ภาพเก่าเล่าตำนาน : สัญชาติไทย…ที่ต้องแลกมาด้วยชีวิต โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ช่วง พ.ศ.2513-2524 อดีตนักรบ “ชาวยูนนาน” (เดิมคือทหาร ก๊ก มิน ตั๋ง) นับพันคน เคยช่วยทหารไทยทำสงครามกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ณ สมรภูมิเขาค้อ เขาหญ้า จ.เพชรบูรณ์

ย้อนไปในอดีต…ก่อนที่ทหารจีน ก๊ก มิน ตั๋ง กลุ่มนี้พร้อมครอบครัวจะได้รับสัญชาติไทย ได้ใช้ชีวิตในดินแดนไทย…พวกเขาเหล่าโน้นได้เคยช่วยทหารไทยทำการรบ เฝ้าตรวจ สนับสนุนการทำงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ตอนเหนือสุดของไทยมาโชกโชน …ยอมเอาชีวิตเข้าแลก

นักรบกลุ่มนี้…คนไทยเรียกเคยติดปากว่า กองพล 93 (ซึ่งต่อมามีการปรับ เปลี่ยน ยุบ โยก หน่วยและ ผบ.หน่วยใหม่อีกหลายครั้ง)

วีรกรรม-น้ำใจ ที่เกิดขึ้นในป่าเขาไกลโพ้น ไม่ใคร่จะมีใครทราบ เป็นงานปิดทองหลังพระ…กาลเวลาผ่านไป เมื่อทุกฝ่ายเข้าใจกัน มีไมตรีต่อกัน มีลูก หลาน เหลน อยู่ดีมีสุข… ต้องขอนำมาบอกเล่าสู่กันครับ…

Advertisement

เฉพาะสมรภูมิเลือดเดือด “เขาค้อ” มีอดีตทหารจากกองพล 93 ที่ไม่ใช่คนสัญชาติไทยพลีชีพไป 22 คน

หลังสถานการณ์รบในพื้นที่เขาค้อสงบลงเมื่อ พ.ศ.2526 ผู้ใหญ่ในกองทัพ ในฐานะ “เพื่อนร่วมตาย-สหายศึก” ได้มอบรางวัลอันมีค่าสูงสุด คือ “มอบสัญชาติไทย” ให้ชาวจีนกลุ่มนี้

ผ่านมาราว 3 ชั่วอายุคน ลูก-หลาน-เหลนที่เป็นคนไทยอยู่เย็นเป็นสุข ในแผ่นดินไทย… จัดสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึง (ตามภาพ)

Advertisement

แทบไม่มีใครทราบว่า…สถานที่แห่งนี้คืออะไร มาจากไหน ใครสร้าง

คอลัมน์ ภาพเก่า-เล่าตำนาน ที่ได้รับความกรุณาจาก มติชน มาแล้วราว 7 ปี ขอเปิดเผยเบื้องหลังภารกิจที่เคย “ปกปิดซ่อนเร้น”

ขอตัดฉากเข้าสู่ประเด็นหลัก…

พ.ศ.2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง… ประเทศ “ผู้ชนะสงคราม” เบอร์ใหญ่ คือสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย บอบช้ำย่ำแย่ ผู้คนในประเทศยากจนเพราะเอาเงินไปทำสงคราม มหาอำนาจรีบแย่งชิงดินแดน แย่งชิงทรัพยากรของประเทศผู้แพ้สงครามมาเป็นของตน โดยเฉพาะอาณานิคมที่ญี่ปุ่นเคยมาแย่งชิงไปในช่วงต้นของสงคราม

ประเทศไทยช่วงเวลานั้นก็ “ลูกผี-ลูกคน” มหาอำนาจอังกฤษ แม้กระทั่ง “จีน” ก็จ้องตาเป็นมัน …”จะส่งกำลังทหารเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทย” ซึ่งที่จริงก็คือจะเข้ามา “ครอบครอง”

ในเวลานั้น “จีน” มิได้เป็นปรปักษ์กับสหรัฐ จีนมีกำลังรบมหึมาที่ทำสงครามบดขยี้กองทัพลูกซามูไรญี่ปุ่นในภูมิเอเชีย…

สงครามโลกจบ…การเมือง การปกครองในจีนแผ่นดินใหญ่กลับร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้ง

พ.ศ.2492 กองทัพของเหมา เจ๋อ ตุง ผู้นำฝ่ายคอมมิวนิสต์ เปิดฉากรบกับกองกำลังของ นายพลเจียง ไค เช็ค แบบเลือดนองแผ่นดิน

ทหารของเหมา เจ๋อ ตุง ได้รับชัยชนะเหนือพรรคก๊ก มิน ตั๋ง (KMT) ของนายพลเจียง ไค เช็ค จีนแผ่นดินใหญ่กลายเป็นดินแดนที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์เต็มพิกัด…

นายพลเจียง ไค เช็ค ที่รบพลาง ถอยพลาง นำกำลังทหารและประชาชนนับล้านลงเรือหนีตายไปปักหลักที่เกาะฟอร์โมซา (ไต้หวัน)

สังคมโลกหันมามองลีลามหาโหดของพญามังกรจีน

กำลังทหารฝ่ายก๊ก มิน ตั๋ง ถูกไล่บี้เละเป็นโจ๊ก แตกพ่ายไม่มีทิศทาง หากแต่ KMT ยังมีกำลังทหารอีกส่วนหนึ่งประจำในมณฑลยูนนาน คือ กองทัพที่ 8 และกองทัพที่ 26

กองพล 93 เป็นหน่วยหนึ่งที่ขึ้นตรงต่อกองทัพที่ 26

กองกำลังของเหมา เจ๋อ ตุง มีจิตใจรุกรบ นำกำลังเข้ารุกไล่กองทัพที่ 8 และกองทัพที่ 26 ของ KMT แตกพ่ายกระจายเข้าไปในพม่าตอนบน

กองทัพที่ 26 โดนจัดหนักต่อเนื่อง ถอยร่นเข้าไปในลาว บางส่วนเข้าไปในจังหวัด “ท่าขี้เหล็ก” (Tachilek) ของพม่า บางส่วนแตกทัพหนีเข้ามาในไทยประมาณ 1,700 คน

สถานการณ์สับสน ไม่รู้หน่วยไหนเป็นหน่วยไหน ส่วนที่เข้ามาในไทยเป็นกำลังพลที่มาจากกองพล 93

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 เป็นต้นมา พม่าผลักดันกองทัพที่ 26 ออกจากดินแดนพม่า….กองทัพชาวจีนกลุ่มนี้พร้อมครอบครัวเข้ามาปักหลักอยู่บนภูเขาสูงทางตอนเหนือของไทยหลายพื้นที่

กองทัพจีนภายใต้การนำของเหมา เจ๋อ ตุง ดุดัน ห้าวหาญ

ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก…

พ.ศ.2493 จีนเป็นพี่เลี้ยงให้กองทัพเกาหลีเหนือบุกเกาหลีใต้

โลกตกตะลึงสุดขีด กรุงโซลของเกาหลีใต้แหลกเละ ทหารเกาหลีเหนือนับแสน รถถัง ปืนใหญ่ เข้าตีผ่านรุกไล่ทหารเกาหลีใต้แบบหมดสภาพ

วอชิงตันประกาศ…ขอเข้าช่วยเกาหลีใต้เพื่อยับยั้งกองทัพจีน

อเมริกามองเห็นเจตนารมณ์ของคอมมิวนิสต์จีนชัดที่สุด วอชิงตันขอสนับสนุน KMT ที่หนีไปอยู่ไต้หวันเพื่อจะหาโอกาสบุกคืนสู่แผ่นดินใหญ่ที่เป็นคอมมิวนิสต์

ทหารกองพล 93 ที่เป็นส่วนหนึ่งของ KMT ถืออาวุธมาปักหลักบนภูเขาทางตอนเหนือของไทย เป็นหมากตัวหนึ่งบนกระดานแห่งอำนาจ “พลอยฟ้าพลอยฝน” ได้รับการสนับสนุนจากซีไอเอในทางลับ

นี่คือสภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออกของไทย

สหรัฐแอบคุยกับรัฐบาลไทยในทางลับเพื่อ “ใช้ประโยชน์” จากกองกำลังกองพล 93 กลุ่มนี้ …ฝ่ายไทยมีท่าทีระมัดระวังอย่างที่สุด

หากจีนใหญ่ระเบิดความหงุดหงิดต่อรัฐบาลไทย ผลคือ ความพินาศ

รัฐบาลจอมพลถนอม มอบให้ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ และพลโท เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นผู้ดำเนินการ เจรจาหาทางออก

สหประชาชาติ (UN) เข้ามามีบทบาทเจรจา 4 ฝ่าย คือไทย จีน พม่า และสหรัฐ (ไม่มีไต้หวัน เพราะมิได้มีสถานะเป็นประเทศ การติดต่อพูดคุยกับไต้หวันต้องใช้บุคคลที่มิใช่ข้าราชการ)

พ.ศ.2501 กองทัพไทยส่งทหาร KMT กลับไต้หวันครั้งแรกในปี พ.ศ.2496 และครั้งที่สอง คือ พ.ศ.2504

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เป็นผู้นำประเทศต่อมา ประกาศเจตนาที่จะปฏิบัติการตามกฎหมาย ยื่นคำขาดให้กองทหารจีนคณะชาติออกจากเขตแดนไทย (เป็นการแสดงท่าทีทางการเมืองระหว่างประเทศ : ผู้เขียน)

จีนใหญ่ยังคงกวาดล้างกลุ่ม KMT อย่างหนัก

ในปี พ.ศ.2505 มีกองทหารจีน KMT พร้อมครอบครัวเล็ดลอดหลบหนีเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก

รัฐบาลไทยสั่งให้กองทัพคุยกันเพื่อผลักดันกองทหารจีนกลุ่มนี้ให้ออกนอกประเทศ โดยจะมีการปลดอาวุธและควบคุมตัวหากไม่เดินทางออกไป

ปัญหายาเสพติด ฝิ่น เฮโรอีน ในพื้นที่ผุดขึ้นดกดื่นทางภาคเหนือราวดอกเห็ด มีกองกำลังของชนกลุ่มน้อยในพม่าที่ติดกับชายแดนไทยอีก 1 กลุ่มคือ “กลุ่มขุนส่า” มีอาวุธ มีเงิน มีอิทธิพล มีกองกำลัง…

ผ่านมาถึง พ.ศ.2506 ฝ่ายไทยอึดอัดที่สุด เพราะการติดต่อมีไมตรีกับไต้หวันจะทำให้จีนแผ่นดินใหญ่พิโรธโกรธเคือง ลุกเป็นไฟ…

ท่ามกลางความชุลมุน สถานการณ์อึมครึม ฝ่ายไทยมองว่าหน่วยทหารของจีนที่ยังหลงเหลือในประเทศไทยหน่วยนี้ก็มีคุณค่า จึงมอบภารกิจให้ช่วยหาข่าว เฝ้าตรวจตามแนวชายแดนไทยที่แสนจะไกลโพ้น

ขอเรียนกับท่านผู้อ่านนะครับ…สถานการณ์ในอดีตตรงนี้…น้อยคนนักที่จะทราบ และรู้สถานการณ์ต่อเนื่อง

ประเทศไทยเจอศึกรอบด้าน..การเมืองในประเทศ การรุกคืบของ พคท. บริเวณตอนเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย…ล้วนหนักหนาสาหัสเอาการ ทหารตำรวจไทยถูกซุ่มโจมตีเสียชีวิตในป่าเขาเพิ่มขึ้น

ญวน ลาว เขมร กำลังรบกับคอมมิวนิสต์ ไฟสงครามระอุไปหมด

ระหว่างปี พ.ศ.2506-2510 ฝ่ายความมั่นคงไทยเข้าไปคุมเชิงและควบคุมกองทหาร KMT ที่ตกค้างไม่ได้กลับเมื่อปี พ.ศ.2504

กันยายน พ.ศ.2513 บก.ทหารสูงสุด (ปัจจุบันคือ กองบัญชาการกองทัพไทย) หารือกับทหารจีน KMT ที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศไทย โดยมี พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เป็นประธาน เพราะเป็นปัญหาเรื้อรังนานถึง 21 ปี ถึงแม้จะมีการอพยพแล้วสองครั้งคือ พ.ศ.2496 และ พ.ศ.2504 แต่ก็ยังมีกลุ่มตกค้างอยู่ในชายแดนภาคเหนือของประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

เมื่อไต้หวันไม่มารับตัว…ฝ่ายไทยจึงปรับท่าที

ขอเรียนกับท่านผู้อ่านนะครับ…การสั่งการจากห้องแอร์ในทำนองว่า ให้ผลักดัน ไล่มันออกไปให้พ้นเขตแดนไทย เป็นเรื่องเหลวไหล โกหก คนที่ทำงานในสนาม อยู่หน้างานจะทราบดีว่าไม่ง่าย คนเป็นพันคน ไม่รู้จะผลักไปไหน เมื่อต้องมองไปที่เด็ก ผู้หญิง คนแก่ มโนธรรมสำนึกของเรา มันจะบอกอะไรบางอย่างได้ แม้ยิงปืนขู่ เขาเหล่านั้นอาจจะขยับหายไป มนุษย์ไม่มีใครยอมอดตาย เดี๋ยวก็แอบกลับเข้ามาใหม่…

มีภาษิตดีๆ กล่าวไว้ว่า “ในเสีย-อาจมีดี”

พ.ศ.2512 คณะนายทหารไทย ซึ่งนำโดย พล อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เดินทางไปเจรจากับไต้หวัน ผลคือรัฐบาลไต้หวันได้มอบทหารจีนคณะชาติที่ยังคงค้างอยู่ในประเทศไทยให้กับทางรัฐบาลไทย ซึ่งต่อมากองบัญชาการทหารสูงสุดแต่งตั้ง พลโท เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รับผิดชอบ

(ในสงครามเกาหลี ร้อยเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ คือผู้บังคับกองร้อยทหารราบสู้รบกับเกาหลีเหนืออย่างห้าวหาญ ได้รับเหรียญกล้าหาญสูงสุด)

ตุลาคม พ.ศ.2513 รัฐบาลสั่งการให้กองบัญชาการทหารสูงสุดเข้าควบคุม เคลื่อนย้ายกำลังบางส่วนไปจัดตั้งหมู่บ้านผู้อพยพที่หมู่บ้านผาตั้ง บนดอยผาหม่น และที่บ้านแม่แอบ บนดอยหลวง

พ.ศ.2515 อดีตกองทหารฯ ได้แปรสภาพกลายเป็นพลเรือนและจัดตั้งหมู่บ้าน จำนวน 13 หมู่บ้าน ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ปี พ.ศ.2516 พลโท เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สั่งการให้อดีตทหาร KMT และครอบครัว เริ่มโครงการปลูกชาบนภูเขา โดยนำพันธุ์ชาชั้นเยี่ยมจากไต้หวันมาปลูกที่ดอยแม่สลองและถ้ำงอบ เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะสม… เริ่มปลูกขั้นแรก จำนวน 6 ล้านต้น

ในปี พ.ศ.2517 ได้ทดลองปลูกสนสามใบ จำนวน 18,000 ต้น ต่อมา พ.ศ.2518 ปลูกเพิ่มอีก 20,000 ต้น สร้างศาลาทรงจีนอยู่ในป่าสน เพื่อใช้เป็นอาคารทำงาน เป็นที่พบปะพูดคุยดื่มน้ำชาในบรรดาเพื่อนฝูงในธรรมชาติอันเงียบสงบ

สถานการณ์คลี่คลาย… ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี พลจัตวา ชาติชาย ชุณหะวัณ เดินทางไปเปิดประตูความสัมพันธ์ไทย-จีน

ชาวจีนฯ ที่มีทั้งอดีตทหาร ครอบครัว ลูกหลาน คือทรัพยากรมนุษย์ที่พัฒนาได้ เริ่มตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีนที่ดอยแม่สลอง เป็นโรงเรียนประจำ มีหอพักนักเรียนชาย หญิง เปิดโอกาสให้มีนักเรียนจากต่างถิ่นเข้ามาเรียน…

ในปี พ.ศ.2518 รัฐบาลได้มีมติให้เด็กที่เป็นบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนของรัฐบาลและเอกชน มีการตั้งโรงเรียนราษฎร์ขึ้นในพื้นที่ มีการคัดเลือกเด็กชาวจีนที่เป็นชายจากหมู่บ้านดอยแม่สลอง และถ้ำงอบเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนชาวไทยภูเขาที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ลูกหลานของกองทหารจีนอพยพเรียนภาษาไทย

30 พฤษภาคม พ.ศ.2521 รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาให้สัญชาติแก่อดีตทหารจีนกลุ่มนี้

พลเอกเกรียงศักดิ์ผูกพัน ดูแล ใส่ใจต่อโครงการนี้เสมอมา ชาวบ้านจึงสร้างบ้านพักหลังหนึ่งเพื่อใช้รับรองคณะฯ ที่มาเยี่ยมแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2522 เพื่อขอมอบให้ราชการไทย

22 สิงหาคม พ.ศ.2522 พลเอกเกรียงศักดิ์ (นรม.ในขณะนั้น) เป็นผู้รับมอบ และนำชาวบ้านปลูกป่าสนสามใบเพิ่มอีก 18,000 ต้น ที่บริเวณศาลาและรอบบ้านพักจึงได้ตั้งชื่อศาลาว่า ศาลาเกรียงศักดิ์ และบ้านเกรียงศักดิ์

พ.ศ.2527 รัฐบาลไฟเขียวให้สถานภาพชาวจีนกลุ่มนี้ “เป็นคนไทย” กระทรวงมหาดไทยดูแลการแปลงสัญชาติ

พื้นที่บางส่วน เช่น บ้านเปียงหลวง บ้านถ้ำงอบ เชียงใหม่ พื้นที่บนดอยแม่สลอง บ้านแม่แอบ บ้านผาตั้ง จังหวัดเชียงราย ส่วนที่บ้านหัวลาง และบ้านนาป่าแปก แม่ฮ่องสอน กลายเป็นหมู่บ้านที่อยู่อาศัยของอดีตกองทหารจีนคณะชาติ หรือกองพล 93

ชาวไทยเชื้อสายจีนกลุ่มนี้ขยัน อดทน มีความริเริ่มปลูกพืช เป็นไปตามแนวทางพระราชดำริ พืช ผัก ผลไม้ ดอกไม้เมืองหนาว เจริญ งอกงาม ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ พื้นที่หมู่บ้านกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม

พ.ศ.2560 ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมพิธี “วันระลึกเขาค้อ” เห็นเยาวชนชาย-หญิง กลุ่มใหญ่ เข้าแถวเป็นระเบียบเรียบร้อย ถือพวงมาลามาวาง ณ อนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ จึงสอบถามจากอดีตทหารผ่านศึก พลโท บรรยงค์ สิรสุนทร (ที่บาดเจ็บพิการในสมรภูมิเขาค้อเมื่อ พ.ศ.2523) ท่านอธิบายว่า…

“…. นี่คือลูกหลาน ทายาทรุ่นที่ 3 ของกองทหารจีนกองพล 93 เดินทางมาวางพวงมาลาทุกปีเพื่อรำลึกถึงคนไทย นักรบไทย พระมหากษัตริย์ไทย ที่เมตตาให้บรรพบุรุษของพวกเขาได้สัญชาติไทย มีถิ่นพำนัก ได้เรียนหนังสือ ไม่ต้องเร่ร่อนเป็นคนไร้รัฐอีกต่อไปตลอดชีวิต…”

(ปัจจุบัน ขอเรียกกลุ่มของตนเองว่า “กลุ่มยูนนาน”)

บุคคลสำคัญที่มีส่วนในการประสานงานกับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่และจีนไต้หวันจนเป็นที่ “น่าพอใจ” คือพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ปราดเปรื่องเรื่องงานการทูต

ขอย้อนอดีตทหารกองพล 93 ที่เป็นชาวชาวจีนกลุ่มนี้เคยทำหน้าที่ในสนามรบ ช่วยสนับสนุนกองทัพไทยอย่างไร…

ช่วง พ.ศ. พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รองเสนาธิการทหารในขณะนั้น ได้ตกลงกับนายพลลี และนายพลต้วน ให้จัดกำลังทหารประมาณกว่า 1 พันนาย รวมกับทหารไทย เข้ากวาดล้าง ผกค.ที่ดอยผาหม่น ดอยหลวง ได้เป็นผลสำเร็จ

พ.ศ.2525 กองพล 93 ซึ่งอยู่ที่ดอยแม่สลอง อำเภอแม่จัน จ.เชียงราย ได้ส่งกองกำลังทหารมาร่วมปราบปราม ผกค. พื้นที่ อ.เขาค้อ มีภารกิจคุ้มกันการสร้างทางทุ่งสมอ-เขาค้อ

มีเหตุปะทะ สู้รบ เสียชีวิตตลอดการก่อสร้างเส้นทางในป่าเขา

สมรภูมิเขาค้อ เขาหญ้า จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งสะสมกำลังของ ผกค.แหล่งสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ กองกำลังของนายพลลี และกองกำลังของนายพลต้วน ส่งทหารกำลังทหาร 400 นาย ร่วมกองกำลังของทางราชการเข้าปราบปราม…

หลังการโอนสัญชาติเป็นชาวไทย คนไทยกลุ่มนี้อาศัยอยู่ตามชายแดน อ.เวียงแหง อ.เชียงดาว อ.ไชยปราการ อ.ฝาง และอำเภอแม่อายของจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนจังหวัดเชียงราย มี อ.เวียงแก่น อ.เชียงของ อ.แม่สรวย อ.แม่สาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีบ้านแม่ออ อ.เมือง

คนเหล่านี้….ที่เคยกระเซอะกระเซิง หนีตาย ปากกัดตีนถีบ ต้องทำสงครามช่วยกองทัพไทยปราบปรามกองกำลังคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ภาคเหนือในหลายสมรภูมิ…บาดเจ็บ ล้มตายเคียงข้างทหารไทย

ท่านทั้งหลายเหล่านั้น…ได้พิสูจน์ตัวเองเป็นที่น่าประทับใจ บรรพบุรุษของไทยในอดีตมีวิสัยทัศน์ กล้าตัดสินใจ รอบคอบ ผลที่ได้ออกมาคือ win-win ที่ต้องขอนำมายกย่อง เชิดชู ทุกฝ่าย…

เรื่องราวดีๆ แบบนี้…ต้องนำมาเปิดเผยครับ…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image