เป็นไปด้วยการมีความหมายอย่างยิ่ง เพราะเป็นการปลดภาระการก่อสร้างวัด และการผูกพันในการสั่งสอนประชาชน พันธะการถือเขาถือเราในการยึดกุลปริโพธ

ท่านพระอาจารย์กงมาฯ ใช้ชีวิตการเดินธุดงค์ครั้งนี้มหาวิบาก ท่านต้องการทรมานตัวของท่านและตัวของพระวิริยังค์ไปด้วย เพราะการเดินธุดงค์ครั้งนี้ จุดมุ่งหมายมี 2 ประการ คือ 1) ต้องการทรมานกิเลสเมื่อพบที่สงบดีก็จะพักภาวนาอยู่หลายวันเพื่อเพิ่มพูนพลังจิต 2) เพื่อไปพบท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ อันเป็นจุดประสงค์แท้จริง

ท่านพระอาจารย์กงมาฯ จิรปุญโญ ผู้ซึ่งได้นำพระวิริยังค์ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพระภิกษุหนุ่ม อายุได้ 22 ปี อุปสมบทได้หนึ่งพรรษา เดินธุดงค์ครั้งสำคัญตามหาท่านพระอาจารย์มั่น ผู้เป็นปรมาจารย์ของคณะกัมมัฏฐาน การเดินธุดงค์ด้วยเท้าจากจังหวัดจันทบุรีจนถึงนครราชสีมานั้นนับว่าไม่ใช่ใกล้ แต่ระหว่างทางที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า สมัยนั้นเป็นป่าใหญ่ และเป็นสถานที่วิเวกของผู้สนใจใจธรรมได้เป็นอย่างดี

ท่านพระอาจารย์กงมาบอกกับพระวิริยังค์ว่า เราควรรีบเดินหาต่อไปดีกว่าเพื่อพบพระอาจารย์มั่น ตามความตั้งใจของพวกเรา จึงได้ตัดสินใจนั่งรถไฟไปจังหวัดอุดรธานี เป็นการย่นระยะทาง เพราะใช้เวลาเดินกินเวลาเป็นเดือน เวลาที่น้อยจึงได้ขึ้นรถไฟฟ้าวิ่งไปอุดร ได้พากันไปพักที่วัดป่าบ้านจักเมื่อพักอุดรอยู่ประมาน 1 อาทิตย์ ก็เดินหาต่อไปจังหวัดสกลนคร เป้าหมายปลายทางและเป็นจุดประสงค์อย่างยิ่งไปเดินธุดงค์อันแสนจะธุรกันดาร พระวิริยังค์รู้สึกมีจิตใจเบิกบานกว่าการเดินทางไปที่ไหนๆ ทั้งหมด เพราะวันนี้มาถึงจังหวัดสกลนคร ทั้งทราบว่าท่านพระอาจารย์มั่นได้มาพักอยู่จังหวัดนี้ แต่ท่านพระอาจารย์กงมาฯ ยังไม่พาพระวิริยังค์ไปพบพระอาจารย์มั่น เพียงแต่พักเอาแรงกันที่ “วัดสุทธาวาส” ในตัวจังหวัดเสียหลายวัน ทำให้พระวิริยังค์ทุรนทุรายมิใช่น้อยที่มาใกล้แล้วไม่ขึ้นไป ท่านได้เล่าถึงความเป็นไปต่างๆ ของท่านพระอาจารย์มั่นฯ ซึ่งท่านพระอาจารย์กงมาฯ ของข้าพเจ้าได้ว่าไว้ดังนี้ คือ 1) ท่านพระอาจารย์มั่นฯ รู้จักใจคน จะนึกคิดอะไรทราบหมด 2) ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ท่านดุยิ่งกว่าใครทั้งนั้น 3) ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ท่านเทศนาในธรรมปฏิบัติยอดกว่าใครๆ ทั้งสิ้น 4) ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ท่านปฏิบัติตัวของท่านเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์อย่างเยี่ยมยอด 5) ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ท่านจะต้องไล่พระที่อยู่กับท่าน ถ้าหากทำผิด แม้แต่ความผิดนั้นไม่มากแต่เป็นเหตุให้เสื่อมเสีย นี่เป็นความทรงจำของพระวิริยังค์ที่จะต้องท่องจำไว้ในใจไม่ให้ลืม ทั้งกลัวทั้งต้องการที่จะพบ ทั้งๆ ที่ยังไปไม่ถึงเป็นการเตรียมตัวเตรียมใจยิ่งกว่าครั้งใดๆ พระวิริยังค์ ดูเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ

•พระวิริยังค์พบพระอาจารย์มั่นฯ แล้ว : ถึงแล้ว!!! การรอคอยของพระวิริยังค์ ได้บรรลุจุดที่หมายอย่างสมบูรณ์ในเมื่อเข้าถึงที่พัก พระวิริยังค์ตกตะลึงนิดหน่อย เมื่อเห็นท่านพระอาจารย์มั่นฯ เป็นครั้งแรกของชีวิต ซึ่งท่านได้นั่งอยู่ที่ศาลาหลังเล็ก ชี้มือมายังท่านพระอาจารย์กงมาฯ พระวิริยังค์ สั่งให้พระภิกษุรูปหนึ่งและสามเณรให้รีบมารับบริขารที่ท่านพระอาจารย์กงมาฯและพระวิริยังค์ คำสั่งตะพายบาตรแบกกลด ประโยคแรกและน้ำเสียงครั้งแรกเป็นคำพูดของท่านพระอาจารย์มั่นฯ ที่เข้าสู่โสตประสาทของข้าพเจ้า ยังจำได้แม่น เพราะเป็นคำที่ซาบซึ้งอะไรเช่นนั้น “เออ เจ้าลูกศิษย์อาจารย์เหนื่อยแท้ บ่” หมายความว่า “เหนื่อยมากนักหรือ” ท่านพระอาจารย์กงมาฯ ได้ตอบว่า “ไม่เหนื่อยเท่าไหร่ พอทนได้” ท่านพระอาจารย์มั่น ได้ให้พวกเราไปสรงน้ำไปพรางคิดไปพลางว่า ข้อวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรที่อยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นนี่ช่างเรียบร้อย แลรู้ทุกๆ อย่างยิ่งกว่าผู้ที่ดูแค่ลานวัด ลานวัดถูกกวาดเตียนเรียบไม่มีใบไม้รกรุงรัง โอ่งน้ำวางเป็นระเบียบ กระทั่งฝาปิดโอ่ง ขันตักน้ำ เมื่อเข้าห้องดูยิ่งเป็นระเบียบ บริขารถูกจัดไว้เรียบร้อย แม้กระทั่งบาตรตั้งแล้วปิดฝา เพื่อไม่ให้อับและเหม็นกลิ่นทั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะพระภิกษุสามเณรทั้งหลายได้ถูกอบรมปฏิบัติข้อวัตรต่างๆ อย่างดียิ่งจึงเป็นอันว่าวัฒนธรรม

พระวิริยังค์ยังได้เตรียมพร้อมซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการพบท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งก็ได้รับคำเล่าลือว่าท่านมีความหนักแน่นในธรรมวินัย และมีพละกำลังจิตน่าเกรงขาม แต่ท่านกลับมีกริยามารยาทอ่อนน้อมละมุนละไม ทักทายปราศรัยกับท่านพระอาจารย์กงมาอย่างเป็นกันเอง คล้ายกับท่านได้คุ้นเคยกันมาเป็นสิบๆ ปี เมื่อเห็นท่านคุยกันไปยิ้มกันไป หลังจากนั้นท่านถามสารทุกข์สุกดิบกับท่านพระอาจารย์กงมาฯ แล้วก็หันมาถามพระวิริยังค์ว่าได้มาพร้อมกันหรือ และมากันยังไง และตอบว่า “ครับ! มากับท่านพระอาจารย์ของกระผม เดินทางมาโดยเท้าตลอดเป็นระยะหลายร้อยกิโลเมตร” ท่านยิ้มแล้วก็ไม่พูดอะไรต่อ

•ท่านพระอาจารย์มั่นฯ เรียกพระวิริยังค์ ไปอุปัฏฐากอย่างใกล้ชิด : มิใช่เท่านั้นสำหรับพระวิริยังค์ ในเมื่อเวลาเสร็จจากการแสดงธรรมในค่ำคืนวันนั้น ทุกองค์รีบทยอยกลับ พระวิริยังค์ก็เตรียมจะกลับอยู่แล้ว แต่ท่านพระอาจารย์มั่นเรียกให้หยุดก่อน ให้ทุกองค์กลับ แล้วให้พระวิริยังค์เก็บย่ามและของใช้เข้าไปห้องท่าน ท่านได้เอนหลังลง และให้พระวิริยังค์ บีบนวด เป็นกิจวัตรอย่างหนึ่งสำหรับพระกัมมัฏฐาน ผู้เป็นศิษย์ถือว่าการถวายการนวดนั้นเป็นกิจวัตรประจำค่ำคืนวันนี้นับเป็นคืนประวัติศาสตร์ของพระวิริยังค์ ซึ่งจะต้องจดจำตลอดชีวิต เพราะแม้จะต้องเดินทางมาอย่างเหน็ดเหนื่อย ทั้งยังต้องมาฟังเทศน์ตั้งครึ่งคืน และยังต้องถวายการนวด เวลาก็ดึกเข้ามาทุกที ท่านพระอาจารย์มั่นก็ยังไม่อนุญาตให้กลับไปพักผ่อน เวลาผ่านไปตี 1 ตี 2 ตี 3 ก็ยังไม่มีท่าทีที่จะบอกให้กลับ เมื่อท่านยังไม่อนุญาตก็กลับไม่ได้ต้องถวายการนวดตลอด แต่เวลาก็ใกล้แจ้งเข้ามาทุกขณะ ผ้าครองจะขาดๆ แต่พระภิกษุจะปราศจากผ้า 3 ผืน ก่อนอรุณขึ้นไม่ได้จะเป็น “อาบัติ” พระวิริยังค์นึกถึงอยู่ในใจ 2-3 ครั้ง ท่านพระอาจารย์มั่นก็รีบลุกขึ้นพลัน ยังกับจะรู้ใจกัน แล้วข้าพเจ้าก็รีบหาไม้สีฟัน น้ำล้างหน้า กระโถนถวายท่าน เมื่อท่านรับแล้วล้างหน้าเสร็จ ท่านก็บอกว่า “เราได้นิมิตดี คือ ปรากฏในนิมิตว่า เราได้รองเท้าคู่ใหม่คู่หนึ่ง รองเท้าคู่นี้แปลกไม่มีแหว่งเข้าตรงกลางเหมือนรองเท้าทั่วไป เออ วิริยังค์ กลับได้ กราบ 3 ครั้ง แล้วรีบกลับกุฏิ สว่างได้อรุณพอดี” เป็นอันว่าพระวิริยังค์ได้อยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นสมตามปรารถนาและนับเป็นโชคอันมหาศาลที่ยังความภาคภูมิใจหนักหนาที่ได้อุปัฏฐากท่าน อยู่กับท่าน และใกล้ชิดกับท่านเป็นกรณีพิเศษ

วันหนึ่งท่านพระอาจารย์กงมาฯ ได้เตือนให้สติเตือนว่า “การอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น และได้อุปัฏฐากนี้ ต้องถือว่าเป็นบุญอย่างยิ่งของเธอแล้ว เพราะผู้จะเป็นอุปัฏฐากท่านพระอาจารย์มั่นฯ นี้ต้องเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยกิริยามารยาท ต้อนรับแขกเป็น เคารพพระเถรานุเถระที่จะเข้ามาศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่าน มีสติให้ระวังในขณะปฏิบัติกิจวัตร โดยรอบคอบและสะอาด ตื่นก่อน นอนทีหลังเรา เมื่อรู้ความจริงต่างๆ ของการปฏิบัติอาจาริยวัตรโดยรอบคอบแล้ว เธอจะได้ความรู้พิเศษและได้ความชำนาญ ตลอดถึงอรรถปัญหาก็ถามท่านได้ตามความสามารถของตน จึงเป็นโอกาสอันงดงามที่สุดชีวิตพรหมจรรย์ของเธอ” ท่านพระอาจารย์กงมาฯ กล่าวในที่สุด

โปรดติดตามมติชนฉบับหน้า ตอนที่ 3 (สุดท้าย) นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image