ถดถอยแล้วนะ!

ถดถอยแล้วนะ

เร็วๆนี้มีรายงานข่าวว่าจีดีพีไทยในไตรมาสที่ 3 หดตัว 6.4% [1] ต่อเนื่องจากการหดตัว 12.1% ในไตรมาสที่ 2 และการหดตัว 2% ในไตรมาสที่ 1 ตามลำดับ ทำให้เกิดคำถามว่า ไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วหรือยัง? ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มเมื่อไร? นิยามอย่างไร?

นิยามของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ

สื่อมวลชนด้านการเงินการธนาคารมักนิยามภาวะเศรษฐกิจถดถอยว่าเป็น“ภาวะที่จีดีพีหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส” แต่นักเศรษฐศาสตร์มหภาคที่สหรัฐฯไม่ได้ใช้นิยามนี้ เพราะนิยามนี้มีความหมายโดยนัยว่าถ้าจีดีพีเริ่มขยายตัวเพียงไตรมาสเดียวหลังการหดตัวก็จบสภาวะถดถอยแล้ว ดังนั้นนิยามภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมาตรฐานอเมริกันจึงเข้มงวดกว่านั้น

หน้าที่นิยามภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่สหรัฐฯเป็นของคณะกรรมการกำหนดช่วงเวลาตามวัฎจักรเศรษฐกิจ (Business Cycle Dating Committee) [2] ซึ่งอยู่ในสถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติ (National Bureau of Economic Research) คณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ใช่ข้าราชการและไม่ใช่เจ้าหน้าที่แบงก์ชาติเพื่อความเป็นอิสระจากภาครัฐ สถาบันวิจัยดังกล่าวเป็นองค์กรอิสระ เจ้าหน้าที่แบงก์ชาติที่ไม่เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นสมาชิกไม่ได้ แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกก่อนลาออกไปอยู่แบงก์ชาติสามารถเป็นสมาชิกต่อไปได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ภาครัฐแทรกแซงการวิจัยและประเมินเศรษฐกิจ

คณะกรรมการดังกล่าวนิยามว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยคือ“เวลาหลังการขยายตัวสูงสุดถึงตอนที่หดตัวต่ำสุด” ดังนั้นการนิยามภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นการนิยามย้อนหลังเสมอ คณะกรรมการดังกล่าวใช้ทั้งทั้งจีดีพีซึ่งวัดผลผลิตและสถิติจีดีไอซึ่งวัดรายได้ รวมทั้งสถิติการจ้างงานด้วย โดยรวมประเมินด้วย 3 มิติ “ความลึก การแพร่กระจาย และระยะเวลา” (depth, diffusion and duration) บางครั้งจีดีพีลดลงเพียงไตรมาสเดียวก็จัดเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยถ้าความลึกและการแพร่กระจายรุนแรง เช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังไตรมาสที่ 2 พศ. 2544 และหลังไตรมาสที่ 4 พศ.2550 [3] ล่าสุดคณะกรรมการดังกล่าวประกาศเมื่อเดือนมิถุยายนปีนี้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มหลังไตรมาสที่ 4 พศ.2562 ถ้าวัดด้วยสถิติรายเดือนก็จัดว่าเริ่มถดถอยหลังเดือนกุมภาพันธ์ 2563 [4]

Advertisement

นิยามของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไทย

ไม่ชัดเจนว่าหน้าที่นิยามภาวะเศรษฐกิจเศรษฐกิจถดถอยในไทยเป็นหน้าที่ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) หรือแบงก์ชาติ หรือสถาบันวิจัยไหน? อย่างไรก็ดี น่าสนใจว่าผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนก่อนได้พาดพิงถึงภาวะถดถอยไว้เพียง 2 วันก่อนหมดวาระไว้ดังนี้ [5]

“การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องลงมือทำ ไม่ใช่เวลาหาแนวคิดออกมาเพิ่มเติมแล้ว เพราะถ้าไม่เริ่มทำให้เห็นผลจริงเศรษฐกิจไทยก็จะถดถอยไปเรื่อยๆ และกระทบความเป็นอยู่ของคนไทยในประเทศในระยะยาวตอนนี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันกำหนดทิศทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยออกมาอย่างชัดเจน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง”

Advertisement

นอกจากนี้ เมื่อลองค้นหาเอกสารจากสภาพัฒน์ก็พบว่าสภาพัฒน์ใช้นิยามว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยคือภาวะที่จีดีพีหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกันเหมือนสื่อมวลชนด้านการเงินการธนาคาร [6]

ฉะนั้น ตามนิยามของสภาพัฒน์ ไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วตั้งแต่หลังไตรมาสที่ 4 พศ.2562 หรือตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ในปีนี้

 

หมายเหตุ

1. “สภาพัฒน์แถลง GDP ไตรมาส 3/2563 หด -6.4% ปรับคาดทั้งปีดีขึ้นเป็น -6%” ประชาไท 16 พฤศจิกายน 2563: https://prachatai.com/journal/2020/11/90445

2. Business Cycle Dating, National Bureau of Economic Research: https://www.nber.org/research/business-cycle-dating

3. อัตราเติบโตของจีดีพีสหรัฐอเมริการายไตรมาส เฉดสีเทาคือภาวะเศรษฐกิจถดถอย: https://fred.stlouisfed.org/series/A191RL1Q225SBEA

4. “Determination of the February 2020 Peak in US Economic Activity” Business Cycle Dating Committee Announcement June 8, 2020: https://www.nber.org/news/business-cycle-dating-committee-announcement-june-8-2020

5. “ธปท.จี้รัฐปรับโครงสร้างศก. แก้ปัญหาการกระจุกรายได้ก่อนเผชิญภาวะถดถอย” ข่าวหุ้นธุรกิจ 28 กันยายน 2563: https://www.kaohoon.com/content/391117

6. “ทำความเข้าใจกับภาวะเศรษฐกิจ” ข่าวสภาพัฒน์ 20 กุมภาพันธ์ 2563:
https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=9912

หมายเหตุ กานดา นาคน้อย เป็นนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ University of Connecticut ประเทศสหรัฐอเมริกา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image