ผลงาน ปชป.(ฮา)

ผลการลงมติญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ ออกมาอย่างที่รับรู้กันแล้ว สมาชิกรัฐสภาเห็นชอบเพียงแค่ 2 ฉบับให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
ส่วนที่เหลืออีก 5 ฉบับ คว่ำไม่เป็นท่า โดยเฉพาะฉบับภาคประชาชน

ถึงกระนั้นก็ยังน่าวิเคราะห์อยู่ดีว่าเหตุการณ์จะดำเนินต่อไปอย่างไร สุดท้ายแล้วรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยการทำคลอดของ ส.ส.ร.จะออกมาได้หรือไม่

เพราะถ้าติดตามท่าทีของสมาชิกรัฐสภาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะวุฒิสมาชิก จะเห็นว่าในช่วงแรกที่เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แกนนำวุฒิสมาชิกฯประกาศจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะไม่รู้ว่ากรอบขอบเขตจะไปไกลขนาดไหน เป็นความสุ่มเสี่ยงเหมือนกับเซ็นเช็คเปล่าให้ไปกรอกตัวเลขเอง ขณะเดียวกันสนับสนุนการร่างแก้ไขเป็นรายมาตรามากกว่า

แต่พอถึงเวลาลงมติกันจริงๆ เสียงส่วนใหญ่เทไปให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมี ส.ส.ร. ขณะที่ญัตติแก้ไขรายมาตราถูกคว่ำไปพร้อมกับร่างของภาคประชาชน

Advertisement

การไม่รับหลักการร่างแก้ไขรายมาตรา ฉบับที่ 3 ยกเลิกอำนาจวุฒิสมาชิกในการร่วมโหวตหาตัวนายกรัฐมนตรี (มาตรา 272) นี่แหละครับ น่าตั้งคำถามว่าทำไมเมื่อแรกแสดงท่าทียืนยันมั่นเหมาะว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรายมาตรา แต่ถึงเวลาลงมติจริง เสียงที่ออกมากลับตรงกันข้าม ขณะที่การแก้ไขโดยให้มี ส.ส.ร.ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนท่วมท้น

เหตุที่การลงมติออกมาเช่นนี้ จึงวิเคราะห์ต่อไปได้ว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับการยื่นญัตติขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมี ส.ส.ร.เป็นการร่างใหม่ทั้งฉบับไม่ใช่เพียงแค่แก้ไข จึงเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมี ส.ว. 47 เสียง ส.ส.พลังประชารัฐ 25 เสียง ลงชื่อสนับสนุน

ผู้ยื่นคาดว่า หากผลักดันที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ และศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมี ส.ส.ร.จะต้องตกไป ขณะที่ร่างแก้ไขรายมาตราให้ตัดอำนาจวุฒิฯในการเลือกนายกฯ ซึ่งไม่ผ่านการรับรอง ตกไปก่อนหน้านี้แล้ว

Advertisement

ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า ทำไมวุฒิสมาชิกจึงลงมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรายมาตราเลย นั่นเท่ากับยืนยันว่า ยังต้องการคงอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ต่อไปเช่นเดิมนั่นเอง

การลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าวิเคราะห์วิจารณ์ด้วยเช่นกัน คือท่าทีของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

ภ ายหลังผลการลงมติออกมา ส.ส.ระดับนำออกมาคุยโขมงว่าเป็นผลงานของพรรคที่สามารถผลักดันญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญธรรมนูญได้สำเร็จตามนโยบายที่ประกาศไว้ ขณะเดียวกันเรียกร้องให้ ภาคีราษฎร นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ยุติการชุมนุม อ้างว่ารัฐสภาให้การรับรองญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมี ส.ส.ร.แล้ว
ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ว่า ข้อเรียกร้องหลักของกลุ่มผู้ชุมนุม คือการให้การรับรองร่างของภาคประชาชน เป็นหัวใจสำคัญ

พูดได้เต็มปากเต็มคำ ความสำเร็จของการผ่านญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นผลงานของพรรค ทั้งๆ ที่อ้างได้เพียงแค่ว่าเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะพลังกดดันเกิดจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องของทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ดำเนินเรื่อยมาจนถึงวันนี้

แถมย้ำว่าข้อเรียกร้องของภาคประชาชนยังสามารถเอาไปร่วมผลักดันผ่าน ส.ส.ร.ที่จะมีขึ้นได้

ทำไมประชาชนถึงต้องรอไปถึงวันนั้น ก็ในเมื่อร่างแก้ไขแบบรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 272 เป็นหนึ่งใน 7 ร่างที่เสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา สาระมีหลักการที่เป็นประชาธิปไตยอย่างชัดเจน พรรคประชาธิปัตย์ตอกย้ำมาโดยตลอดว่าเป็นอุดมการณ์ของพรรค แต่เมื่อถึงเวลามีโอกาสแสดงจริง กลับไม่กล้า แต่เลือกเอาวิธีการงดออกเสียง

ทำไมไม่แสดงความเป็นผู้นำ ยืนหยัดหลักการ กล้าตัดอำนาจ ส.ว.เสียก่อนเป็นด่านแรก หากการแก้ไขใหญ่โดย ส.ส.ร.ไม่สำเร็จ หรือยืดเยื้อยาวนาน การตัดอำนาจ ส.ว.เสียก่อนก็เป็นหลักประกัน ความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่เป็นอยุู่

งดออกเสียง เท่ากับเงียบ เสียอย่างนั้น กลัวอะไร หวังอะไร นี่แหละ ปชป. ยุค คสช.

ถ้าจะคุยว่าเป็นผลงานกันจริงๆ ต้องวัดกันที่ความกล้ารับหลักการฉบับที่ 3 ครับ

ทั้งๆ ที่่รู้ว่า แม้รับหลักการ ร่างฉบับนี้ออกมาได้สำเร็จ ก็ใช่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในทันที แต่ใช้สำหรับการเลือกนายกฯคราวต่อไป

การเลือกเอา วิธีงดออกเสียงเป็นทางออก คงวิเคราะห์แล้วว่า ถึงให้การรับรองญัตติที่ 3 ไปก็ไม่สำเร็จ เพราะ ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ที่เอาด้วยมีไม่ถึง 84 เสียง ลงมติงดออกเสียงน่าจะดีกว่า บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น ผลทางภารเมืองภายภาคหน้าสำคัญกว่าจุดยืนอุดมการณ์ (ฮา)

แทนที่จะแสดงความกล้าหาญ จริงใจ กลับผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของภาคประชาชนไปเรียกร้องเอาตอน มี ส.ส.ร.

ผลจาก ท่าที จุดยืนทางการเมืองเช่นนี้ จะปรากฏออกมาเป็นเช่นไรในอนาคต ติดตามดูที่ผลการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะมีขึ้น อีกนานเท่าไหร่ไม่รู้ ก็แล้วกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image