ถอดรหัสการศึกษาของโลก : มุมมองเชิงปฏิพัทธ์

ถอดรหัสการศึกษาของโลก : มุมมองเชิงปฏิพัทธ์

ถอดรหัสการศึกษาของโลก : มุมมองเชิงปฏิพัทธ์

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายใต้บริบทของโลกาภิวัตน์มีอิทธิพลต่อการพัฒนาสังคมโลกในทุกด้านรวมทั้งระบบการศึกษาที่มีการพัฒนาไปตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพื่อทำให้เกิดความทันสมัยและความอยู่รอดได้ มวลองค์ความรู้ที่มาจากระบบการศึกษาทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับสังคมดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือที่มีความหมายต่อการพัฒนาทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาบางช่วงของระยะเวลายังมีความสับสน ขาดสภาวะปกติ (Normality) เพราะทุกประเทศล้วนนำวาทกรรมต่างๆ ของการพัฒนามาเป็นพลังศรัทธาในการพัฒนาและปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง อนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของผู้มีหน้าที่ในการ “คุมอำนาจทางการศึกษา” ด้วยซ้ำ

ชำเลืองมองการศึกษาของสังคมโลก

สังคมโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันต่างให้ความสำคัญต่อการศึกษาในฐานะเป็นฐานรากที่สำคัญเพื่อการยกระดับวัฒนวิถีคุณภาพชีวิตของผู้คนในทุกมิติ ด้วยเหตุนี้องค์กรทั้งในระดับสากล ระดับประเทศรวมทั้งระดับชุมชนท้องถิ่นต่างตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของการศึกษาและให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ในระดับสากลสหประชาชาติ (UN) ได้มีกำหนดให้การศึกษาเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหัสวรรษ 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) ในข้อ 4 ที่ว่าด้วยการส่งเสริมการศึกษาที่เท่าเทียมกันและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่มนุษยชาติของสังคมโลกด้วย

Advertisement

ชำเลืองมองการศึกษาของสังคมโลกที่เป็นอยู่ในขณะนี้ซึ่งมีสถิติแสดงให้ว่าดีขึ้นและมีคุณภาพมากกว่าเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่อัตราการเข้าเรียนหรืออัตราการอ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้นจากในอดีตเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ประเทศอินโดนีเซียมีผู้คนอ่านออกเขียนได้ในปี 2015 จำนวน 95% และในประเทศเนปาลที่ช่วงปี ค.ศ.1981-1990 มีเพียง 1 ใน 5 ที่ผู้ได้รับการศึกษาในระบบ ก่อนจะเพิ่มเป็นเกือบ 2 ใน 3 ในปี ค.ศ.2015 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประเทศที่ด้อยพัฒนาทั้งหลายที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษาเช่นกัน หากมองตัวเลขดังกล่าวอาจดูเป็นสัญญาณทางการศึกษาที่ดี แต่ถ้าหากมองกว้างและมองให้ลึกไปลงกว่านั้น จะพบว่ายังมีผู้เรียนหรือเด็กนักเรียนจำนวนมากที่ไม่ได้รับโอกาสการศึกษาอย่างทั่วถึง การศึกษายังมีลักษณะที่กีดกัน (Deprive) กล่าวคือมีโอกาสได้เรียนแต่ไปไม่ถึงปลายทางที่ตั้งไว้ ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้สถานการณ์การศึกษาดูเหมือนจะดีขึ้นแต่ความเหลื่อมล้ำไม่ได้หมดไปและความเสมอภาคยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงกับทุกคนในฐานะพลโลก (Global citizen) เพราะรัฐบาลของทุกประเทศต่าง “สร้างยอด” สัดส่วนของอัตราการอ่านออกเขียนได้และอัตราการเข้าเรียนในระบบโรงเรียนที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น จึงเปรียบเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่ซ่อนปัญหามากมายไว้ข้างใต้ และถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไปอย่างเห็นได้ชัดเจน สถานการณ์ทางการศึกษาที่เกิดขึ้นในลักษณะเช่นนี้ประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาทั้งหลายต้องมีผู้ที่รับผิดชอบในฐานะ “ผู้นำ” ที่มีความลุ่มลึกในปัญหาเรื่องระบบการศึกษาของประเทศตนเอง ว่าจะทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาสร้างความเท่าเทียมและเสมอภาคอย่างแท้จริง รวมทั้งมีวิธีการแก้ไขและเปลี่ยนปรับระบบการศึกษาอย่างไรให้เข้ากับสังคมโลกยุคปัจจุบันด้วย

ภาพฉายเชิงซ้อนของสถานการณ์การศึกษาโลก

จากรายงานของ World Development Report: Learning to Realize Education’s Promise ที่จัดทำโดย World Bank Group Flagship Report ที่ได้นำเสนอภาพรวมการศึกษาของสังคมโลก วิกฤตการณ์ของผู้ที่สำเร็จการศึกษาในการเข้าสู่ตลาดแรงงานข้อเสนอแนะต่างๆ รวมทั้งข้อเสนอทักษะที่มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับพลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 ผู้เขียนในฐานะที่ได้ศึกษาการศึกษาระหว่างประเทศและการศึกษาเปรียบเทียบอยากฉายภาพรวมของการศึกษาโลกที่ยังต้องนำมาถอดรหัสในมิติดังนี้

1.อัตราการเข้าเรียน

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลทุกประเทศได้มีการ “สร้างภาพ” อัตราการสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนของผู้เรียนให้เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค ตัวอย่างประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณแอฟริกาใต้สะฮารา (Sub-Saharan Africa) ได้ส่งรายงานมายัง UNSCO ว่าในปี 2010 ที่ผ่านมาอัตราการเข้าเรียนในทั้งสองภูมิภาคเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% ขณะที่ในกลุ่มประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือมีรายได้ต่ำ อัตราการเข้าเรียน (Literacy rate) ได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน นอกจากนี้ผู้คนกลุ่มชายขอบ (Marginalized people) โดยเฉพาะอัตราของเด็กนักเรียนผู้หญิงซึ่งถือว่าเป็นประชากรชายขอบที่ได้รับการศึกษามากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการเพิ่มขึ้นของการเข้าเรียนยังไม่ได้แสดงหรือไม่ได้หมายถึงความเท่าเทียมกัน (Equality) เพราะยังมีผู้คนหรือประชากรอีกบางกลุ่มที่ถูกกีดกันหรือมีข้อจำกัดให้ออกจากระบบการศึกษาเพราะความยากจน เพศสภาพ เชื้อชาติ สภาพสังคมเศรษฐกิจ รวมทั้งระบบการเมืองในประเทศด้วย ตัวอย่างเช่น สภาวะทางด้านสงคราม และสภาพความยากจนที่เรื้อรังที่ยังเป็นปัญหารุนแรงในหลายประเทศ

2.วิกฤตการเรียนรู้: เรียนไปแต่ใช้ไม่ได้

วิกฤตด้านคุณภาพการศึกษายังเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งของสังคมโลกส่วนใหญ่ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันทุกประเทศจะได้มีการรณรงค์การเข้าถึงข้อความรู้ที่ส่งผ่านสื่อเทคโนโลยีและกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย แต่สิ่งที่พบและเป็นปัญหามากในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาคือ ผู้เรียนหรือนักเรียนยังมีวิธีคิดที่ต้องจำในข้อความรู้ต่างๆ ที่เกิดจากระบบการศึกษา “การกระจายความรู้แบบต่อยอด” เพื่อการเสริมสร้างสมรรถนะชีวิตที่ดีและเหมาะสมยังไม่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร วิกฤตการณ์การเรียนรู้เกิดขึ้นต่างมาจากผู้เรียนที่ไม่มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และตัวครูผู้สอนจำนวนมากที่ขาดแรงกระตุ้นและขาดทักษะที่จำเป็นในการส่งผ่านข้อความรู้ การจัดการเรียนรู้ที่ยังพึงพิงกับ “แบบจำลอง” ที่ประเทศพัฒนาแล้วสร้างขึ้นและให้การสมยอมโดยขาดการวิเคราะห์ที่ลุ่มลึกและชัดเจนในปริบทพื้นฐานรวมทั้งปริมณฑลที่แตกต่างสุดท้ายกลายเป็นภาพในจินตนาการมากกว่าภาพจริงในทุกยุคทุกสมัย

3.วิชาชีพวิชาคนยังด้อยคุณภาพ

ในปัจจุบันพบว่ามีเด็กจำนวนมากกว่า 127 ล้านคน จากทั่วโลกที่เข้าเรียนในระบบการศึกษาภาคบังคับมาแล้วแต่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ตามทักษะพื้นฐาน ขาดทักษะการคิดคำนวณทางด้านคณิตศาสตร์อย่างถูกต้อง ยิ่งไปกว่านั้นพบว่าในบางประเทศผู้เรียนที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรียังไม่สามารถใช้ความรู้ในการประกอบอาชีพได้ และยังพบว่าทักษะทางด้าน “วิชาคน” หรือทักษะทางด้านสังคมของผู้ที่ได้เรียนมาจากระบบการศึกษาไม่แตกต่างจากผู้คนที่ไม่ได้เรียนด้วยซ้ำ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ตัวอย่างเช่น ผู้ใหญ่ในหลายประเทศของทวีปแอฟริกาและบางประเทศในเอเชียที่ได้รับการศึกษาในระดับปริญญาตรีมีจำนวนมากที่มีทักษะในการทำงานน้อยส่งผลให้คุณภาพชีวิตและคุณภาพการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ สุดท้ายกลายเป็นปัญหาทางด้านสังคมและปัญหาในการพัฒนาประเทศโดยรวม

การศึกษาอย่างมั่นใจ: มุมมองเชิงปฏิพัทธ์

สังคมโลกมิอาจปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกมิติได้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีทั้งผลเชิงบวกให้เป็นพลังบวกในทางพัฒนาต่อไป ในทางตรงกันข้ามผลเชิงลบที่เกิดขึ้นจะเป็นความท้าทายในการปรับปรุงพัฒนามิติด้านต่างๆ ให้ดีขึ้นรวมทั้งมิติการศึกษาด้วย หน้าที่ของการศึกษาที่ทุกรัฐชาติใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและระบบการเมืองโดยรวมต้องสร้างความมั่นใจในการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย ดังนั้น การปฏิพัทธ์เพื่อที่จะทำให้การศึกษามีลักษณะประภัสสรมากยิ่งขึ้นควรได้รับการสนับสนุนและเข้าถึงกระบวนมการดำเนินงานที่ถูกต้องก็จะทำให้รหัสการศึกษาส่งผลให้เกิดการศึกษาอย่างมั่นใจ (Education with Confidence) ได้เป็นอย่างดี มุมมองเชิงปฏิพัทธ์สามารถทำได้ดังนี้

1.งบประมาณของรัฐชาติที่จัดสรรต้องเพียงพอในทุกระดับและทุกระบบของการศึกษา เพราะการศึกษาในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพนั้นมาจากงบประมาณที่ถูกจัดสรรมากกว่างบซื้ออาวุธยุทโปกรณ์ทางด้านทหาร นอกจากนี้ ปัญหาคอร์รัปชั่นในระบบกระบวนที่ซ่อนเร้นและแอบแฝงจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

2.การบริหารจัดการของสถานศึกษาที่เอื้อต่อการบริหารจัดการตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการศึกษาถึง “ภูมิการศึกษา (Geoeducation)” ที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนในลักษณะที่เป็น “เลนส์กว้าง” ซึ่งหมายถึงการบริหารจัดการที่มาจากกระทรวงหรือหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการให้ลดน้อยลงและอีกลักษณะ “เลนส์ละเอียด” ที่การบริหารจัดการต้องมีการถ่ายโยงอำนาจและทำหน้าที่รับผิดในกระบวนการจัดการศึกษาที่ปราศจากการครอบงำและการครอบครองโดยสิ้นเชิง การบริหารจัดการต้องมีลักษณะที่เรียกว่าการพัฒนาแบบหุ้นส่วน (Partnership development)

3.กล่องความรู้ที่ให้ผู้เรียนบริโภคต้องมี “วิตามินทางการศึกษา” ครบถ้วน เนื้อหาควรเปิดกว้างถึงปรากฏการณ์ทางด้านสังคมที่เปิดกว้างและที่มีการเปลี่ยนแปลงเพราะกล่องความรู้นี้จะช่วยพัฒนาทักษะทางด้านสังคมและจริยศาสตร์ของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น

4.การจัดการเรียนรู้ยังต้องเน้นเนื้อหา (Content-based) กล่าวคือ เนื้อหาที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Technology change) เนื้อหาที่เกี่ยวกับมุมมองปรากฏการณ์ของโลกในอนาคต (Global prospective) รวมทั้งการเสริมสร้างสมรรถนะ (Competency-based) ด้านต่างๆ เพื่อการพัฒนาชีวิตให้มีความสุขทั้งในสถานศึกษาและชีวิตจริงในสังคม

5.รากแก้วในการถ่ายทอดข้อความรู้คือครูผู้สอน ด้วยเหตุนี้ครูผู้สอนต้องมีความรู้ที่ใหม่และทันสมัยอยู่เสมอ การขวนขวายหาภูมิคุ้มกันทางด้านวิชาชีพดูเหมือนว่าค่อนข้างน้อย การถ่ายทอดความรู้บางครั้งยังอิงแอบกับลักษณะเดิมหรือบางครั้งยังมีการใช้วาทกรรมเชิงอำนาจในการ “สั่งงาน” มากกว่าการ “สั่งสอน” นอกจากนี้ รากฝอยและรากแขนงของต้นไม้แห่งการเรียนรู้ของผู้เรียนคือ ชุมชนและเทคโนโลยี ชุมชนจะต้องสร้างพลังร่วมพลังพัฒนาเพื่อการเข้าพลังปีติที่ชัดเจนและโดดเด่น เทคโนโลยีที่ช่วยสร้างปฏิพัทธ์เชิงสร้างสรรค์นั้นต้องเป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีความกดดัน

6.การศึกษาทุกระดับทุกประเภทต้องมีพลังอำนาจในการสร้างคุณค่าชีวิตของมนุษยชาติ การศึกษาจะต้องเป็นเครื่องมือที่มีพลังและมีความศักดิ์สิทธิ์พอที่จะลดความรุนแรงและสามารถลดความเหลื่อมล้ำต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมให้ลดลงหรือไม่ให้เกิดขึ้นได้ด้วย

การหลอมรวมความเป็นโลกเดียวกันเพื่อถอดรหัสเยียวยา

การแบ่งแยกโลกออกเป็นขั้วในลักษณะต่างๆ นั้น ดูจะเป็นการสร้างอำนาจที่บิดเบือนจากความเป็นจริงกับสภาวะความเป็นโลกเดียวกัน (Globality) ในทิศทางของปฏิพัทธ์เพื่อการพัฒนาร่วมที่ปราศแข่งขันทั้งปวงนั้น การศึกษาไทยต้องหันกลับมาตั้งคำถามอีกครั้งว่า อาการไข้ทางการศึกษาที่มีอยู่ในขณะนี้จะทำอย่างไรให้อาการหายไข้ดีขึ้นโดยเร็ว คงต้องเป็นหน้าที่ของทุกคนทุกภาคส่วนที่ต้องใช้ทั้ง “ยาสมุนไพรไทยและยาปฏิชีวนะสากล” มาเยียวยารักษา อาการจะดีขึ้นอย่างแน่นอน…ขอรับรอง!!!!!

ธงชัย สมบูรณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image