คุณภาพคือความอยู่รอด : เส้นทางเดินของกระป๋อง

คุณภาพคือความอยู่รอด : เส้นทางเดินของกระป๋อง

คุณภาพคือความอยู่รอด : เส้นทางเดินของกระป๋อง

“Can to Can Journey” หรือ “เส้นทางเดินของกระป๋อง” (เริ่มตั้งแต่ผลิตกระป๋อง บรรจุเครื่องดื่มลงกระป๋อง ดื่มแล้วทิ้งกระป๋อง เก็บกระป๋องมารีไซเคิล ผลิตเป็นกระป๋องไปใช้ใหม่ เริ่มเข้าสู่วงจรใหม่อีก) จึงนำมาตั้งเป็นชื่อของ “โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” อีกโครงการหนึ่ง

ปัจจุบัน ต้องถือว่าเป็น “ยุคแห่งการขาดสมดุล” อันหมายถึง ยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการเมืองอย่างรวดเร็ว จนคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งสร้างปัญหาต่างๆ บนโลกนี้มากมาย จึงเป็นยุคที่มีการพัฒนาและเติบโตอย่างไม่สมดุล

การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคต่างๆ จนถึงปัจจุบัน (ยุค “อุตสาหกรรม 4.0”) ได้ทำให้ปัญหามลพิษปรากฏชัดเจนและรุนแรงมากขึ้น ทำให้เราต่างเห็นได้ชัดว่าผลลัพธ์ของการพัฒนาไม่คุ้มกับความสูญเสียด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเลย

Advertisement

ปัญหาในปัจจุบันจึงมิได้จำกัดแต่เพียงในระดับท้องถิ่น แต่ได้ขยายวงกว้างออกไปสู่ระดับประเทศ และหลายกรณีกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก

ทุกวันนี้ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เกิดขึ้นในสถานที่ผลิตเท่านั้น แต่เกี่ยวเนื่องไปถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนย้ายวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ การผลิต การบริโภค การจัดการกับขยะหรือกากของเสียหลังจากการบริโภค รวมตลอดถึงขยะมูลฝอยที่เกิดจากการอุปโภคบริโภคภายในครัวเรือนด้วย

ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ เสียง วัตถุอันตราย ขยะ กากของเสีย ปัญหาอาชีวอนามัย ปัญหาสุขอนามัยสิ่งแวดล้อม ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อมในอาคารบ้านเรือน เป็นต้น ล้วนแต่ขยายตัวกว้างขวางมากขึ้น และได้กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวและระมัดระวัง เพื่อการป้องกันและอนุรักษ์ทั้งในระดับท้องถิ่น และความร่วมมือของนานาประเทศทั่วโลก

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้นนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุและผล (Cause and Effect) ที่เกิดขึ้น ยากแก่การทำความเข้าใจ จึงมีแต่การวิจัยและติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเท่านั้น (ซึ่งต้องอาศัยวิธีการวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย) เพื่อที่จะช่วยทำให้เราเข้าใจถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ชัดเจน และหาวิธีแก้ไขป้องกันได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

โครงการ “Can to Can Journey” ในอุตสาหกรรมการผลิตและรีไซเคิลอะลูมิเนียม จึงเกิดขึ้นจากความร่วมมือของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียม (กระป๋อง) ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ (ผู้ผลิตอะลูมิเนียมแผ่น ผู้ผลิตกระป๋อง ผู้ผลิตเครื่องดื่ม ผู้รับรีไซเคิล เป็นต้น) ที่มีความตั้งใจจริงใน “ความรับผิดชอบต่อสังคม” เพื่อให้สังคมได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของระบบทั้งหมดแบบครบวงจร การพัฒนาวงจรการรีไซเคิลอะลูมิเนียมแบบสมบูรณ์ (Close Loop Recycling Aluminum 100%) รวมตลอดถึงแนวการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โครงการนี้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะรีไซเคิลในประเทศไทยอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม โดยใช้ “หลักการ 3R” คือ การลดใช้ (Reduce) การเพิ่มการใช้ซ้ำ (Reuse) และ การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) รวมถึงการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปสงค์ อุปทาน ให้เกิดการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Production and Consumption)

ทั้งหมดทั้งปวงของโครงการนี้ จึงมุ่งเน้นที่การสร้างความรู้ความเข้าใจที่เกิดจาก “การเห็นจริงและจับต้องได้” อันนำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจกันอย่างใกล้ชิด เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ครับผม !

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image