สถานีคิดเลขที่ 12 : สมานฉันท์

สถานีคิดเลขที่ 12 : สมานฉันท์

สถานีคิดเลขที่ 12 : สมานฉันท์

การตั้งกรรมการสมานฉันท์ ปรองดอง เป็นเรื่องหนึ่งที่มีข่าวได้เรื่อยๆ

กรรมการที่ว่านี้มาจากความเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมร่วมรัฐสภาอภิปรายปัญหาการชุมนุมเมื่อเดือนตุลาคม

ตอนนี้เป็นหน้าที่ของ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กับสถาบันพระปกเกล้าฯ กำลังปรึกษาหารือกันอยู่

Advertisement

หลายพรรคหลายกลุ่มตอบรับเข้าร่วม แต่มีข่าวว่า ม็อบคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญ ไม่ได้ให้ความสนใจกรรมการชุดนี้นัก

ซึ่งไม่แปลกอะไรนัก เพราะถ้าคนรุ่นใหม่ เยาวชน นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไปลองไปค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตหรือห้องสมุดดู จะพบว่า ประเทศไทยผ่านการตั้งกรรมการปรองดอง สมานฉันท์มาหลายรอบ

เรียกว่าพอทะเลาะกันหนักๆ ล้มตายกันมากๆ ก็จะเสนอให้มีกรรมการปรองดอง

Advertisement

ตั้งกรรมการ หาประธานได้ หาตัวบุคคลนั่งตำแหน่งต่างๆ ได้ แล้ว จะเข้าสู่โหมดประชุมหารือกันยาวๆ ก่อนสรุปแนวทางปรองดอง

แนวทางก็จะทำนองว่า จะต้องเยียวยาเหยื่อความรุนแรง บังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม เลิกสองมาตรฐาน ฯลฯ

นำเอาข้อสรุปใส่ซอง เสนอรัฐบาล

ทีนี้ก็คอยกันไป สุดท้ายไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะความปรองดองไปอยู่ในซองนั่นเอง

นี่คือประวัติศาสตร์สั้นๆ ของการปรองดองในประเทศไทย

ลองกลับมาดูรอบนี้ ถ้าอยากให้เกิดการปรองดอง ที่จริงลองหยิบเอาแนวทางจากข้อสรุปเดิมๆ มาใช้ ก็ยังน่าจะได้ผล

เพราะในรอบทศวรรษที่ผ่านมา สภาพต่างๆ ในบ้านเมืองเราไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง

ความปรองดอง ความสมานสามัคคีของคนเรา หรือของคนในสังคม จะเกิดขึ้นได้ สังคมจะต้องมีความเป็นธรรม มีสิทธิเสรีภาพในระดับที่เป็นมาตรฐาน

ไม่ใช่มีสิทธิเสรีภาพทุกเรื่อง แต่มีข้อยกเว้นได้เกือบทุกเรื่อง

ถ้าคนในสังคมได้รับการปฏิบัติจากระเบียบของรัฐ จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในมาตรฐานเหมือนๆ กัน ไม่ใช่คนนั้นดูจะมีสิทธิมากกว่าคนนี้ หรือคนนี้มีสิทธิน้อยกว่าคนนั้น ก็จะไม่มีเงื่อนไขให้ต้องพูดว่า ตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม

ยิ่งถ้าคิดไม่เหมือนกัน แล้วกลุ่มหนึ่งดูจะมีประสบการณ์พิเศษมากกว่าอีกกลุ่ม ก็ยิ่งยากที่จะอยู่กันอย่างร่มเย็น

สังคมที่เป็นธรรม เสมอภาค มีสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มักจะมากับระบอบประชาธิปไตย

และถ้าประชาธิปไตยหายไป สิ่งเหล่านั้น ก็จะหายไปด้วย

ด้วยเหตุนี้เอง จึงเกิดเสียงเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย

การเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ หรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แท้จริงแล้ว คือเสียงเรียกร้องประชาธิปไตยนั่นเอง

ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ภายใต้กฎกติกาสังคม กติกาการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย

เป็นเรื่องพิสูจน์ได้ง่ายๆ ดูจากบ้านเมืองเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัดๆ

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image