รื่นร่มรมเยศ : แก้ไขที่ตนก่อน

รื่นร่มรมเยศ : แก้ไขที่ตนก่อน

รื่นร่มรมเยศ : แก้ไขที่ตนก่อน

ได้อ่านนิทานจีนที่มีผู้แปลและเรียบเรียงไว้เรื่องหนึ่งน่าสนใจขอถ่ายทอดให้ฟังเสียเลยดังนี้ครับ

ฉีจิ่งกง เป็นผู้นิยมในกีฬายิงนก ครั้งหนึ่งจู่โจว ผู้มีหน้าที่ดูแลนกทำนกหลุดไป ฉีจิ่งกงโมโหเป็นอย่างยิ่ง มีบัญชาให้นำจู่โจวไปประหารเสีย

เย่นจื่อ ได้ยินดังนั้นจึงกล่าวว่า “จู่โจวมีความผิดอยู่ 3 ประการ ขอให้ข้าได้ชี้ถึงความผิดแต่ละข้อต่อหน้าของเขาแล้วค่อยนำตัวไปประหารได้ไหม”

Advertisement

ฉีจิ่งกงตอบว่า “ได้”

ดังนั้น จึงให้นำตัวจู่โจวมาและชี้ถึงความผิดแต่ละข้อของเขาต่อหน้าฉีจิ่งกงว่า “จู่โจว ท่านมีหน้าที่ดูแลนกให้กับกษัตริย์ผู้เป็นประมุขของเรา แต่ทำให้นกหลุดหนีไป นี่คือความผิดข้อที่ 1 ทำให้กษัตริย์ผู้เป็นประมุขของเราต้องฆ่าคนเพราะนก นี่คือความผิดข้อที่ 2 ทำให้บรรดาเจ้าผู้ครองนครรัฐทั้งหลายเมื่อได้ฟังเรื่องนี้แล้ว คิดว่ากษัตริย์ของเราเห็นความสำคัญของนกมากกว่าคน นี่คือความผิดข้อที่ 3”

เมื่อเย่นจื่อพูดถึงความผิดของจู่โจวจบแล้วก็ขอให้ฉีจิ่งกงออกคำสั่งให้นำเข้าไปประหาร

Advertisement

ฉีจิ่งกงกล่าวว่า “ไม่ประหารแล้ว ข้าขอน้อมรับคำชี้แนะของท่าน”

เรื่องนี้ชื่อว่า “โทษ 3 ประการ” ผู้แปลและเรียบเรียงชื่อ เรืองรอง รุ่งรัศมี พิมพ์ในหนังสือชื่อ รอยยิ้มในปัญญา สำนักพิมพ์ทางทองจัดพิมพ์ ขอประชาสัมพันธ์ให้นักอ่านไปหามาอ่านเถอะครับ อ่านแล้วได้แง่คิดทางธรรมดีไม่น้อยเลย

เรื่องนี้ให้คติก็คือ ผู้ที่มีอำนาจวาสนาก็มักจะใช้อำนาจเผด็จการ ใครทำอะไรให้ไม่ได้ดังใจหรือใครขัดใจก็ลงโทษรุนแรง บางทีถึงกับประหารชีวิต

คนมีอำนาจในมือมักจะมองเห็นแต่ความผิดของคนอื่น ตนทำผิดทำชั่วอย่างไรก็มักมองไม่เห็น หรือเห็นก็ทำเป็นไม่เห็น

แค่คนดูแลนกทำนกหลุดหายไปเท่านั้นก็สั่งให้นำไปประหาร เห็นชีวิตคนอื่นเป็นผักปลา

เย่นจื่อเป็นตัวแทนของ “คุณธรรม” ที่ช่วยชี้ทางสว่างให้ฉีจิ่งกงรู้สำนึก เย่นจื่อเดินทางไปหาฉีจิ่งกง ทำท่าว่าเข้าข้างฉีจิ่งกง ชี้ความผิดของคนเลี้ยงนกว่าสมควรตาย แต่ความจริงแล้วคนเลี้ยงนกผิดมากมหันต์กว่านั้น สรุปแล้วมีความผิดถึง 3 ประการ มิใช่ประการเดียวดังที่ฉีจิ่งกงตัดสิน จึงสมควรตายอย่างยิ่ง

เมื่อพูดดังนี้ฉีจิ่งกงก็สนใจ อยากจะรู้ว่าคนเลี้ยงนกผิดอะไรบ้าง เย่นจื่อจึงสาธยายให้ฟังช้าๆ ทำให้ฉีจิ่งกงฟังไปด้วยคิดไปด้วย

ความผิดข้อที่ 1 มีหน้าที่เลี้ยงนก แต่ทำนกหลุดหายไป นี่ผิดชัดๆ สมควรตาย

ความผิดข้อที่ 2 ทำให้กษัตริย์ต้องโกรธ และฆ่าคนเพราะนกหาย สมควรตาย

ความผิดข้อที่ 3 ทำให้กษัตริย์แว่นแคว้นอื่นๆ เขาดูหมิ่นเหยียดหยามว่ากษัตริย์เมืองนี้เหี้ยมโหด เห็นนกสำคัญกว่าชีวิตคนนี่ก็สมควรตาย

ขณะฟังไปๆ ก็รู้ทันทีว่าเย่นจื่อกำลังสอนตน กำลังว่าตนเหี้ยมโหด แค่นกหายตัวเดียวยังวู่วามฆ่าคน เห็นชีวิตนกสำคัญกว่าชีวิตคน เราเป็นถึงกษัตริย์ปกครองประเทศ ขืนทำอย่างนี้ บ้านอื่นเมืองอื่นคงหาว่าเราเหี้ยมโหดจริงๆ

นึกได้ดังนี้แล้วฉีจิ่งกงก็ร้องสั่งว่า ไม่ประหารแล้ว ปล่อยมันไป

ในที่สุดฉีจิ่งกงก็สำนึกได้ว่า ที่ว่าคนเลี้ยงนกผิดนั้น ความจริงตนนั้นแหละผิดกว่า ถ้าคนเลี้ยงนกต้องตาย ตนก็ยิ่งสมควรตายมากกว่า

เพราะตนได้นกมา จึงต้องหาคนมาเลี้ยงนก ถ้านกหายไปความผิดเกิดขึ้น คนที่ผิดก็น่าจะเป็นตัวเอง!

เห็นไหมครับ ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง เราก็จะเห็นความเป็นจริงอีกด้าน

เพราะฉะนั้น ท่านจึงมีสุภาษิตเตือนใจว่า

“พูดให้เขาไม่เข้าใจไปว่าเขา

ว่าโง่เง่า งมเงอะ เซอะนักหนา

ตัวของตัวทำไมไม่โกรธา

ว่าพูดจาให้เขาไม่เข้าใจ”

พูดให้เขาไม่เข้าใจ ไปชี้หน้าว่าโง่ ขณะที่นิ้วชี้ด่าเขา อีก 4 นิ้วมันชี้มาที่ตัวคนด่าเชียวนะจะบอกให้ แล้วใครโง่กว่าใครล่ะครับ

เรื่องอื่นๆ ก็เช่นกัน ขอให้มองมาที่ตนเองก่อน ก่อนจะตัดสินใจว่าใครผิดใครชั่ว ให้หันมาสำรวจตัวเองก่อนว่าตนเป็นอย่างไร นี่คือครรลองที่ผู้ต่อสู้ชีวิตจะพึงปฏิบัติ

เสฐียรพงษ์ วรรณปก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image